ดอกเบี้ยนโยบายสูง ฉุดแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ?

29 ส.ค. 2567 | 08:20 น.
อัพเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2567 | 08:20 น.

การคงดอกเบี้ยนโยบาย 2.50% ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีก่อน รวมถึงการดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้แบงก์พาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อ เพราะนำสภาพคล่องส่วนเกินฝากกินดอกเบี้ยข้ามคืนจากธปท.ได้ โดยไม่ต้องเสี่ยงกับหนี้เสียจริงหรือไม่ ธปท.มีคำตอบ

การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% ยาวนานนับตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2566 จนถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งล่าสุดเมื่อ 21 สิงหาคม 2567 ทำให้มีการเชื่อมโยงกันว่า เป็นหนึ่งในสาเหตุที่แบงก์พาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อ เพราะสามารถนำสภาพคล่องส่วนเกินไปฝากไว้กับธปท.เพียงข้ามคืนก็ได้ผลตอบแทนไปแล้ว 2.5% ไม่จำเป็นต้องไปเสี่ยงกับการปล่อยสินเชื่อในภาวะเศรษฐกิจชะลอแบบนี้ ที่มีโอกาสจะเป็นหนี้เสียได้ 

ขณะเดียวกันการบริหารตลาดการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ด้วยการดูดซับสภาพคล่องออกจากตลาดผ่านการออกพันธบัตรทุกวัน ยังถูกโยงว่า เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้สภาพคล่องในระบบหายไปด้วย 

ประเด็นดังกล่าว ผู้ว่าการธปท.นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิอธิบายว่า ถ้าพูดเรื่องสภาพคล่อง คนจะคิดว่า เป็นเรื่องของสินเชื่อ แต่ธปท.เคยอธิบายมาก่อนหนาแล้วว่า เป็นสภาพคล่องคนละส่วนกัน การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จะขึ้นกับขนาดของทุนและความเสี่ยงต่างและคุณภาพของลูกหนี้ ดังนั้นจึงขึ้นกับว่า แบงก์อยากปล่อยหรือไม่อยากปล่อยสินเชื่อ

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่วนในตลาดเงินเป็นการดูแลสภาพคล่องเพื่อให้ดอกเบี้ยอยู่ในระดับนโยบายไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรกับแนวโน้มของสินเชื่อในระบบเลย ซึ่งหากดูจากปริมาณธุรกรรมที่แบงก์พาณิชย์มาทำกับธปท.แล้วจะเห็นว่า ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ระบุว่า การปล่อยสินเชื่อของแบงก์พาณิชย์ มีตัวแปรที่สำคัญ 2ส่วนคือ การประเมินว่า ลูกค้าที่เข้ามาในแบงก์ มันคุ้มที่แบงก์พาณิชย์จะเสี่ยงเงินของเขาหรือเปล่า 

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท.

นัั่นคือ การประเมิน Credit Risk ซึ่งจุดนี้จะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และขึ้นกับความเข้มแข็งของแบงก์เองด้วย หากเขาเข้มแข็ง เขาอาจจะกล้าเสี่ยงหรือเต็มใจที่จะเสี่ยงกับลูกค้าก็เป็นไปได้

อันที่สองคือ เงินกองทุน การที่แบงก์พาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อหรือจะสามารถขยายตัวงบดุลได้มากเท่าไหร่นั้น จะขึ้นอยู่กับว่า เขามีเงินกองทุนขนาดเท่าไหร่ เพราะในที่สุดแล้วจะมีสัดส่วนที่ไปกำกับว่า แบงก์ต้องถือเงินกองทุนเท่านั้นเท่านี้ เมื่อเทียบกับขนาดสินทรัพย์ที่มีทั้งหมด 

“เรื่องสภาพคล่องที่แบงก์พาณิชย์ถือเอง แล้วนำมาลงทุนในสินทรัพย์ของธปท.คือ พันธบัตรธปท. นั้น มันสะท้อนการบริหารสภาพคล่องปกติมากกว่า”นายปิติกล่าว 

ซึ่งจะคล้ายๆกับการที่ธปท. สะสม foreign reserves หรือเงินทุนต่างประเทศ แล้วต้องดูดเงินออก ด้วยการเอาสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนไปแลกเงินสด เช่น ในเวลาที่ธปท.เข้าแทรกแซงตลาด จึงอยากให้มองว่า การออกพันธบัตรธปท. ไม่เกี่ยวกับการตัดสินใจและความสามารถในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เลย 

ธุุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะเวลา 1 วัน

ธปท.อธิบายเพิ่มเติมว่า ปริมาณสภาพคล่องที่ธปท.ดูดออกมา อย่างการซื้อดอลลาร์ แล้วจ่ายเงินบาทเข้าไปในระบบ เกิดจากความต้องการธนบัตร คนต้องการเงินมากขึ้น ทำให้สภาพคล่องในระบบลดลง และสภาพคล่องส่วนส่วนหนึ่งจะกลับคืนไปที่แบงก์ทุกวัน และเป็นจำนวนมากด้วย เพื่อให้มั่นใจว่า แบงก์มีสภาพคล่องที่เพียงพอในการดูแลธุรกรรมให้ลูกค้า 

ทั้งนี้เกณฑ์ในการวัดสภาพคล่องแบงก์คือ เรื่อง LCR (Liquidity Coverage Ratio) ซึ่งแบงก์ไทย มี LCR เท่ากับ 195 เทียบกับเกณฑ์สากลที่อยู่ที่ 100

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากปริมาณการทำธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคีผ่านคู่ค้าที่ ธปท. แต่งตั้ง (Bilateral Primary Dealers) เพื่อดูดซับหรือปล่อยสภาพคล่องแบบชั่วคราว เพื่อให้ปริมาณสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับความต้องการสภาพคล่องของระบบการเงิน​จะพบว่า แม้ปริมาณธุรกรรมจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นนัยสำคัญ แต่ก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 5-6 แสนล้านบาทในช่วงที่มีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายในระยะแรกๆช่วงปี 2565-2566มาอยู่ที่ระดับ 7-8 แสนล้านบาทในช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวที่ 2.50%


วิเคราะห์ หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,022 วันที่ 29 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2567