เศรษฐกิจไทยวิกฤติ? จำเป็นต้องแจกเงินกระตุ้น?

22 พ.ย. 2566 | 09:45 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2566 | 09:45 น.

จีดีพีไทยไตรมาส 3 ปี 2566 ขยายตัว 1.5% ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน ผลจากดัชนีติดลบหลายตัว ทั้งการส่งออกสินค้า การอุปโภคภาครัฐบาล และการลงทุนภาครัฐ แต่เศรษฐกิจในประเทศยังขยายตัวได้ดี ทั้งการบริโภคและที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว

กำลังเป็นที่ถกเถียงในวงกว้างว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤติถึงขั้นที่รัฐบาลจะต้องออกพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)กู้เงินถึง 5 แสนล้านบาท เพื่อมาแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้กับประชาชนที่มาอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป แต่มีรายได้ไม่ถึงเดือนละ 7 หมื่นบาทหรือมีเงินฝากไม่ถึง 5 แสนบาทหรือไม่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว

หลังจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงตัวเลขเศรษฐกิจ(จีดีพี) รายไตรมาส พบว่า จีดีพีไตรมาส 3 ปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.5% ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะคาดการณ์ไว้ที่ 2.2% และยังชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 1.8% ทำให้สภาพัฒน์ ต้องปรับลดประมาณการจีดีพีทั้งปีเหลือเพียง 2.5% จากประมาณการเดิม 2.5-3.0% 

“ทุกอย่างก็เลวร้ายกว่าที่คิดไว้เยอะ”คือคำพูดของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อเห็นตัวเลขจีดีพีที่ออกมา แม้จะบอกว่า เกิดจากหลายปัจจัยทั้งการใช้จ่าย ลงทุน ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมก็ยังไม่เต็มกำลังการผลิต แต่ก็เป็นเป็นเหตุผลว่า ทำไมรัฐบาลต้องการผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยบอกว่า “เศรษฐกิจไทยวิกฤติและจำเป็นดำเนินโครงการเงินดิจิทัล”

ขณะที่นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ระบว่า  หากมองเศรษฐกิจในประเทศยังถือว่าขยายตัวได้ดี ทั้งการบริโภคและที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว  ทำให้โดยรวมแล้ว จีดีพีไทยยังขยายตัวได้ แต่ถ้าต้องการให้่จีดีพีขยายตัวมากกว่านี้ต้องมีการปรับโครงสร้าง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคที่ใหญ่และเกี่ยวเนื่องกับการส่งออก

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ทั้งนี้หากจะพิจารณาเพียงตัวเลขจีดีพีที่ขยายตัวเพียง 1.5% เพียงอย่างเดียว ก็ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับการขยายตัวจามศักยภาพที่ประมาณ 3% และยังต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน 

สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องจาก 0.5% ในไตรมาสก่อนเป็น 0.7% ตามด้วยมาเลเซีย เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องจาก 2.9% เป็น 3.3% ตามด้วยฟิลิปปินส์ที่จีดีพีขยายตัวจาก 4.3% ในไตรมาส 2 เป็น 5.9% และเวียดนามขยายตัวจาก 4.1% ในตรมาส ก่อนเป็น 5.9% ประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมีเพียงอินโดนีเซียจาก 5.2% เหลือ 4.9% ในไตรมาส3 และไทยที่ชะลอจาก 1.8% เหลือเพียง 1.5% 

องค์ประกอบจีดีพีด้านการใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม ต้องมาพิจารณาดูว่า สาเหตุที่จีดีพีไทยขยายตัวต่ำนั้นเกิดจากอะไร ซึ่งปัจจัยสำคัญเป็นผลจากดัชนีที่ติดลบหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกสินค้าที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง 4 ไตรมาสติดต่อกัน นับจากไตรมาส 4 ของปี 2565 จนล่าสุดเป็นการติดลบที่ชะลอลงเหลือ -3.1% เช่นเดียวกับการอุปโภคภาครัฐบาลที่ติดลบต่อเนื่อง 3 ไตรมาสตั้งแต่ไตรมาสแรก และล่าสุด -4.9%  และการลงทุนภาครัฐที่ติดลบต่อเนื่อง 2 ไตรมาสจาก -1.1 ในไตรมาส 2 ล่าสุด -2.6% 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้การใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งการบริิโภคและการลงทุนติดลบ เนื่องจากงบประมาณแผ่นดินที่ออกล่าช้า จากปกติที่พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 จะต้องประกาศใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ล่าสุดคาดว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567 จะประกาศใช้เดือนได้ในเดือนเมษษยน 2567  ล่าช้าไปถึง 7 เดือน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายงบลงทุน 

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา แกนนำรัฐบาลพรรคเพื่อไทยพยายามฉายภาพข่าวร้ายเศรษฐกิจไทย เพื่อโน้มน้าวให้สังคมเห็นว่า ขณะนี้ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติ จำเป็นต้องออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้ขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่ตัวเลขที่ออกมาปรากฎว่า เศรษฐกิจในประเทศขยายตัวดี 

ทั้งการบริโภคเอกชนที่โตขึ้นถึง 8.1% การลงทุนภาคเอกชนโต 3.1% ขณะที่ภาคการบริการขยายตัวได้ดีมาก ด้านที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร โตขึ้นถึง 14.9% การค้าปลีกและค้าส่งขยายตัว 3.3% ขนส่งโต 6.8% ขณะที่ตัวเลขที่ติดลบกลับไปอยู่ที่ฝั่งการใช้จ่ายภาครัฐแทน  การจะหันไปเร่งให้กระบวนการจัดทำงบประมาณได้เร็วขึ้นกว่านี้หรือไม่ ยังสามารถลดขั้นตอนอิื่นลงได้อีกหรือไม่ 

ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ สามารถทำได้ด้วยกระบวนการของรัฐบาลเอง เพื่อให้มีเม็ดเงินงบประมาณลงสู่ระบบ ดีกว่าที่จะมุ่งเป้ากับเม็ดเงินที่ยังต้องอาศัยกระบวนการทางกฎหมายอีกหลายขั้นตอน จะดีกว่าหรือไม่ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไหลรูดลงไปอีก  

หากรัฐบาลมองเห็นปัญหาของเศรษฐกิจไทยผ่านข้อมูลเหล่านี้แล้ว แล้วยังคงฝืนกระตุ้นภาคการบริโภคผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพราะสภาพัฒน์เองระบุว่า การเตรียมพื้นที่ทางการคลังรองรับกรณีมีวิกฤตหรือความแย้งเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่แน่นอนเป็นเรื่องสำคัญ

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,942 วันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566