KCC คาดแบงก์เทขายหนี้เสีย 1.5 แสนล้าน โอกาสตลาดรับซื้อหนี้

16 ก.ย. 2567 | 22:30 น.
อัพเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2567 | 05:59 น.

ธปท.รายงานผลการดำเนินงานเอเอ็มซี ไตรมาส 2 ปี 67 กำไรสุทธิลดลง 51% เหตุรายได้ดอกเบี้ยลดค่าย KCC คาด ปีนี้แบงก์เทขายเอ็นพีแอล 1.5แสนล้านบาท ชี้โอกาสตลาดรับซื้อหนี้ครึ่งปีหลัง เตรียมส่งบริษัทลูกรับซื้อ “หุ้นกู้มีหลักประกัน”ไตรมาส3

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานผลการดำเนินงานของบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) ไตรมาส 2 ปี 2567 จำนวน 83 แห่งเพิ่มขึ้น 4 แห่งจากไตรมาส 2 ปี 66 ที่มี 79 แห่งพบว่า มีกำไรสุทธิ 1,302 ล้านบาทลดลง 1,359 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,661 ล้านบาท หรือลดลง 51.07% หลักๆมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 118 ล้านบาทจาก 4,816 ล้านบาทเหลือ 4,698 ล้านบาท รายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลงจาก 2,057 ล้านบาทเหลือ 763 ล้านบาท 

นายสุชาติ บุญบรรเจิดศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ไนท คลับแคปปิตอลจำกัด(มหาชน)และในฐานะนายกสมาคมบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (TAMCA) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ภาพรวมธุรกิจบริหารสินทรัพย์ปี 2567 น่าจะนำทรัพย์ออกประมูลขาย 1.5-1.6 แสนล้านบาท

นายสุชาติ บุญบรรเจิดศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ไนท คลับแคปปิตอลจำกัด(มหาชน)

หลังจากครึ่งปีแรกที่ผ่านมา สถาบันการเงินเจ้าหนี้(ทั้งธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์) ทยอยนำทรัพย์ออกประมูลขายแล้วประมาณ 50,000 ล้านบาท

“หนี้ที่นำออกขายคละกัน ทั้งสินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อเอสเอ็มอี สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ส่วนตัวมองราคาประมูลบ้าน และที่ดินราคาไม่ตกนัก แต่ในส่วนของพอร์ตลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์อาจจะเห็นราคาประมูลร่วงลงตามราคารถมือสอง”นายสุชาติกล่าว

นายทวี กุลเลิศประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไนท คลับ แคปปิตอล จำกัด(มหาชน)หรือ KCC กล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาพรวมธุรกิจบริหารสินทรัพย์ครึ่งปีหลัง ยังมีการทยอยประมูลขายลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยแนวโน้มลูกหนี้ที่อยู่อาศัยจะถูกนำออกประมูลขายในปริมาณมากกว่าเช็กเตอร์อื่นๆ 

นายทวี กุลเลิศประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไนท คลับ แคปปิตอล โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน)

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีทรัพย์ออกมาประมูลหลากหลายให้เลือก แต่จะไม่ทำให้เกิดการแข่งขันมากนัก เพราะอาจจะเป็นข้อจำกัดด้านเงินทุน จึงเลือกซื้อเฉพาะทรัพย์สำหรับเอเอ็มซีที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
 ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ปริมาณหนี้เสียที่ออกมาประมูลขายประมาณ 1 แสนล้านบาท เทียบจากทั้งปีก่อนอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีทรัพย์ออกมาประมูลหลากหลายให้เลือก แต่จะไม่ทำให้เกิดการแข่งขันมากนัก เพราะอาจจะเป็นข้อจำกัดด้านเงินทุน จึงเลือกซื้อเฉพาะทรัพย์สำหรับเอเอ็มซีที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ปริมาณหนี้เสียที่ออกมาประมูลขายประมาณ 1 แสนล้านบาท เทียบจากทั้งปีก่อนอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท 

แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัย จะถูกนำออกมาประมูลขายในปริมาณมากกว่าเช็กเตอร์อื่นๆ ซึ่งสถาบันการเงินเจ้าหนี้นำออกประมูลโดยยังไม่ฟ้องคดี แต่เน้นเจรจาปรับโครงสร้างหนี้มาแล้ว 


ทั้งนี้โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อของบริษัท KCC ส่วนใหญ่ 80% เป็นสินเชื่อธุรกิจ/เอสเอ็มอี และอีก 20% เป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งจากการได้พูดคุยกับลูกหนี้ที่บริษัท KCC รับซื้อและรับโอนมาแล้วนั้น พบว่า ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ลูกหนี้บางส่วนตกงานหรือในรายที่เปลี่ยนงานแล้ว แต่รายได้หรือเงินเดือนที่ได้รับกลับลดน้อยลงกว่าเดิม 

นอกจากนั้นยังพบว่า ลูกหนี้ 1 รายจะมีหนี้มากว่า 1 ประเภทคือ มีทั้งหนี้บ้าน หนี้รถและหนี้บัตรเครดิต ยกตัวอย่าง ลูกหนี้ที่อยู่อาศัย บางรายบริษัทรับโอนมา ยังไม่ทันได้เจรจา ทางเจ้าหนี้บัตรเครดิตขอยึดหลักประกัน ซึ่งบริษัทได้แนะนำให้เจรจาโดยตรงกับเจ้าหนี้ หากเจรจาไม่ได้ก็เข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาด แต่หลายรายสามารถเจรจากับเจ้าหนี้เจ้าหนี้เดิม ยอมถอนการยึดบ้าน สามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ 

ปีนี้บริษัทตั้งงบประมาณรับซื้อทรัพย์เท่ากับปีที่แล้วจำนวน 900 ล้านบาท โดยครึ่งแรกที่ผ่านมารับซื้อลูกหนี้มาแล้ว 450 ล้านบาท ส่วนใหญ่ 90%เป็นสินเชื่อธุรกิจ(สินเชื่อเอสเอ็มอี) ส่วนช่วงที่เหลือปีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ขณะที่ปีที่ผ่านมา บริษัทชนะการประมูล 600 ล้านบาท แต่สถาบันการเงินงดการประมูลขาย เนื่องจากไม่ได้ราคาตามที่กำหนด  

สำหรับพอร์ตของ KCC ปัจจุบันพอร์ตลูกหนี้อยู่ที่ประมาณ 2,100 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วอยู่ที่ 1,800 ล้านบาท ซึ่งนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 2 ปีกว่าเติบโตกว่า 500 ล้านบาท ส่วนใหญ่ 80%หรือประมาณ 1,700 ล้านบาทเป็นลูกหนี้ธุรกิจ ที่เหลือกว่า 300 ล้านบาทเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย 

ส่วนความคืบหน้าเรียกเก็บกระแสเงินสดครึ่งปีแรกนั้น บริษัทเรียกเก็บได้ดีกว่าปีก่อน โดยยังทยอยปรับโครงสร้างหนี้กันเป็นระยะๆตามความสามารถของลูกหนี้ด้วยคือ ลูกหนี้ธุรกิจ แม้มูลหนี้จะเกินกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไป แต่จะมีทางเลือกหลายช่องทาง

เช่น สินทรัพย์มีมูลค่าเพิ่มสามารถขายออกได้,หรือเมื่อกระสเงินสดดีขึ้นสามารถหานักลงทุนได้ ซึ่งพอร์ตลูกหนี้ธุรกิจของบริษัทจะมีทั้งธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เหล็ก ธุรกิจโรงแรม และอพาร์ทเม้นท์ (ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีและมีผู้เช่าตลอด) 

กำไรสุทธฺ AMC ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)

ดังนั้น ช่วงที่เหลือของปี จะมีทั้งความหวังและความท้าทาย เนื่องจากลูกหนี้ธุรกิจมีความกังวลต่อการแข่งขันด้านราคาจากสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดในเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้าง เหล็ก แต่โอกาสในการเรียกเก็บกระแสเงินสด ก็หวังผลเชิงบวกจากงบประมาณภาครัฐ จะมีการเบิกจ่ายอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่อาศัยงานภาครัฐ และกลุ่มวัสดุก่อสร้างน่าจะได้รับผลเชิงบวก 

 “เราต้องการให้ลูกหนี้กลับสู่ระบบสถาบันการเงินหรือ ลูกหนี้บ้านบางราย หากผ่อนชำระมานานแล้ว แนะนำให้ลดขนาดบ้าน เช่น ขายบ้านตอนนี้ยังมีส่วนต่างและหาซื้อบ้านหลังใหม่ โดยลดขนาดลง ส่วนใหญ่ที่เจรจาจะช่วยกันหาทางออกได้ จากสถิติที่ผ่านมาลูกหนี้ที่อยู่อาศัยจะอยู่กับบริษัทนานกว่าลูกหนี้ธุรกิจ”


หน้า 13 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,027 วันที่ 15 - 18 กันยายน พ.ศ. 2567