ตลาดเงินชี้ ดึงเงิน FIDF ครึ่งหนึ่งเกิน 10 ปี สางหนี้เสีย 5 แสนล้าน

18 ก.ย. 2567 | 22:59 น.

สถาบันการเงิน-เอเอ็มซีชี้ ดึงเงินจาก FIDF ครึ่งหนึ่ง เกิน 10ปี กว่าจะสางหนี้เก่ากว่า 5 แสนล้านหมด แถมระหว่างทางหนี้เสียใหม่ยังคงไหลเพิ่ม เฉพาะหนี้บ้านต้องใช้เงินราว 1.5 แสนล้านบาท ห่วงสร้างพฤติกรรมก่อหนี้ไม่รับผิดชอบ เพราะมีรัฐตามอุ้ม

1 ใน 10 นโยบายเร่งด่วนในการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลนางสาวแพรทองธาร ชินวัตรคือ ผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ ลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ภายใต้ปรัชญา ที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน

ควบคู่กับการเพิ่มความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย โดยจะดำเนินนโยบายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ 

พร้อมกำหนดแนวทางเบื้องต้นจะดึงเงินจากสถาบันการเงินที่ต้องนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่อัตรา 0.46% มาครึ่งหนึ่งหรือ 50% มารับซื้อหนี้จากสถาบันการเงิน เพื่อทำให้การจัดการหนี้เสียเหล่านี้เป็นไปอย่างเหมาะสม และส่งเสริมความมั่นคงในระบบการเงิน

ซึ่งแต่ละปีจะได้เงินประมาณ 35,000-40,000 ล้านบาทจากที่สถาบันการเงินต้องนำส่งเงินประมาณ 70,000 ล้านบาทต่อปี 

ตลาดเงินชี้ ดึงเงิน FIDF ครึ่งหนึ่งเกิน 10 ปี สางหนี้เสีย 5 แสนล้าน

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ยังไม่เห็นแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ชัดเจน แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะการดึงเงินกองกลางมาใช้ ถ้าบริหารไม่สำเร็จหรือเงินของรัฐเกิดความเสียหาย รัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไร สมมุติมูลหนี้ 1 ล้านบาทรัฐ ซื้อหนี้บ้าน -หนี้รถยนต์ในราคาส่วนลด 50%คือ ประมาณ 5 แสนบาท

“แล้วรัฐจะให้สถาบันการเงินหรือใครซื้อหนี้ประชาชนออกมาบริหาร หรือ กรณีลูกหนี้ไม่จ่ายชำระหนี้จะทำอย่างไร ที่สำคัญถ้าเงินของรัฐเกิดความเสียหาย รัฐบาลจะรับผิดชอบความเสียหายอย่างไร หรือเป็นปัญหาให้รัฐบาลต่อไป”

ส่วนแนวทางที่จะดึงเงินจากกองทุน FIDF 35,000-40,000 ล้านบาทนั้น ไม่ถือว่าเยอะ หากเทียบกับตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่มีจำนวนกว่า 16 ล้านล้านบาท หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ตอนนี้ไม่น่าจะต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท โดยเฉพาะหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค

ถ้าจะดึงเงินจาก FIDF คาดว่า จะต้องใช้เวลาเกิน 10ปี ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังไม่ดีอย่างน้อยอีก 2 ปีคงจะเกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นอีก 

ในทางปฎิบัติ สถาบันการเงินได้สำรองหนี้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว ก็ให้สถาบันการเงินเคลียรหนี้มีปัญหาไป รัฐไม่ควรดึงเงินภาษีไปช่วยประชาชนที่เป็นหนี้เสีย เพราะจะสร้างพฤติกรรมไม่รับผิดชอย หรือทำให้เกิดความคิดทางสังคมที่บิดเบี้ยว คือ คนก่อหนี้แล้วเดี๋ยวรัฐบาลจะช่วย ต่อไปสถาบันการเงินจะยิ่งระมัดระวังมากขึ้น ถ้าเกิดปัญหาอีกสถาบันการเงินก็ต้องบริหารความเสี่ยง ด้วยการเอากำไรจากลูกหนี้ดี โดยต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกับลูกหนี้ดี  

การจะแก้หนี้ครัวเรือนนั้น ควรนำเงินที่จะดึงออกจาก  FIDF ไปกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ธุรกิจเกิดกิจกรรมหมุนเวียน ทำให้คนมีขวัญกำลังใจออกมาใช้จ่าย ถ้ารัฐบาลสามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนหรือครัวเรือนมีรายได้ดีขึ้น เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพได้เขาจะมีรายได้ไปลดหนี้ จึงจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างถาวร แต่ถ้าจะลดหนี้ด้วยการใส่เงินลงไป ไม่ได้เป็นการแก้หนี้ด้ยตัวมันเอง ส่วนตัวมองว่าต้องแก้ที่ปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งต้องใช้เวลาและทรัพยากร"

ส่วนตัวมองว่า ต้องแก้ที่ปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งต้องใช้เวลาและทรัพยากร แต่รัฐบาลจะทำประชานิยมบอกว่าจะทำ ซึ่งในความเป็นจริงมันแก้ไม่ได้หรอก เพราะทำแล้วเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ซึ่งถ้าจะทำเป็นประชานิยมอาจทำได้นิดๆ รัฐบาลก็บอกว่าได้ทำแล้ว 

ทั้งนี้ การเป็นหนี้มีปัญหาลูกหนี้กับสถาบันการเงินก็แก้ปัญหากันไป ถ้าจะอ้างเหตุผลว่าไม่ช่วยแล้วธุรกิจ/SMEจะตาย ต้องยอมรับในวงจรธุรกิจว่า “มีเกิดใหม่และล้ม”ซึ่งต้องดิ้นรนกันทั้งนั้น เพียงแต่รัฐบาลสามารถควบคุมเรื่องคอร์รัปชั่น หรือเอาเงินจากคอร์รัปชั่นไปสร้างเศรษฐกิจพื้นฐาน สร้างความรู้ความเข้าใจช่วยสร้างผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

สอดคล้องแหล่งข่าวจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ว่า แนวคิดจะดึงเงินจาก FIDF ต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบ จะใช้เงินอย่างไร, ใครจะเป็นผู้บริหาร, สมมติแฮร์คัต 50% สถาบันการเงินขายหนี้ให้ในราคาครึ่งหนึ่งเท่ากับซื้อหนี้ 100,000 ล้านบาทในราคา 50,000 ล้านบาท  โดยสถาบันการเงินตัดหนี้สูญแล้ว แต่หน่วยงานที่จะบริหารจะบริหารอย่างไร, โปรแกรมกี่ปี, ใครดูราคาให้,เงินที่เก็บได้จะอยู่ที่ใคร 

ถ้าเป็นเอเอ็มซีรัฐ อาจจะติดข้อกฎหมายล่าช้าในทางปฎิบัติ อีกทั้งต้องมีกฎหมายรองรับ โดยเฉพาะเงินจำนวนนี้เป็นเงินที่สถาบันการเงินต้องนำส่งกองทุน FIDF เพื่อชดใช้หนี้รัฐบาลเก่าที่ผ่านมา หากบริหารแล้วเกิดความเสียหาย รัฐจะรับผิดชอบอย่างไร นอกจากนั้น หนี้เสียที่รับซื้อออกมา แม้ลูกหนี้จะชำระหนี้ แต่ยังเป็น Blacklist ตามเงื่อนไขเครดิตบูโร ซึ่งยังไม่ช่วยให้ลูกหนี้กลับมากู้สถาบันการเงินอย่างน้อยอีก 3 ปี   

ขณะที่การรับซื้อหนี้นั้น ควรจัดตั้งเอเอ็มซีเอกชน เพื่อให้คล่องตัวในการดำเนินการ หรือสามารถตรวจสอบได้ ต้องมีความเสี่ยงเหมาะสมกับผลตอบแทน หรืออัตราผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนหรือ IRR และกระบวนการต้องผ่านมติของคณะกรรมการเอเอ็มซี

กรณีที่จะว่า จ้างบริหารก็ตาม โดยภาครัฐต้องออกสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยหรือซอฟท์โลน วงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อให้เอเอ็มซีกู้ไปซื้อหนี้ออกจากสถาบันการเงิน ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐบาลจะซัพพอร์ตกรณีบริหารแล้วเกิดความเสียหาย  

ในทางปฎิบัติความยากคือ หนี้รถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ จะกำหนดนิยามอย่างไร เช่น เฉพาะรถยนต์ที่ใช้ในภาคเกษตร ไม่ครอบคลุมสินเชื่อคอนซูเมอร์ทั้งหมด ยกตัวอย่างหนี้ที่อยู่อาศัยอาจจะต้องทยอยซื้อหนี้ออกมา เช่น 30%หรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาทจากมูลหนี้กว่า 5แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากจะจัดตั้ง JV AMC ตามนโยบายของธปท. อาจจะจัดตั้งไม่ทันภายในสิ้นปีนี้

 


หน้า 13 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,028 วันที่ 19 - 21 กันยายน พ.ศ. 2567