วิพากย์เศรษฐกิจไทย… ส่อง 5 ปัจจัยเสี่ยงปี 2566

16 ม.ค. 2566 | 09:44 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ม.ค. 2566 | 16:44 น.

วิพากย์เศรษฐกิจไทย… ส่อง 5 ปัจจัยเสี่ยงปี 2566 : คอลัมน์ ยังอีโคโนมิสต์ โดย พิมฉัตร เอกฉันท์ ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2566 เรียกได้ว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น จากแรงขับเคลื่อนด้านการบริโภคในประเทศเป็นหลัก เห็นได้จากหลายคนเริ่มวางแผนจับจ่ายและท่องเที่ยวกันอย่างคึกคักหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น

ด้านการซื้อสินค้าคงทนก็ร้อนแรงไม่น้อย เห็นได้จากงานมอเตอร์เอ็กซ์โปที่ผ่านมา หลังยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าจากค่ายน้องใหม่ที่เพิ่งมาทำตลาดในไทยไม่นานที่รอส่งมอบในปี 2566 นี้ ไม่ต่ำกว่าหมื่นคัน

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการก็มีแนวโน้มสดใส หลังจากหลายประเทศมีการเปิดประเทศเพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศได้อย่างเสรี จึงมีโอกาสที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวไทยจะแตะ 20 ล้านคน หรืออาจมากกว่านั้นหากตลาดจีนกลับมาเร็วกว่าที่คาดไว้ แน่นอนว่ามาจากอุปสงค์คงค้างหลังถูกงดเดินทางถึงเกือบ 3 ปี

อีกทั้งยังได้อานิสงส์จากการโปรโมทการท่องเที่ยวที่กระตุ้นนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพสูงอย่างอินเดียและตะวันออกกลาง ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลักกลับมาคึกคัก 

อย่างไรก็ดี คาดว่าการใช้จ่ายต่อหัวมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย เนื่องจากบางส่วนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางในปัจจุบัน เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการน่าจะฟื้นตัวได้เต็มที่ในปี 2567 เป็นต้นไป

สำหรับตลาดการเงิน คาดว่าเงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องครึ่งปีหลัง จากรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะกระเตื้องขึ้นมาก ช่วยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดพลิกกลับมาเกินดุลในรอบ 3 ปี ขณะที่ตลาดการเงินไทยน่าจะคึกคักขึ้นในปี 2566 นี้ หลังฟันด์โฟล์วต่างชาติมีโอกาสไหลกลับเข้ามาลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงได้อีกครั้งและส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

เนื่องจากตลาดรับรู้ความเสี่ยงเกี่ยวกับการส่งสัญญาณชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อเข้าใกล้จุดสูงสุดของวัฏจักรขาขึ้นของดอกเบี้ย ประกอบกับโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จึงเห็นแรงเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อทำกำไรจากที่แข็งค่าขึ้นตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

วิพากย์เศรษฐกิจไทย… ส่อง 5 ปัจจัยเสี่ยงปี 2566

อย่างไรก็ดี ปี 2566 ถือเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทั้งความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ เงินเฟ้อสูงยาวนาน นโยบายการเงินเข้มงวด รวมไปถึงประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัวจากโรคระบาดอ่อนแรงลงอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยที่จะเผชิญ 5 ความเสี่ยงที่สำคัญในระยะต่อไป ได้แก่

  1. ส่งออกโตต่ำ ประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป ส่งสัญญาณชะลอลงอย่างเห็นได้ชัด และเริ่มส่งผ่านผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในหลายกลุ่มสินค้ามาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 และลากยาวมาจนถึงปีนี้ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง เช่น รถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไอที รวมไปถึงอัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรจะขยายตัวได้แต่จะไม่ร้อนแรงเท่าปีที่ผ่านมา
  2. กำลังซื้อระดับล่างยังเปราะบาง ปัญหาเงินเฟ้อและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงเป็นแรงฉุดรั้งกำลังซื้อของครัวเรือนรายได้น้อยลากยาวตลอดปี 2566 สวนทางกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากที่เริ่มลดน้อยลงทุกที ด้านภาคเกษตรที่เคยเป็นพระเอกในปีที่ผ่านมาก็เริ่มแผ่วลง ส่งผลให้ในกำลังซื้อในภาพรวมมีความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มระดับล่างที่ยังคงเปราะบางและต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะฟื้นกลับมาจุดเดิม
  3. เงินเฟ้อทรงตัวเกินกรอบเป้าหมาย แม้เงินเฟ้อไทยจะผ่านจุดสูงสุดที่เกือบแตะระดับ 8% จากราคาพลังงานที่เริ่มปรับลดลง และมีแนวโน้มที่เงินเฟ้อจะเข้าใกล้กรอบเป้าหมายที่ระดับ 3% มากขึ้นในปีนี้ แต่กลับพบว่าราคาสินค้าและบริการปรับสูงขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน อาหารสด อาหารแปรรูป ค่าโรงแรมที่พัก ฯลฯ ทำให้เมื่อเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวในช่วงที่เงินเฟ้อยังคงยืนเหนือกรอบเป้าหมาย จึงเป็นแรงส่งสำคัญที่  คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นลำดับ
  4. ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น ภายในครึ่งแรกของปี 2566 คาดว่า กนง. จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนไปแตะระดับ 2% ประกอบกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% ต่อปี (จากเดิมที่ลดลงเหลือ 0.23% ต่อปีในช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19) ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นจากภาระหนี้ที่อาจเพิ่มขึ้นมหาศาล ในอีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจที่ชะลอความร้อนแรงลงจากการขึ้นดอกเบี้ยก็ทำให้ผู้ประกอบการค้าขายลำบากขึ้น จนส่งผลให้รายได้และกำไรลดลงตามไปด้วย ทำให้หลายบริษัทอาจจะชะลอการขยายธุรกิจออกไปก่อนหรือลงทุนอย่างระมัดระวังตัวขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคต
  5. ตลาดคอนโดมิเนียมชะลอตัว แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและการกลับมาของกำลังซื้อต่างชาติ จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยพยุงตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเติบโตของตลาดบ้านเป็นหลัก ดังนั้น ท่ามกลางภาระหนี้ที่หนักขึ้นจากเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นและหนี้ครัวเรือนสูง รวมถึงมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ที่สิ้นสุดไปเมื่อปลายปีที่แล้ว น่าจะกระทบกำลังซื้อของผู้บริโภคอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะตลาดคอนโดฯ ระดับล่างที่มีความอ่อนไหวต่อราคาค่อนข้างสูง ขณะที่ฝั่งผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยยังคงเจอภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ (Aftershock) ต่อเนื่องจากทั้งราคาที่ดินและวัสดุก่อสร้างหลายรายการปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2565 การเลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไปในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดโรค-19 ทำให้จำนวนยูนิตขายสะสมเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยเปิดตัวคอนโดฯ โครงการใหม่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2566 นี้