นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มหุ้นเข้าใหม่ (IPO) ในปี 2566 ตลท.คาดว่าจะมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ราว 2.5 แสนล้านบาท ขณะที่ปริมาณการระดมทุนผ่านตลาดรองจะมากกว่า 2 เท่า และคาดว่ามูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของตลาดหุ้นอยู่ใกล้เคียง 80,000 - 100,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ มองว่าโดยทั่วไปตลาดหุ้นไทยจะมีหุ้น IPO เข้ามาจดทะเบียน ประมาณปีละ 40 - 50 บริษัท และน่าจะมีมาร์เก็ตแคปหุ้น IPO ในปีหน้าราว 250,000 ล้านบาท รวมถึงมีจำนวนผู้ลงทุนเพิ่มประมาณ 2 - 3 แสนบัญชี แต่ในช่วงโควิด-19 อาจเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ เพราะในปี 2563 มีผู้มาเปิดบัญชีหุ้นใหม่จำนวน 5 แสนบัญชี ส่วนปี 2564 กระโดดพุ่งขึ้นกว่า 1.5 ล้านบัญชี
"ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นการพัฒนาของตลาดทุนไทยที่มีหุ้นใหม่ เข้ามาจดทะเบียนเพิ่มมากขึ้น และมีปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง " นายภากร กล่าว
ทางด้านแนวโน้มฟันด์โฟลว์ต่างชาติ คาดว่าจะกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนยังเชื่อมั่นการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) และบางบริษัทเริ่มมีกำไรกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว
ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าปีนี้จะมีจำนวนกว่า 10 ล้านคน รวมถึงมองว่าประเทศไทยค่อนข้างแข็งแกร่งหากเทียบกับตลาดอื่น เพราะมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ระดับต่ำ,มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศค่อนข้างสูง และภาคธนาคารยังมีความเข้มแข็ง ตอนนี้ยังไม่เห็นจุดเปลี่ยนแปลงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ
ด้านนายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.- ต.ค.65 ) ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าการระดมทุนรวมของหุ้น IPO กว่า 1,812 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นแชมป์อันดับหนึ่งในตลาดภูมิภาคอาเซียนและอยู่ระดับต้น ๆของเอเซีย
โดยในเดือนตุลาคม 2565 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น (PCC) และใน mai 3 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. ทเวนตี้ โฟร์ คอน แอนด์ ซัพพลาย (24CS) บมจ. ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย (AMARC) บมจ. อินเตอร์เนชั่นแนล เน็ตเวิร์ค ซิสเต็ม (ITNS) โดยมูลค่าระดมทุนรวมในหุ้น IPO ของไทยปี 2565 อยู่ยังในระดับต้นๆ ของเอเชีย
ขณะที่ SET Index ณ สิ้นเดือนตุลาคม 65 ปิดที่ 1,608.76 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 1.2% จากเดือนก่อนหน้า โดยปรับเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค และเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 SET Index ปรับลดลงอยู่ที่ 2.9%
ในเดือนตุลาคม 2565 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 64,036 ล้านบาท ลดลง 27.5% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยใน 10 เดือนแรกปี 2565 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 80,208 ล้านบาท โดย ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 7,467 ล้านบาท ทำให้ใน 10 เดือนแรกปี 2565 ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิรวม 153,931 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6
Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 15.3 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 11.5 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 15.2 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 10.4 เท่า
อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 2.83% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.41%
ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
ในเดือนตุลาคม 2565 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 512,031 สัญญา ลดลง 24.4% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 TFEX ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 559,866 สัญญา เพิ่มขึ้น 1.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
อ่านเพิ่ม : ภาวะตลาดหลักทรัพย์ เดือนตุลาคม 2565