บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด(NCB) หรือ เครดิตบูโร ออกมาระบุว่า มีความกังวลกับ สินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีการปล่อยกู้สูง โดยมาจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กับ ธนาคาร ออมสิน ราว 15 ล้านบัญชี หรือ 5-6 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้มีความเปราะบาง โอกาสจะเป็นหนี้เสียในอนาคตประมาณ 2-3 ล้านคน หากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวกลับมาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ไตรมาส3 ของปีนี้อยู่ที่ 1.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% และหนี้ที่จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) อีกราว 4.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 3.1% โดย 2 ส่วนดังกล่าวรวมกันจะมีหนี้เสียแล้วและส่วนที่ยังเฝ้าดู มูลหนี้ราว 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งต้องเฝ้าดูใกล้ชิดว่า จะไหลมาเป็นหนี้เสียหรือไม่
ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า แม้ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนโดยรวมจะปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งจะทำให้อ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น
บอร์ดกนง.จึงเห็นว่า ควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง
สอดคล้องกับภาพรวมในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ยังสะท้อนความเปราะบางทั้งหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ตัวเลขสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม(Stage2) และเอ็นพีแอลยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบด้วยด้วย
ลูกหนี้คงเหลืออยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ 2.98 ล้านล้านบาทนั้น มีจำนวน 3.88 ล้านบัญชี แบ่งเป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ 1.94 ล้านล้านบาท คิดเป็น 1.57 ล้านบัญชี ที่เหลือเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มูลหนี้ 1.05 ล้านล้านบาท จำนวน 2.31 ล้านบัญชี
ขณะเดียวกันยังมีตัวเลขสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Stage2) หรือหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ที่ 1.13 ล้านล้านบาทคิดเป็น 6.27 ต่อสินเชื่อรวม โดยเพิ่มขึ้น 20,093 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 1.80% จากไตรมาส 2 ปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 1.11 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.11% ของสินเชื่อรวม แต่ปรับลดลง 9.87% หากเทียบจากไตรมาส 1 ปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 7.77% มูลหนี้ 1.25 ล้านล้านบาท
นอกจากนั้น หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs/Stage3)ของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ที่ 5.02 แสนล้านบาทลดลง 4.78 แสนล้านบาทจากไตรมาส 2 ปี 2565 อยู่ที่ 5.27 แสนล้านบาท แต่เพิ่มขึ้น 6,872 ล้านบาทหรือ 1.38% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 4.95 แสนล้านบาท
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยกลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวโน้มปี 2565 ธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงให้นํ้าหนักกับการดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังต่อเนื่อง เห็นได้จากลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือยังไม่นิ่ง ซึ่งเป็นผลจากระบบธนาคารยังเน้นการประคองลูกหนี้
ประกอบกับมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว (3 ก.ย. 2564) ของ ธปท. ยังคงอยู่ไปจนถึงสิ้นปี 2566 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเพิ่งฟื้นตัว ดังนั้นทั้งลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ รวมทั้ง Stage2 และ Stage3 ส่วนหนึ่งจะเป็นลูกหนี้ที่ซํ้ากันอยู่
“ช่วงที่เหลือ จึงยังเห็นลูกหนี้ทยอยออกจากมาตรการและไหลกลับเข้ามาตรการช่วยเหลือเป็นระยะๆ เพราะธนาคารแบงก์ยังให้นํ้าหนักกับการดูแลคุณภาพสินทรัพย์และประคองลูกหนี้รายที่ไปต่อได้ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเองได้ปรับลดคาดการณ์เอ็นพีแอลทั้งปีนี้จากเดิมมองว่าไม่น่าจะเกิน 3% แต่หลังจากเห็นแบงก์จัดการหนี้เชิงรุกทั้งเร่งปรับโครงสร้างและตัดขายหนี้ จึงเป็นที่มาของการปรับคาดการณ์เอ็นพีแอลเหลืออยู่ที่ 2.75% ส่วนปีหน้าอาจจะต้องทบทวนอีกครั้งจากก่อนหน้ามองไว้ที่ 3%” นางสาวกาญจนา กล่าว
สอดคล้องกับแหล่งข่าวสถาบันการเงิน กล่าวว่า สถาบันการเงินเจ้าหนี้ยังคงเน้นการประคองลูกหนี้ ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังช้ากว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้นภารกิจหลักของสถาบันการเงินเจ้าหนี้ จึงเน้นการช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่อง โดยยอมรับว่า ปัจจุบันยังมีลูกหนี้บางรายที่พยายามและมีโอกาสจะแก้ไขปัญหาหนี้ได้ อีกทั้งยังมีอานิสงส์จากมาตรการผ่อนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของธปท.ด้วย
แต่ในทางกลับกันระหว่างทางยังมีลูกหนี้รายที่ชักหน้าไม่ถึงหลังคือ ไม่เห็นอนาคต ซึ่งในกรณีนี้เจ้าหนี้จำเป็นต้องตัดขายออกจากระบบสถาบันการเงิน เพื่อให้บริษัทบริหารสินทรัพย์หรือเอเอ็มซี ที่รับบริหารจัดการหนี้ต่อไป และแนวโน้มเชื่อว่า จะเห็นการขายเอ็นพีแอลเพิ่มมากขึ้นในปี 2566 ส่วนหนึ่งเพราะลูกหนี้ไปต่อไม่ได้
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,842 วันที่ 8 - 10 ธันวาคม พ.ศ. 2565