นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “Monetary Policy Forum” ครั้งที่ 1/2566 โดยระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI)ของกระทรวงพาณิชย์ เมื่อเดือน มีนาคม2566 ขยายตัว 2.83% ชะลอตัวต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดเดือนมี.ค.ชี้ว่า ราคาอาหารสำเร็จรูปยังปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยตามต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูงและยังมีสินค้าและบริการบางส่วนที่ยังไม่ได้ส่งผ่านต้นทุนในช่วงก่อนหน้า ดังนั้น ต้องติดตามแรงกดดันด้านอุปสงค์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อาจเอื้อต่อการส่งผ่านของต้นทุนในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไม่ได้กำหนด จุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ย (Terminal Rate) อยู่ที่เท่าใด ในการดำเนินนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ (Normalization) แต่มองภาพเศรษฐกิจโดยรวม เพราะนโยบายการเงินต้องใช้เวลา และต้องทำไว้เผื่ออนาคต ซึ่งการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ หรือ Normalization คือการสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) ในช่วงที่ยังสามารถทำได้ เพราะวิกฤตหรือช็อคสามารถเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ หากกนง.ไม่สร้าง Policy Space เมื่อเกิดวิกฤตหรือช็อคจะทำให้เกิดแรงกระแทกและการดำเนินนโยบายการเงินจะลำบากมากขึ้น
หากดูอดีตในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมาพลวัตอัตราเงินเฟ้อไทยจะมีความเชื่อมโยงกับอัตราเงินเฟ้อโลกประมาณ 60% ซึ่งอาจจะส่งทอดให้เงินเฟ้อไทยค้างอยู่ในระดับสูงนาน ดังนั้น ทำให้การปรับอัตราดอกเบี้ยจะต้องคำนึงถึงเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจที่ได้มาว่าสอดคล้องกับที่ประเมินไว้หรือไม่
ทั้งนี้ เพื่อรักษาความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อไว้ เช่น ราคาน้ำมันจะปรับสูงขึ้นไม่ แต่จากการพิจารณาพบว่าราคาจะไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงเหมือนก่อน จึงไม่ได้ปรับประมาณการราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่ 86-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และประกอบกับยังคงมีเรื่องของกองทุนน้ำมันอยู่
“หากถามว่ากนง.มีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกหรือเปล่า จะเห็นว่าในปีก่อนจะมีคำถามว่าธปท.ขึ้นดอกเบี้ยน้อยไปหรือไม่ แต่เป็นผลมาจากปัจจัยเฉพาะและตัวแปรระยะสั้น เช่น ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เงินเฟ้อขึ้นไปค่อนข้างสูงถึง 7.9% แต่ธปท.ไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเยอะเหมือนธนาคารกลางประเทศอื่น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการวิเคราะห์ไส้ในของอัตราเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นจากราคานพลังงานและอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยที่นโยบายการเงินไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ธปท.ทำแค่ไม่ให้เกิดการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูง จนต้องปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน เพราะเมื่อเกิดการฝั่งรากของเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าจะทำให้เราต้องทำนโยบายแรง เราจึงต้องบริหารความเสี่ยงตรงนี้ แต่ถามว่าเงินเฟ้อมีปรับขึ้นและลง แต่ยอมรับว่ายังอยู่ในระดับที่เรายังไม่ได้สบายใจ”
ดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่ควรติดลบเมื่อเศรษฐกิจฟื้น
ส่วนความกังวลในเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ยังคงติดลบนั้น มองว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะอยู่ที่เท่าไรนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจด้วย ซึ่งกรณีหากเศรษฐกิจเข้าสู่ดุลยภาพหรือศักยภาพ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะต้องไม่ติดลบ เช่น หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัว 3-4% ดอกเบี้ยที่แท้จรองไม่ควรติดลบ อย่างไรก็ดี บริบทของไทยยังคงไม่ได้อยู่ในบริบทนี้ แต่เป็นการเทียบเคียงกับประเทศในภูมิภาคนี้เท่านั้น
จับตาแรงกดดันเงินเฟ้อ “อาหารสำเร็จรูป-สินค้าภาคบริการ”
ดร.สุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อมีทิศทางปรับลดลงตามที่คาดการณ์ไว้ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้อยู่ที่ 2.9% จากเดิมอยู่ที่ 3.0% และปี 2567 อยู่ที่ 2.4% จากเดิมอยู่ที่ 2.1% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้อยู่ที่ 2.4% จาก 2.5% และในปี 2567 ทรงตัวอยู่ที่ 2.0% แม้ว่าจะปรับลดลง แต่ยังคงมีความเสี่ยงด้านสูงอยู่
โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ อาหารสด พลังงาน และเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งหากมองไปข้างหน้าในช่วง 2 ปี พบว่าอาหารสดและพลังงานมีแนวโน้มลดลง ไม่สูงเหมือนในปี 2565 อย่างไรก็ดี แนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐานมีการปรับขึ้นราคาหรือการส่งผ่านต่อเนื่อง ทำให้เงิน้ฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับสูง
ดังนั้น สิ่งที่กนง.จับตามีอยู่ 2 ประเด็นที่จะเป็นแรงกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ได้แก่ 1.จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มจาก 22 ล้านคน มาอยู่ที่ 28 ล้านคน และในปี 2567 เพิ่มจาก 31.5 ล้านคน มาอยู่ที่ 35 ล้านคน ที่จะมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น และ 2.การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อั้นไว้ส่งผ่านในระยะต่อไป
ขณะที่พลวัตเงินเฟ้อพื้นฐานที่ต้องจับตา จะมีด้วยกัน 2 หมวด คือ 1.อาหารสำเร็จรูป และ 2.สินค้าภาคบริการ โดยพลวัตเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จะมาจากอาหาร 2 ประเภท คือ อาหารนอกบ้าน และอาหารในบ้าน ซึ่งในระยะต่อไปอาหารนอกบ้านมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนสินค้าภาคบริการ ในระยะต่อไปหากนักท่องเที่ยวกลับมา จะเกิดการแย่งกันกินแย่งกันใช้ โดยเฉพาะในหมวดค่าพักแรม ค่าเช่ารถ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เงินพื้นฐานปรับสูงขึ้นได้
และการวิเคราะห์สถิติแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไร หากดูสินค้าในตะกร้าเงินเฟ้อ 430 รายการ มีแค่ 2-3 รายการที่ปรับสูงขึ้น และทำให้เงินเฟ้อปรับขึ้น ซึ่งเป็นการสะท้อนแรงกดดันเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ซึ่งจากตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ประกาเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคมปรับลดลงจาก 3.8% เหลือ 2.8% และเงินเฟ้อพื้นฐานจาก 1.93% ลงมาอยู่ที่ 1.75% แต่หากดูเงินเฟ้อที่เกิดจากอาหารนอกบ้านและในบ้านปรับเพิ่มขึ้น 0.4% ซึ่งมีความหนืดพอสมควร ทำให้เรายังต้องจับตาการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อต่อไป
“การดำเนินนโยบายการเงินปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เศรษฐกิจไม่สะดุด และเงินเฟ้อทรงตัว โดยเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว ซึ่งได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยว ทำให้คนมีรายได้มากขึ้น และเงินเฟ้อเดือนมีนาคมกลับเข้าเป้าหมายแล้ว และเฉลี่ยไตรมาส 2 ก็เข้าเป้าหมาย ขณะเดียวธุรกิจเอสเอ็มอีก็มีความเปราะบางที่ลดลง อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องจับตาแนวโน้มเงินเฟ้อหมวดอาหารและสินค้าภาคบริการ และดูนโยบายการเงินไม่เติมเชื้อไฟให้เงินเฟ้อ”
แบงก์ส่งผ่านดอกเบี้ย MRR ต่ำกว่าในอดีต
ดร.สุรัช กล่าวว่า ภาวะการเงินของไทยโดยรวมยังคงผ่อนคลาย แต่จะมีการตึงตัวบ้างตามนโยบายการเงินผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยหากดูการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารพาณิชย์ในช่วงการปรับขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้ง (ไม่รวมครั้งล่าสุดเดือนมี.ค.66) พบว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) มีสัดส่วนส่งผ่าน 68% สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตปี 2563-2564 ขณะที่ดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ส่งผ่าน 55% ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา สะท้อนว่าธนาคารพาณิชย์ต้องการประคองลูกหนี้กลุ่มรายย่อย
ส่วนต้นทุนการกู้ยืมภาคธุรกิจ จะพบว่า ต้นทุนปรับเพิ่มขึ้นทั้งจากการกู้ยืมผ่านสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ และตลาดตราสารหนี้ แต่การปรับขึ้นไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับในอดีต แต่ยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนทั้งหมด ทั้งตลาดสินเชื่อที่จะเห็นการเติบโต 4-5% แม้จะชะลอลงบ้างตามเศรษฐกิจโลกผ่านภาคการผลิต แต่ภาคบริการและการค้ายังคงได้รับสินเชื่อต่อเนื่อง
ท่องเที่ยว-บริโภคหนุนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว
ดร.สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังคงมีความเสี่ยงจากต่างประเทศสูงขึ้นจากปัญหาสถาบันการเงิน เศรษฐกิจและเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงโดยประมาณการของกนง.ล่าสุด ประเมินเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องปีนี้คาดอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ 3.6% และปี 2567 อยู่ที่ 3.8% โดยภาคการบริโภคเอกชนและการท่องเที่ยวจะเป็นแรงส่งสำคัญ โดยกนง.ปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้เป็น28ล้านคนจากปีที่แล้วอยู่ที่ 11.2 ล้านคน และปี 2567 อยู่ที่ 35 ล้านคน จาก 31.5 ล้านคน
ทั้งนี้ การปรับเพิ่มคาดการนักท่องเที่ยวนั้นเป็นผลจากจีนเปิดอนุญาตคนเดินทางมาเที่ยวไทยคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาปีนี้ 5.5 ล้านคน และเพิ่มเป็น 5.9 ล้านคนในปีหน้า โดยยังมีข้อจำกัดการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินแล้ว และการกลับเข้ามาของนักท่องเที่ยวทุกสัญชาติ แต่หากสามารถลดข้อจำกัดจำนวนเที่ยวบินก็มีโอกาสจะเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลบวกต่อเนื่องกับทั้งการบริโภค การจ้างงานและการท่องเที่ยวเห็นได้จากการปรับประมาณการการบริโภคเพิ่มเป็น 4.0%
สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวรายวันเฉลี่ยที่เข้ามาเดือนมี.ค. 2.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8% จาก 2.1 ล้านคนเมื่อในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะอัตราการจองที่พักเพิ่มต่อเนื่อง และนักท่องเที่ยวจีนเดือนมี.ค.เข้ามา 2.7แสนคน เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค.ที่ต่ำกว่าแสนคนสะท้อนนักท่องเที่ยวจีนกลับมาใกล้เคียงมาเลเซียคาดว่าอีก1-2เดือนจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะแซงนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย
"เราคาดว่าการบริโภคเอกชนจะกระจายตัวและรายได้แรงงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่ม 7%จาก 3% หลักๆมาจากกิจกรรมลูกจ้างภาคบริการและอาชีพอิสระ67%สอดคล้องความเชื่อมั่น และการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาอยู่ในเขตเมือง"
ในแง่ของการส่งออกเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวทั้งเดือนม.ค.-ก.พ.ที่ทรงตัวและทยอยฟื้นตัวขึ้นมา และไตรมาสสองถึงสี่น่าจะฟื้นตัวดีขึ้นจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งจะฟื้นตัวชัดเจนในปีหน้าโดยปีนี้กนง.คาดการณ์มูลค่าส่งออกจะติดลบ 0.7% จากเดิม 1.0% ขณะที่ราคาการส่งออกปรับขึ้นเล็กน้อยจากปริมาณส่งออก โดยภาพรวมจะเห็นการฟื้นตัวในครึ่งหลังของปีนี้ ยกเว้นกลุ่มที่ยังฟื้นตัวช้า คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสไดร์ฟ และปิโตรเคมี เป็นต้น
อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งจากปัญหาสถาบันการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก และประเด็นเงินเฟ้อสูง โดยตลาดมีความกังวลเรื่องของ Banking และค่าประกันความเสี่ยง (CDS) จึงต้องตามใกล้ชิด