การลงทุนเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ทำให้หลายๆ ประเทศพยายามดึงนักลงทุนต่างชาติด้วยการแข่งขันกันลดภาษีให้กับบริษัทต่างชาติเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ จนทำให้อัตราภาษีที่แท้จริง ลดต่ำลงเรื่อยๆ ประกอบกับปัจจุบันที่รูปแบบธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องตั้งสำนักงานในประเทศที่ให้บริการ ทำให้ประเทศดังกล่าวไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จึงเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ (MNEs) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 130 ประเทศเข้าร่วมข้อตกลงรวมถึงประเทศไทย โดยในปี 2567 จะเริ่มใช้จริงในบางประเทศ โดยมี 2 แนวทางคือ
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 นี้ กรมสรรพากรจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อดำเนินการจัดเก็บภาษี Global Minimum Tax หรือการกำหนดให้ธุรกิจมีการเสียภาษีขั้นต่ำ ที่อัตรา 15% ตามข้อตกลงร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development : OECD) เพื่อสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรมในด้านการจัดเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่
สำหรับการจัดเก็บภาษี Global Minimum Tax นั้น คือ หากมีการเสียภาษีในประเทศที่มีบริษัทในเครือไปทำธุรกิจในอัตราต่ำกว่าอัตราภาษีขั้นต่ำ 15% ประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มเติมจากส่วนต่างระหว่างอัตราที่เสียและอัตราภาษีขั้นต่ำได้ โดยขอบเขตการจัดเก็บภาษีจะพิจารณากลุ่มบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้รวมตั้งแต่ 750 ล้านยูโร (หรือประมาณ 29,000 ล้านบาท)ขึ้นไป
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากครม.ได้เห็นชอบหลักการมาตรการรองรับการเสียภาษีขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทาง OECD ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เสนอ ตอนนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างจัดทำร่างกฎหมาย เพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษี Global Minimum Tax ตามมาตรฐานสากล
“สรรพากรจะต้องดำเนินการร่างกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ และจะนำเสนอต่อที่ประชุมครม.ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยในระยะถัดไป สรรพากรก็จะเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากรต่อไป”
สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ OECD ได้เสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 2 แนวทาง ได้แก่ Pillar 1 Profit Allocation and Nexus (การจัดเก็บภาษีตามสัดส่วนการปันกำไรของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่) และ Pillar 2 Global Minimum Tax (การกำหนดให้ธุรกิจมีการเสียภาษีขั้นต่ำ) รัฐบาลจึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบของข้อเสนอการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลของ OECD
ทั้งนี้ ประกอบด้วยหน่วยงานที่สำคัญ เช่น สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น
ขณะเดียวกัน กรมสรรพากรยังได้มีการเตรียมความพร้อม ทั้งการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดเก็บภาษี Global Minimum Tax และการประเมินผลกระทบจากการจัดเก็บภาษี Global Minimum Tax โดยได้รับความร่วมมือจาก OECD ที่ให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่เป็นประเทศนำร่อง
ส่วนการจัดเก็บภาษี Pillar 1 Profit Allocation and Nexus นั้น อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด เดิมมีหลักการ คือ จัดเก็บภาษีตามสัดส่วนการปันกำไรของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ที่มีรายได้รวมทั่วโลกตั้งแต่ 20,000 ล้านยูโร (778,000 ล้านบาท) ขึ้นไป มายังประเทศที่ผู้ใช้งานอยู่หรือประเทศที่เป็นฐานรายได้ โดยการแบ่งสัดส่วนการจัดเก็บภาษี (Allocating Taxing Right) ไปยังประเทศผู้ใช้งาน 25% สำหรับบริษัทข้ามชาติที่มีอัตรากำไร (Profit Margin) มากกว่า 10% ของรายได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเห็น Pillar 2 Global Minimum Tax ออกมาบังคับใช้ก่อน
ทั้งนี้ การบังคับใช้ Global Minimum Tax จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร โดยในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้รวมกว่า 2.21 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 913,581 ล้านบาท ภาษีเงินได้นิติบุคคล 767,320 บาท และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 395,744 ล้านบาท
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,971 วันที่ 3 - 6 มีนาคม พ.ศ. 2567