นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "Monetary Policy Challenge: How to Manage the Risks in a Changing Global Environment" ในงาน Thailand Focus 2024 ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวของแต่ละสาขายังฟื้นตัวได้ไม่เท่ากัน โดยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 /66 โตติดลบ จากผลของงบประมาณ ที่ล่าช้าและการส่งออกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด
ทั้งนี้ การหดตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปีที่แล้วเป็นเรื่องชั่วคราว จากนั้นในไตรมาสแรกปีนี้ เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 1.6% และไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยเติบโต 2.3% ซึ่งเป็นการขยายตัว 0.8% จากไตรมาสแรก ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะดำเนินต่อไปในครึ่งหลังของปี โดยธปท.คาดว่า ทั้งปีจะเติบโตได้ 2.6% สอดคล้องกับประมาณการของหน่วยงานอื่นและนักวิเคราะห์
ส่วนอัตราเงินเฟ้อเดือนก.ค.67 อยู่ที่ 0.8% แม้จะยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3 % แต่เชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และแม้อัตราเงินเฟ้อจะต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ยังไม่เห็นสัญญาณเงินฝืด มีเพียงสินค้าบางรายการที่ราคาลดลง ยังไม่เห็นการลดลงในวงกว้าง อีกทั้งผู้บริโภคไม่ได้หยุดใช้จ่ายเพื่อรอให้ราคาสินค้าลดลงไปอีก
สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินนั้น ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 21 ส.ค.67 มีมติ 6 ต่อ 1 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ต่อปี ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงิน ธปท. ให้ความสำคัญกับแนวโน้มข้างหน้า มากกว่าที่จะอิงกับข้อมูลตลาด
1. การเติบโตของเศรษฐกิจที่คาดว่า จะโต 2.6% ในปีนี้ และ 3% ในปี 68 ระดับการเติบโตถือว่าไม่สูง แต่ก็สอดคล้องกับศักยภาพในการเติบโตระยะยาวของไทยที่ระดับ 3% บวกลบ อย่างไรก็ดี การเติบโตได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านประชากร โดยประชากรกำลังแรงงานลดลง
ดังนั้น การที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตสูงกว่าระดับนี้ มีทางเดียวคือการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน การลงทุน การพัฒนาเทคโนโลยี การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะได้ผลระยะสั้นเท่านั้น ศักยภาพการเติบโตระดับนี้ ถือเป็น new normal (ภาวะปกติใหม่) ของไทย
2. เงินเฟ้อไทยกำลังกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย เศรษฐกิจไม่ได้ไหลลงสู่ภาวะเงินฝืด เงินเฟ้อไทยต่างจากประเทศอื่น เงินเฟ้อภาคบริการของไทยไม่สูง ค่าเช่าทรงตัว และดึงเงินเฟ้อลง
3. เสถียรภาพการเงิน ซึ่งเป็นถือว่าเป็นปัญหาท้าทายมาก จากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% ของจีดีพี ปัญหาน่ากังวลเพราะหนี้เงินกู้บ้านของไทยมีประมาณเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น เทียบกับหนี้ครัวเรือนของประเทศพัฒนาแล้ว ที่หนี้จำนองบ้านถือเป็นส่วนใหญ่ของหนี้ครัวเรือน ยอมรับว่าแก้ไขยากและต้องใช้เวลา ธปท. ต้องการทำให้หนี้ครัวเรือนลดลงมาที่ระดับ 80% ต่อจีดีพี
“ภาคเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่เท่ากัน โดยภาคท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องฟื้นตัวดี แต่ภาคการผลิตอ่อนแอ การฟื้นตัวของรายได้ของประชาชนไม่เท่ากัน ผู้ประกอบอาชีพส่วนตัวเช่น แม่ค้า คนขับแท็กซี่ ยังได้รับผลกระทบรายได้ยังไม่ฟื้นตัวดี หลังจากที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากช่วงโควิดระบาด”
ดังนั้นแม้เศรษฐกิจมหาภาคฟื้นตัว แต่ประชาชนทั่วไปไม่ได้รู้สึกว่าฟืนตัวตามไปด้วย ขณะที่คาดว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่ถึงขั้นรุนแรง ส่วนคุณภาพสินเชื่อจะด้อยลงต่อไป
ขณะที่นโยบายการเงินของไทย เน้นนโยบายผสมสาน ซึ่งนโยบายดอกเบี้ย ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการหลายอย่าง และพร้อมจะปรับการดำเนินนโยบาย หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้ยึดติดจนเปลี่ยนแปลงไม่ได้
"ธปท. ให้ความสำคัญกับมาตรการรองรับความเสี่ยง เพราะสถานการณ์ในโลกไม่แน่นอน คาดการณ์ไม่ได้ จึงต้องทำนโยบายเผื่อไว้หลาย ๆ ทาง นอกจากนโยบายดอกเบี้ย ก็ยังมีมาตรการอื่น ๆ เช่น การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible lending) ของสถาบันการเงินเพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้