"ศรัทธา" อดีตซีเอฟโอ STARK ไม่ยอมตายเดี่ยว ลาก 3 บิ๊กสั่งการ

04 ก.ค. 2566 | 10:49 น.
อัพเดตล่าสุด :04 ก.ค. 2566 | 11:15 น.

"ศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ" อดีตซีเอฟโอ STARK ส่งหนังสือถึงดีเอสไอ สารภาพหมดเปลือก ปมตกแต่งบัญชี สร้างธุรกรรมอำพราง พร้อมอ้างทำภายใต้คำสั่งบุคคล 3 ราย ยืนยันไม่ใช่การไซฟ่อนเงิน

นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ออกมาเปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ทำหนังสือไปถึง พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พร้อมทั้งได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อชี้แจงคดีของ "STARK"

โดยได้ยอมรับเรื่องการตกแต่งบัญชีที่เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นการไซฟ่อนเงิน ซึ่งดำเนินการภายใต้คำสั่งของบุคคลลำดับที่ 1, บุคคลลำดับที่ 2 และบุคคลลำดับที่ 3 เพื่อประโยชน์ต่อราคาของหุ้น STARK ซึ่งพิสูจน์ได้ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

"โดยตนมีความสัมพันธ์กับบุคคลทั้ง 3 รายในฐานะลูกจ้าง ฝ่ายบริหารที่ทำตามคำสั่ง รวมถึงการดูแลทางการเงินโดยใช้บัญชีของตนเอง โดยได้ประโยชน์เป็นค่าจ้าง ตามที่คงเหลืออยู่ในบัญชี"

ทั้งนี้ บุคคลลำดับที่ 1 ควบคุมสั่งการผ่านบุคคลลำดับที่ 2 โดยมีบุคคลลำดับที่ 3 จัดการเรื่องข้อกฎหมาย ส่วนตนกระทำการเรื่องแต่งบัญชี จัดการเรื่องการเงิน ซึ่งได้รับคำสั่งจากบุคคลลำดับที่ 2 พิสูจน์เอกสารต่าง ๆ ที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจของบุคคลลำดับที่ 1 เป็นผู้ลงนามมอบอำนาจ

ไม่ว่าสัญญาเงินกู้กับธนาคารค้ำประกันส่วนบุคคล เงินที่ได้จาการขายหุ้นและที่มาของบริษัทต่าง ๆ ของบุคคลลำดับที่ 1 เป็นการกู้ยืมจากธนาคารแห่งหนึ่ง เพื่อซื้อบริษัท โดยบุคคลลำดับที่ 2 และบุคคลลำดับที่ 3 เป็นผู้เลือก

รายละเอียดที่ตนกล่าวมาข้างต้น บุคคลลำดับที่ 1 คืออะไร ผลประโยชน์สูงสุดจากการดำเนินงานของบุคคลลำดับที่ 2 และบุคคลลำดับที่ 3 รวมถึงผลประโยชน์ตามที่ตนได้ทำตามคำสั่งจากบุคคลลำดับที่ 2

สำหรับการชี้แจงดังกล่าวเพื่อมิให้บุคคลลำดับที่ 1 เบี่ยงเบนประเด็นเป็นตนทุจริต ซึ่งประเด็นดังกล่าวเริ่มจาการแต่งบัญชี เพื่อผลประโยชน์ของบุคคลลำดับที่ 1 และตนมิได้มีความประสงค์จะหนีคดี เพื่อทำให้คดีเป็นประโยชน์ต่อบุคคลลำดับที่ 1 ดังกล่าว

พร้อมกันนี้ยอมรับว่า "ตนเป็นผู้กระทำการตกแต่งบัญชีบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งแต่เข้ามาปฏิบัติการในช่วงปี 2558 เพื่อสร้างมูลค่าเทียมและเตรียมความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในตลาดเหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม"

ทั้งนี้การตกแต่งบัญชีสร้างยอดขายปลอม ต้องมีการนำเงินจากธุรกิจอื่นมาชำระ โดยใช้บัญชีของตน ซึ่งพิสูจน์ได้จากการตรวจสอบของ บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PWC) ในการกลับรายการจะต้องมีเงินเข้าจากบัญชีส่วนตัว

ซึ่งการตกแต่งยอดขายปลอมก่อนหน้าปี 65 ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าราคาหุ้นปรับขึ้น ผู้ได้รับประโยชน์คือบุคคลลำดับที่ 1 พิสูจน์ได้จากตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังการทำ Backdoor Listing (การเข้าตลาดหุ้นโดยทางอ้อม)

ส่วนการแต่งบัญชีปี 2563, ปี 2564 และปี 2565 นั้น มีช่วงระยะเวลาหนึ่งที่บุคคลลำดับที่ 1 ทำการขายหุ้นให้กับนักลงทุนรายใหญ่อันมีบุคคลลำดับที่ 2 และบุคคลลำดับที่ 3 เป็นผู้ใหญ่ พิสูจน์ได้มีการออกข่าว มีการขายหุ้นรายการใหญ่ (Big Lot) มีเงินเข้าบัญชีบุคคลลำดับที่ 1

ขณะที่การแต่งยอดขายในปี 2565 ที่กรณีบริษัทด้านพลังงานขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง จะทำการซื้อหุ้น STARK จากบุคคลลำดับที่ 1 สัดส่วนเท่าใดไม่ทราบ แต่มีการลงนามห้ามเปิดเผยข้อมูล พิสูจน์ได้จากบริษัทพลังงานดังกล่าว มีการรายงานการประชุม แต่ไม่ทราบว่าทำไมยกเลิกไป ผู้กระทำการคือบุคคลลำดับที่ 2 และบุคคลลำดับที่ 3

สำหรับปัจจุบันผู้ที่เกี่ยวข้องใน STARK ที่เข้ามาใหม่ ตนรู้จักมานาน ตั้งแต่อยู่ในกลุ่มธุรกิจของบุคคลลำดับที่ 1 ย่อมให้ข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อบุคคลลำดับที่ 1