ส่องไทม์ไลน์ อะไรจะเกิด ถ้าคลังสหรัฐขาดเงินสดและผิดนัดชำระหนี้

24 พ.ค. 2566 | 08:40 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ค. 2566 | 08:53 น.

ถ้าหากรัฐบาลสหรัฐและสภาคองเกรสเจรจาขยายเพดานหนี้ไม่สำเร็จภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 เงินสดสำรองของกระทรวงการคลังก็จะหมดลง ทำให้รัฐบาลไม่สามารถชำระค่าใช้จ่ายแก่ภาคส่วนต่างๆตามกำหนด

 

สำนักข่าวรอยเตอร์สรุป ไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เอาไว้อย่างน่าสนใจ กรณีที่ รัฐบาลสหรัฐ เจรจากับรัฐสภาไม่สำเร็จในประเด็น การขยายเพิ่มเพดานหนี้ ซึ่งอาจผลักให้สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ นั่นคือการค้างชำระรายจ่าย หรือ ผิดนัดชำระหนี้ ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้

การขยายเพิ่มเพดานหนี้ที่ว่านี้ หมายถึงหากสภาคองเกรสไม่เพิ่มเพดานหนี้ที่กำหนดไว้ที่ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นยอดที่รัฐบาลสหรัฐสามารถกู้ยืมเงินได้ ซึ่งการกู้ยืมของสหรัฐทะลุเกินเพดานดังกล่าวตั้งแต่เดือนมกราคมแล้ว แต่ยังพยุงสถานการณ์มาได้ด้วย “มาตรการพิเศษ” ที่กระทรวงการคลังนำมาใช้

หากรัฐบาลสหรัฐหลังติดฝาขึ้นมาจริงๆ อาจทำให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจและสร้างความตื่นตระหนกในตลาดการเงินโลกได้อย่างมาก

ต่อไปนี้เป็น ไทม์ไลน์ หรือลำดับของเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น หากสหรัฐไม่สามารถชำระเงินตามกำหนดได้จริงๆ โดยตามข้อมูลของกระทรวงการคลังสหรัฐที่ระบุว่า “เงินสดสำรอง” ที่มีอาจหมดได้เร็วที่สุดภายในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ข้อมูลในการประเมินสถานการณ์บางส่วนยังมาจากรายการชำระเงินของรัฐบาลสหรัฐ ที่รวมรวบโดยศูนย์ Bipartisan Policy Center ในกรุงวอชิงตัน

ปธน.โจ ไบเดน และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎร

1 มิถุนายน

เงินสดสำรองของกระทรวงการคลังสหรัฐจะหมดลง และทำให้สหรัฐแตะเพดานหนี้ โดยรายได้จากภาษีมูลค่า 26,000 ล้านดอลลาร์ในวันดังกล่าว ไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลมูลค่า 101,000 ล้านดอลลาร์ได้

หากกระทรวงการคลังใช้แผนเดิมเมื่อปี 2011 (พ.ศ.2554) ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดที่สหรัฐเคยเกือบผิดนัดชำระหนี้ ทางกระทรวงจะไม่เลือกชำระหนี้ก้อนใดก้อนหนึ่ง แต่จะรอจนกว่าจะมีเงินเก็บมากพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายของรัฐในวันนั้น ๆ

กรณีที่สหรัฐผิดนัดชำระหนี้ ผู้ที่รอรับการชำระเงินจากรัฐบาลสหรัฐจะได้รับผลกระทบ เช่น ผู้ให้บริการด้านการแพทย์จะได้รับผลจากการที่โครงการเมดิแคร์ หรือ โครงการประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุของรัฐบาล จะไม่ได้รับงบ 47,000 ล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกับทหารที่จะไม่มีรายได้จากรัฐบาล

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังอาจยืมเงินจากตลาดทุนสหรัฐเพื่อนำไปชำระเงินต้นที่จะถึงกำหนดจ่ายในวันที่ 1 มิ..ย. เพื่อให้สหรัฐยังอยู่ใต้เพดานหนี้ได้ อย่างไรก็ตาม หากบรรดานักลงทุนไม่ให้กระทรวงการคลังยืมเงินเพราะกังวลว่าอาจไม่ได้เงินคืน สหรัฐจะไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้ เข้าสู่ภาวะเป็นหนี้ และส่งผลต่อระบบการเงินทั้งโลก

2 มิถุนายน

แม้สหรัฐอาจชำระหนี้ได้ตามกำหนด แต่ก็อาจทำให้ตลาดหุ้นติดลบเกือบยกแผง และจะส่งแรงกดดันต่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต และประธานสภาผู้เเทนราษฎร (นายเควิน เเมคคาร์ธี จากพรรครีพับลิกัน) ให้ต้องเร่งดำเนินการอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ พรรครีพับลิกันที่ถือเสียงข้างมากในสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้เรียกร้องให้มีการลดรายจ่ายภาครัฐอย่างหนัก เพื่อแลกกับการที่ทางพรรคจะสนับสนุนการขยับเพิ่มเพดานหนี้

หากรัฐบาลสหรัฐไม่สามารถหาข้อยุติได้ สหรัฐก็จะไม่สามารถชำระเงินต่อไปได้อีกวัน และจะส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนในประเทศ เช่น ผู้ที่เกษียณอายุและผู้รับผลประโยชน์จากประกันสังคมจะไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือที่มีมูลค่าโดยรวม 25,000 ล้านดอลลาร์ และรัฐต่าง ๆ จะไม่ได้รับชำระเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์ ที่รัฐบาลกลางสหรัฐติดค้างในโครงการเมดิเคด หรือโครงการประกันสุขภาพสำหรับผู้มีรายได้ต่ำ

6 มิถุนายน

บริษัทผู้ผลิตอาวุธ และบริษัทอื่น ๆ ที่ผลิตอุปกรณ์ให้กองทัพสหรัฐจะไม่สามารถรับเงินค้างชำระ 2,000 ล้านดอลลาร์ จากรัฐบาลสหรัฐได้​

7 มิถุนายน

หลังเกิดวิกฤตหนี้หนึ่งสัปดาห์ รัฐบาลสหรัฐอาจเริ่มหาทางทยอยชำระเงินได้ โดยกระทรวงการคลังสหรัฐต้องเก็บรายได้จากภาษีให้ได้ราว 111,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ติดค้างมาตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2566

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังมีรายจ่ายที่จะถึงกำหนดชำระอีกมาก โดยชาวอเมริกันที่รอรับเงินคืนภาษีมูลค่ารวม 1,000 ล้านดอลลาร์ ในวันที่ 7 มิ.ย. อาจยังไม่ได้รับเงินดังกล่าวคืน

8 มิถุนายน

ระบบการศึกษาของรัฐบาลระดับรัฐและรัฐบาลท้องถิ่น จะไม่ได้รับเงินทุนตามแผนมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ รัฐบาลจะค้างชำระหนี้ประกันสุขภาพมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลทั่วประเทศ

15 มิถุนายน

ถึงกำหนดที่กระทรวงการคลังต้องจ่ายดอกเบี้ย 2,000 ล้านดอลลาร์ให้นักลงทุนที่ลงทุนกับรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปเมื่อปีค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) ที่รัฐบาลสหรัฐเคยเกือบผิดชำระหนี้เช่นกัน กระทรวงการคลังเคยกล่าว ณ ขณะนั้นว่า หากสหรัฐค้างชำระหนี้จริง ทางกระทรวงอาจให้ความสำคัญต่อการจ่ายดอกเบี้ยให้นักลงทุนเป็นอันดับแรก

ทั้งนี้ คาดว่าในวันที่ 15 มิ.ย. กระทรวงการคลังอาจมีรายได้จากภาษีธุรกิจมากพอที่จะชำระหนี้ แต่ก็ยังคงไม่มากพอที่จะครอบคลุมรายจ่ายอื่น ๆ ที่มีกำหนดชำระในวันดังกล่าว เช่น เงินเดือนเจ้าหน้าที่กองทัพ เป็นต้น

คงต้องรอติดตามเหตุการณ์กันด้วยใจระทึกว่า ปธน.ไบเดนที่ย้ำนักหนาว่า สหรัฐจะไม่มีวันยอมให้การผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นได้ จะคลี่คลายเรื่องนี้ลงได้อย่างไร ความเสี่ยงจากผลกระทบหากสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมาจริงๆ เคยมีผู้กล่าวเตือนว่าจะเป็นหายนะทางเศรษฐกิจและการเงินทั้งสำหรับสหรัฐเองและทั้งโลกอย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง