แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบนโยบายให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เร่งทำแผนการเพิ่มบทบาทการเป็นสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนสินเชื่อ 1 ใน 3 ของภาพรวมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด โดยให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิ่มทุน เพื่อเพิ่มขนาดของ ธอส.
โดยรัฐบาลจะเข้าไปช่วยสนับสนุนแหล่งเงินให้ มีเป้าหมาย เพื่อให้ ธอส.เป็นเครื่องมือช่วยดูแลภาคอสังหาฯ โดยเฉพาะในช่วงที่ธนาคารพาณิชย์เข้มงวด ไม่ปล่อยสินเชื่อ ก็จะให้ ธอส.มีบทบาทในส่วนนี้แทน
นอกจากนี้ ยังให้ ธอส.ทำแผนระยะยาว ในการหาช่องทางระดมทุนดอกเบี้ยต่ำ มาปล่อยกู้ช่วยผู้ประกอบการ เนื่องจากดอกเบี้ยมีจังหวะขึ้นลง จึงอยากให้ ธอส.เข้ามาช่วยบริหารจุดนี้ หากช่วงที่ดอกเบี้ยถูกก็สามารถระดมทุนไว้ปล่อยกู้ให้ประชาชนได้ในอนาคต
“ปัจจุบันประเทศไทยมีมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบ 5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 30% ของจีดีพี หาก ธอส.เพิ่มบทบาทเข้ามา ก็ตั้งใจทำให้การมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มเป็น 50% ของจีดีพี และที่ผ่านมาตั้งแต่ก่อตั้ง ธอส. มีทุนจดทะเบียนหลักพันล้านบาท แต่ปัจจุบันแบงก์เติบโตขึ้น และยังไม่เคยได้รับการเพิ่มทุนการรัฐ”
ส่วนแผนระยะสั้น ให้ ธอส.เป็นกลไกสนับสนุนให้ประชาชนมีบ้านเป็นของตัวเองได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในปี 67 ให้เร่งปล่อยสินเชื่อในครึ่งหลังปี 67 อีก 1.6-1.7 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนต้องช่วยเหลือลดภาระลูกหนี้
โดยเฉพาะคนที่ผ่อนไม่ไหว ให้สามารถรักษาบ้านของตัวเองได้ต่อไป เช่น ขยายเวลาผ่อนชำระ จากเดิมสูงสุดอายุ 60-70 ปี เป็น 80-85 ปี เพื่อให้มีเงินงวดน้อยลง และมีเงินเหลือไปใช้จ่ายได้มากขึ้น
อีกทั้งให้ขยายวงเงินการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็น 5-10 ล้านบาทขึ้นไป จากเดิมที่ ธอส.เน้นปล่อยสินเชื่อวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท
นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ลูกค้า ธอส.สามารถเข้ามาติดต่อสาขาทั่วประเทศ เพื่อเข้าร่วมมาตรการการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เป็น 80-85 ปี โดยประชาชนทั่วไปจะได้รับการขยายเวลาชำระหนี้ถึง 80 ปี ขณะที่ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจจะได้ถึง 85 ปี ซึ่งการขยายเวลาการผ่อนชำระหนี้เป็น 80-85 ปี
ทั้งนี้ จะทำให้ค่างวดของประชาชนลดลง โดยวงเงินกู้ 1 ล้านบาท ค่างวดจะลดลง 500-2,000 บาท จากเดิมที่ต้องชำระงวดละ 4,100 บาท นอกจากนี้ จะช่วยบริหารหนี้เสียของธนาคาร โดยปัจจุบันหนี้เสียของธนาคารอยู่ที่ 5.7% ตั้งเป้าหมายทำให้ลดลงเป็นไม่เกิน 5%
ส่วนแนวทางการเพิ่มทุนของ ธอส. เรื่องนี้เป็นการบ้านที่ รมว.คลัง มอบให้ธนาคารไปทำแผนพิจารณาในระยะ 5 ปี ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารไม่ได้มีการเพิ่มทุนมานานแล้ว ก็ต้องศึกษาดูถึงความเหมาะสม แต่ขณะเดียวกันจะให้ดูแผนการหาช่องทางระดมทุนใหม่ เพื่อให้หาแหล่งเงินดอกเบี้ยต่ำมาปล่อยกู้ให้ประชาชนมีบ้านได้เพิ่มขึ้น
โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 67 ธอส.ได้เตรียมวงเงินปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย 170,000 ล้านบาท โดยจะเน้นการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก ส่วนกลุ่มราคาที่อยู่อาศัย 5-1 0 ล้านบาท ได้จัดสรรวงเงินไว้แล้ว 2,000 ล้านบาท