ภาพรวมเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ ณ เดือนสิงหาคม 2567 ในรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน(ธ.พ.1.1)พบว่า มีจำนวน 13.67 ล้านล้านบาท ลดลง 195,875 ล้านบาทหรือลดลง 1.4% จาก 13.87 ล้านล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน
ทั้งนี้ เป็นการลดลงส่วนใหญ่ใน 10 แห่งจาก 17 แห่ง โดยเฉพาะ 6 ธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ(กลุ่ม D-SIBs)พบว่า ธนาคาร 5 แห่ง เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับสุทธิหดตัว
ขณะธนาคาร กสิกรไทย(KBANK) เงินให้สินเชื่อแก่ ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับสุทธิขยับขึ้น 13,180 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 0.60% เป็น 2.21 ล้านล้านบาท จาก 2.20 ล้านล้านบาท
ด้านเงินรับฝากเดือนสิงหาคม 2567 รวมจำนวน 15.76 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 154,697 ล้านบาทหรือ 0.99%จาก 15.60 ล้านล้านบาทเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่ 13 ธนาคาร มีเงินรับฝากขยับเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาไส้ในพบว่า กลุ่ม D-SIBs- มี 2ธนาคารที่มีเงินรับฝากขยับเพิ่มขึ้นคือ
ส่วนอีก 4 แห่งมีเงินรับฝากลดลง ได้แก่ BAY ลดลง 5.90% SCB ลดลง 3.42% KBANK ลดลง 1.56% และ BBL ลดลง 0.69%
ขณะที่ยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ณ สิ้นเดือน สิงหาคม 2567 มีจำนวน 5.49 ล้านล้านบาท ลดลง 0.78% จากสิ้นปี 2566 มีจำนวน 5.53 ล้านล้านบาท
ส่วนประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิภายในระยะเวลา 30 วันมีจำนวน 2.67 ล้านล้านบาท ลดลง 1.28% จากเดือนธันวาคมอยู่ที่ 2.71 ล้านล้านบาท
สำหรับอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 205.39% จาก 204.36% ณ เดือนธันวาคมปีก่อน
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาพรวมสถานการณ์เงินรับฝากกับสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 17 แห่ง (จากธ.พ. 1.1 )ช่วง 8เดือนปีนี้ ยังคงชะลอลง
โดยข้อมูลเดือนสิงหาคม 2567 สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิอยู่ที่ 13.68 ล้านล้านบาท ลดลงจาก 13.77 ล้านล้านบาทในเดือนกรกฎาคม
“ภาพรวมสินเชื่อชะลอลงเมื่อเทียบกับยอดคงค้างในเดือนก่อนหน้า และลดลงต่อเนื่อง 5 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2567"
ทั้งนี้สาเหตุส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการชำระคืน ทั้งในส่วนของสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อภาครัฐ และในส่วนของสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs และสินเชื่อรายย่อย ซึ่งยังมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ค่อนข้างล่าช้า
สำหรับเงินรับฝากมีจำนวน 15.76 ล้านล้านบาทลดลงจาก 15.99 ล้านล้านบาท สะท้อนการลดลงของยอดคงค้างเงินฝากในเดือนนี้ หลักๆมาจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์
สอดคล้องกับจังหวะที่สถาบันการเงินมีการทยอยออกโปรดักต์ทั้งเงินฝากออมทรัพย์และสลากของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ รวมทั้งพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง
“ภาพรวม 5 เดือนสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิลดลงต่อเนื่อง ปัจจัยหลักมาจากธุรกิจรายใหญ่และภาครัฐชำระคืนหนี้ ขณะที่สินเชื่ออื่นๆ เช่น SMEs กับรายย่อยความต้องการมาช้า"
ทั้งนี้ ภาพรวมทั้งสินเชื่อและเงินรับฝากอยู่ในภาพที่ลดลงสอดคล้องกัน จากก่อนหน้าที่ภาพรวมเงินรับฝากเพิ่มขึ้นมาหลายเดือน แต่เฉพาะเดือนสิงหาคมนี้ที่ลดลง ซึ่งเป็นการลดลงสอดคล้องกับจังหวะที่ตลาดมีการออกผลิตภัณฑ์การออมและการลงทุน จึงเป็นทางเลือกของการออมเงินสำหรับผู้ฝากเงิน
อย่างไรก็ตาม มองไปข้างหน้าเชื่อว่า ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศจะบริหารจัดการเงินฝากให้สอดคล้องกับความต้องการของสินเชื่อ โดยช่วงนี้แคมเปญเงินฝากออกใหม่น้อยกว่าแคมเปญเงินฝากที่หมดอายุ และแคมเปญเงินฝากออกใหม่จะเน้นระยะสั้น
"ธนาคารอาจจะรอประเมินแนวโน้มหรือสัญญาณของเศรษฐกิจและความต้องการเบิกใช้สินเชื่อในช่วงที่เหลือก่อน ซึ่งในส่วนของศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินภาพรวมการขยายตัวของสินเชื่อปีนี้ คาดว่าไม่เกิน 1.5%"
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,044 วันที่ 14 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567