ลุ้นเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ ไหลกลับเข้าไทย  

08 พ.ย. 2567 | 07:53 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2567 | 07:53 น.

กูรูเผย ฟันด์โฟลว์ไหลออกแล้ว 70%จากปีก่อนไหลเข้าสุทธิ 2.49 แสนล้านบาท ค่ายกสิกรไทยคาดสิ้นปีเงินบาทแตะ 34.5 บาทต่อดอลลาร์ ลุ้นเงินทุนไหลกลับหากเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้น ฟากกรุงไทยมองอานิสงก์ไฮซีซันภาคท่องเที่ยวหนุนการฟื้นตัวปลายปี

สถานการณ์เงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ(ฟันด์โฟลว์)ล่าสุด 6 พฤศจิกายนพบว่า ฟันด์โฟลว์ไหลออกสุทธิ 176,395 ล้านบาทคิดเป็น 70.82% ของเงินไหลเข้าสุทธิ 249,086 ล้านบาทในปีที่แล้ว โดยเป็นการขายสุทธิในตลาดตราสารหนี้ 49,902 ล้านบาทและตลาดหุ้น 126,492 ล้านบาท 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทล่าสุด(7 พ.ย.) เงินบาทเคลื่อนไหวใกล้ระดับสิ้นปีที่แล้วจากระดับ 34.41 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 34.14 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง 0.8% เท่านั้นจากสิ้นปีก่อน แต่มีความผันผวนสูงถึง 7.8% รองจากเงินเยนเท่านั้นที่ผันผวนถึง 10.1%  

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

“ค่าความผันผวนของเงินบาทต่อดอลลาร์ต้นปีเคลื่อนไหวอ่อนค่าและเคยอ่อนค่าถึงเกือบ 8% จากนั้นครึ่งปีหลัง(ต.ค.-พ.ย.)เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า 6% สะท้อนความผันผวนของเงินบาททั้ง 2 ด้าน และล่าสุดอ่อนค่าเพียง 0.8% เมื่อเทียบสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคกับสกุลเงินดอลลาร์พบว่า ส่วนใหญ่อ่อนค่า ยกเว้นเงินริงกิตยังคงแข็งค่าชัดเจนที่ 3.6%”

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินนั้น  ครึ่งปีแรกขึ้นกับปัจจัยธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ส่งสัญญาณจะยืนดอกบี้ยนโยบายในระดับที่สูงนาน(High for Longer) จากอัตราเงินเฟ้อยังไม่กลับสู่เป้าหมาย ขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐยังไปได้ดีทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า

การเคลื่อนไหวของสกุลเงินทั่วโลก

ส่วนครึ่งปีหลัง เริ่มมีสัญญาณเฟดจะต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย กระทั่งเฟดปรับลดดอกเบี้ยในอัตรา 0.50% จึงเห็นเงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่า สวนทางกับค่าเงินบาท และปัจจัยที่สองคือ ราคาทองคำในตลาดโลก ทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 

สำหรับภาพรวมเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ(ฟันด์โฟลว์)สะท้อนเงินทุนไหลออกจากทั้งตลาดหุ้นและบอนด์ และแนวโน้มน่าจะยังคงเห็นเงินไหลออกต่อเนื่องในช่วงหลังของปีนี้ เพราะปัจจัยต่างๆยังมีความไม่แน่นอนสูง

ประกอบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยีลด์)ในประเทศอื่นๆ น่าสนใจกว่าบอนด์ยีลด์ในไทย โดยกสิกรมองแนวโน้มการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสิ้นปีนี้อยู่ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่ระหว่างทางจะมีความผันผวนและความไม่แน่นอนสููง รวมทั้งเศรษฐกิจที่รอการฟื้นตัวให้ชัดเจน 

ฉะนั้นตลาดเปลี่ยนมุมมองต่อจังหวะการลดดอกเบี้ยของเฟดอีกรอบว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งทำให้คนที่เคยขายดอลลาร์กลับมาซื้อดอลลาร์ บวกกับมุมมอง Trump Trade จึงเป็นแรงหนุนเงินดอลลาร์ให้ขยับแข็งค่าขึ้น

“วันนี้เงินบาทเคลื่อนไหวในโอกาสที่นายโดนัลด์ ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้ง ดอลลาร์มาฟื้นต่อจาก Trump Trade ช่วงนี้น่าจะมีการขายทำกำไร และการเคลื่อนไหวหลังจากนี้อยู่บนความไม่แน่นอน ฉะนั้นระยะถัดไปอาจจะเห็นเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบสกุลเงินหยวน อาจทำให้มีผลต่อทิศทางค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินบาทบ้าง” 

นอกจากปัจจัยเฉพาะของเมืองไทย เช่น ถ้าราคาทองคำยังขยับขึ้น เงินบาทอาจจะไม่อ่อนค่าแรงหรือหากวัฎจักรของเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นกลับมาบ้าง อาจจะเห็น Inflow ขยับเข้ามาไม่ทำให้เงินบาทอ่อนค่านัก 

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ทีม Investment and Market Research สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยกล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปัจจัยที่มีผลต่อฟันด์โฟลว์ในครึ่งแรกปีนี้คือ การอ่อนค่าของเงินบาท

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ทีม Investment and Market Research สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย

ประกอบกับหุ้นไทยมีแรงกดดันทั้งจากกระแสเงินทุนไหลออก อัตรากำไร/ผลประกอบการยังไม่ค่อยดี มีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล รวมถึงเศรษฐกิจที่ไม่เติบโตและตลาดหุ้นไทยไม่มีกลุ่มที่จูงใจ ส่วนบอนด์ไทยมาจากปัจจัยจากค่าเงินกับทิศทางของการลดดอกเบี้ยของเฟด 

จุดเปลี่ยนสำคัญคือ ไตรมาส3 ปีนี้ ที่มีการซื้อสุทธิเกิดขึ้น แต่ปัจจัยต่างกันคือ เรื่องหุ้นจะมีเรื่องค่าเงินที่มีทั้งอ่อนค่ากับแข็งค่า เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยและปรับลดดอกเบี้ยลงจริง 0.50% ในเดือนกันยายน ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

และตลาดหุ้นยังมีเรื่องกองทุนวายุภักษ์เข้ามาเสริม บวกกับการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย ทำให้เห็นความต่อเนื่องทางเศรษฐกิจ จึงเริ่มมีการ Cover short ทยอยซื้อคืนกลับบ้างจาก่อนหน้าที่ทยอยขายออกไป โดยภาพรวมเป็นการซื้อ  แต่ไม่ได้เป็นการซื้อสุทธิ

สำหรับบอนด์เดือนตุลาคมกลับมาซื้อสุทธิ เพราะเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า พร้อมกับ Trump Trade ได้เข้ามาแล้ว ซึ่งบอนด์ยีลด์ของสหรัฐปรับขึ้น ฝั่งไทย แม้จะไม่ได้ปรับขึ้น ต่างชาติก็ต้องขายสุทธิออกมา 4.99 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ภาพที่สอดคล้องกับภาพเชิงแมคโครของทั้งโลก ที่สำคัญ ตลาดบอนด์ไทยมีสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติแค่ 8% จึงกระทบน้อย

มองไปข้างหน้าระยะใกล้ถึงครึ่งแรกของเดือนพ.ย.นี้ นักลงทุนยังระมัดระวังไม่น่ากลับมา รอดูปฎิกิริยาต่างๆ ให้นิ่งก่อน

ส่วนการประชุมของเฟดในรอบหน้ามีโอกาสกว่า 70% มองเฟดจะลดดอกเบี้ยอีก 0.25% ขณะที่มุมมองตลาดระยะยาวสิ้นปีหน้า ส่วนเงินบาทปกติปลายปีมีโอกาสแข็งค่ากลับมาได้บ้าง เพราะเป็นไฮซีซันจากการท่องเที่ยว 


หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,043 วันที่ 10 - 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567