10 เรื่องใหญ่รอรัฐบาลใหม่ เตือนระวัง “อเมริกา-ยุโรป” บอยคอต

06 ส.ค. 2566 | 04:02 น.
อัพเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2566 | 04:25 น.

“เลื่อนแล้ว เลื่อนอีก” เกือบ 3 เดือน หลังการเลือกตั้ง ทิศทางการเมืองไทยยังไม่มีความชัดเจนใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 พรรคใดจะได้ร่วมรัฐบาลบ้าง รัฐบาลชุดใหม่จะมีความสง่างามได้รับความเชื่อมั่น หรือจะยิ่งสร้างวิกฤติศรัทธาประชาชน ยังต้องรอดูกันต่อไป

รศ.ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ตอบ 5 คำถามกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงทิศทางการเมืองไทยหลังจากนี้

ในคำถามแรก ทิศทางการเมืองไทยในเวลานี้มีโอกาสที่จะได้รัฐบาลที่มาจากสูตรใดมากที่สุด ใครนั่งนายกรัฐมนตรี และพรรคร่วมรัฐบาลคาดมีพรรคใดบ้าง

ตอบ :  ทิศทางเป็นการเปลี่ยนขั้วจาก 8 พรรคเดิม พรรคก้าวไกลถูกผลักไปเป็นฝ่ายค้าน การเมืองน่าจะยุ่งและวุ่นวายต่อไปหลังจากนี้ ทั้งการประท้วงรายวัน แฉรายวัน การประท้วงไม่ค้างคืน  แต่เป็นลักษณะ มาบ่าย มืดกลับ ในสภาจะมีความเข้มข้นในการตรวจสอบกว่า 4 ปีที่ผ่านมา

รศ.ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช

  • เรื่องเร่งด่วนในการขับเคลื่อนประเทศ/ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใน 100 วัน ของรัฐบาลใหม่

ตอบ : 1.กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ กระตุ้นการบริโภค การลงทุน ผลักดันส่งออกปีนี้ไม่ให้ติดลบ แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและเกษตรกรไทย

2.ลดค่าครองชีพสูง โดยเฉพาะราคาสินค้า ราคาสินค้าปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าขึ้นแล้วไม่ลด ในขณะทิศทางเงินเฟ้อโลกลดลงแล้ว

3.ลดต้นทุนการผลิตทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ทั้งด้านราคาน้ำมัน ราคาค่าไฟฟ้า ต้นทุนวัตถุดิบด้านอาหารสัตว์ที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียน หากไม่ปรับเปลี่ยน ศักยภาพการแข่งขันสินค้าไทยจะลดลง

4.จัดหาน้ำทำการเกษตรด่วน หลังจากนี้เป็นต้นไป ไทยจะเจอปัญหาภัยแล้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จะกระทบน้ำใช้การเกษตร

5.ไม่จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนับจากนี้ เพราะทิศทางเงินเฟ้อในประเทศลดลง การขึ้นดอกเบี้ยในขณะนี้ไม่มีความเหมาะสม เพราะจะทำให้การบริโภคและการลงทุนในประเทศลดลง

6.ปรับและรับมือกับมาตรฐานทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ที่กำลังมาอีก 1-2 ปีข้างหน้า ทั้งเก่าและใหม่ แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG กลุ่ม SMEs และเกษตรกร ไม่สามารถนำไปปฎิบัติได้โดยตรงเพราะกลุ่มคนเหล่านี้ยังไม่ค่อยมีความเข้าใจ  

10 เรื่องใหญ่รอรัฐบาลใหม่ เตือนระวัง “อเมริกา-ยุโรป” บอยคอต

7.ทบทวนสิทธิพิเศษและแรงจูงใจในการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ไทยยังเสียเปรียบเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียน เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย

8.เร่งการเชื่อมโยงโลจิสติกส์หนองคายกับรถไฟลาวจีนในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าโลจิสติกส์ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย

9.รื้อ แก้ไข ปรับปรุง เขตอุตสาหกรรมชายแดน 10 แห่ง ที่ผ่านมาถือว่า ล้มเหลว ไม่ตอบโจทย์กับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป ไม่เท่าทันกับการแข่งขันของเพื่อนบ้าน

10. ใส่งบวิจัยในการพัฒนาศักยภาพของสินค้าและอุตสาหกรรมให้มากขึ้น ให้ตอบโจทย์การแข่งขันของโลก

  • กรณีหากสถานการณ์บ้านเมืองมีความรุนแรง และนำไปสู่การทำรัฐประหารอีก

ตอบ : 1.สหรัฐอเมริกา และยุโรป ไม่เอาแน่นอน อาจจะทำให้การเจรจาธุรกิจ เศรษฐกิจ และการค้า ยากขึ้น เช่น การ ทำ FTA หรือการช่วยเหลือเรื่องอื่น ๆ และ 2.เกิดการประท้วง คนลงถนน แน่นอน

  • ผลกระทบที่จะตามมา หากม็อบจุดติดและนำไปสู่ความรุนแรงต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และอื่น ๆ

ตอบ : ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)ไทย จะต่ำสุดในอาเซียน กระทบการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) การท่องเที่ยวพลาดเป้า การพัฒนาประเทศหยุดชะงัน การทำ FTA ยาก กลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปอยู่อาเซียนอื่นที่ไม่ใช่ไทย

  • กรณีเลือกใช้วิธีลากยาวในการจัดตั้งรัฐบาลโดยรอให้ สว.หมดอายุในเดือนพ.ค. 2567  และรัฐบาลประยุทธ์ รักษาการต่อไป ในข้อเท็จจริงจะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนประเทศ รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศมาก เรื่องนี้จริงหรือไม่ อย่างไร

ตอบ : กระทบเศรษฐกิจแน่ แต่เป็นระยะสั้น 10 เดือน GDP ไม่ถึง 3 % เท่ากับเมียนมา แต่อาจจะเจ็บระยะสั้น อาจจะดีในระยะยาว ? (หวังว่าอย่างนั้น)