ผู้ว่าธปท.ยัน ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตามเฟด เหตุเงินบาทลอยตัว

20 ก.ย. 2567 | 04:48 น.
อัพเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2567 | 07:10 น.

ผู้ว่าธปท.ย้ำ ดูแลบาทใกล้ชิด หลังบาทแข็งค่ามาก และผันผวนรุนแรง ชี้ผลจากเฟดลดดอกเบี้ย ส่งผลดอลลาร์อ่อนค่า กดดันค่าเงินสกุลอื่นๆ ย้ำไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตามเฟด ยันประชุมกนง.รอบต่อไป 16 ต.ค. แต่หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถเรียกประชุมด่วนได้

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า ธปท.ติดตามดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด จากความเป็นห่วงความผันผวน โดยล่าสุดเงินบาทแข็งค่าแล้ว 3.1% จากต้นปีและมีความผันผวนมากขึ้น หลักๆ มาจากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง จากการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ซึ่งเป็นไปตามกลกตลาด

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทไทยเคลื่อนไหวผัวนผวนมากกว่าภูมิภาค เพราะมีปัจจัยเฉพาะ จากการที่เงินบาทไทยผูกกับการซื้อขายทองคำมาก แต่ยังถือว่า ไม่ได้ผันผวนที่สุดในภูมิภาค ซึ่งเดิมอาจจะผันผวนเท่าๆกับค่าเงินของมาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่ล่าสุดผันผวนใกล้เคียงเกาหลีใต้และญี่ปุ่น

​​​สำหรับการผลกระทบปรับลดอกเบี้ยของเฟด เป็นไปตามคาดการณ์ และตลาดรวมรับรู้ไปแล้ว ส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าพอสมควร และทำให้ราคาทองคำโลกทำ All New High  และทำให้ค่าเงินในภูมิภาครวมถึงไทยที่แข็งค่าขึ้น ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจไม่ร้ายแรงมาก เนื่องจากระบบเศรษฐกิจพึ่งแหล่งเงินจากธนาคารพาณิชย์

ผู้ว่าธปท.ยัน ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตามเฟด เหตุเงินบาทลอยตัว

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า การลดอกเบี้ยของเฟด 0.50% ถือว่าค่อนข้างเยอะ สะท้อนว่า เฟดเพิ่มน้ำหนักในการดูแลเศรษฐกิจและการจ้างงาน ลดน้ำหนักเรื่องเงินเฟ้อลง  ทำให้สบายใจว่า ในแง่การชะลอตัวเศรษฐกิจของสหรัฐจะชะลอตัวไม่รุนแรง( Soft Landing) มากขึ้น โอกาสที่จะ Hard Landing ก็น้อยลง

ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงิน(กนง.)ของไทยจะเน้นภายในประเทศเป็นหลัก 3 ปัจจัยหลักคือ แนวโน้มเศรษฐกิจจะเข้าสู่ศักยภาพหรือไม่ อัตราเงินเฟ้อจะเข้ากรอบเป้าหมายหรือไม่และเสถียรภาพการเงิน ซึ่งท้ง 3 ปัจจัยยังไม่เห็นอะไรที่เปลี่ยนไปจากประเมิน ยกเว้นเสถียรภาพการเงินที่เห็นว่า Credit Risk สูงขึ้น ทำให้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ชะลอตัว ส่งผลให้สภาพคล่องในระบบตึงตัวขึ้น

“เราไม่ได้กำหนดว่าดอกเบี้ย จะต้องอยู่ในระดับใด แต่เป็นการมองข้อมูลไปข้างหน้าว่า ทิศทางจะเป็นอย่างไร และไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตามเฟดทันที เพราะยังมีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ที่เราไม่ได้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่แบบฮ่องกงที่ต้องลดทันที" 

 

ส่วนแรงกดดันให้กนง.ปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป ดร.เศรษฐพุฒกล่าวว่า ธปท.ได้รับแรงกดดันเรื่องนโยบายดอกเบี้ยมาโดยตลอดอยู่แล้ว ส่วนการประชุมกนง.ยังเป็นไปตามกำหนดการเดิมคือครั้งต่อไป 16 ต.ค. แต่หากปัจจัยต่างๆเปลี่ยนไปจากที่คาดการณ์มากก็สามารถเรียกประชุมฉุกเฉินได้