นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แถลง "ภาวะตลาดหุ้นไทย" ในเดือนเมษายน 66 พบว่า ในเดือนเมษายน มีเงินลงทุนเคลื่อนย้ายออกจากตลาดหุ้นหลายแห่งในภูมิภาค รวมถึงตลาดหุ้นไทย
ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 "SET Index" ปิดที่ 1,529.12 จุด ปรับตัวลดลง 5.0% จากเดือนก่อนหน้า และปรับลดลง 8.4% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า โดยปรับไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นใน ASEAN
ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 46,811 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 43.1% โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน 4 เดือนแรกปี 2566 อยู่ที่ 62,461 ล้านบาท
แม้ดัชนีจะปรับตัวลงทำให้ผู้ลงทุนสนใจกองทุนหุ้นไทยมากขึ้น โดยกองทุนหุ้นไทย (ไม่รวมกองทุนประหยัดภาษี) มีเงินไหลเข้าสุทธิสะสม 3 เดือนแรกรวมกว่า 3.3 พันล้านบาท ถือเป็นเงินไหลเข้าระดับพันล้านครั้งแรกในรอบ 3 ปี
ด้านนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนที่ 3 หลังจากซื้อสุทธิ 4 เดือนติดต่อ โดยในเดือนเมษายน 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 7,901 ล้านบาท และนักลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12
ส่วนอัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือน เมษายน 2566 อยู่ที่ระดับ 3.14% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.36%
พร้อมกันนี้ในเดือน เมษายน 2566 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 1 หลักทรัพย์ บมจ. มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) (MGC) และใน mai 1 หลักทรัพย์ บมจ. พีลาทัส มารีน (PLT)
อย่างไรก็ตามในเดือนเมษายน 66 ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นมีความผันผวนจาก ประเด็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของทาง ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ยังมีทิศทางปรับขึ้นต่อเนื่อง ขัดกับมุมมองของนักลงทุน
ส่วนประเด็นปัญหาธนาคารในสหรัฐฯที่เกิดขึ้นไม่น่ากังวลและเชื่อว่าจะไม่ลุกลามเป็นวงกว้าง
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่รายงานออกมาในเดือนล่าสุดสะท้อนให้เห็นถึงการส่งออก และการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในอนาคต
อีกทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนมีนาคม 2566 กลับมาเกินดุลสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาด โดยเป็นผลจากทั้งดุลการค้าและการบริการ ทำให้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค