กังขา ก.ล.ต. สั่งอายัดทรัพย์ คดีหุ้น STARK ไม่มีแจ้งรายการ-บัญชี

08 ก.ค. 2566 | 05:07 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2566 | 05:38 น.

รายงานพิเศษ คดีหุ้น STARK ล่าสุด หลัง สำนักงาน ก.ล.ต. คำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดชุดแรก 10 ราย กังขาการสั่งอายัดทรัพย์ ไม่มีแจ้งรายการ-บัญชีที่ชัดเจน ทางพฤตินัยบริษัทจะทำธุรกรรมทางการเงินไม่ได้

จากกรณี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาศัยอำนาจตามความมาตรา 267 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้มีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดชุดแรก รวม 10 ราย เป็นเวลา 180 วัน กรณีที่เกี่ยวข้องกับบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ STARK 

โดย ก.ล.ต. เห็นว่าเนื่องจากปรากฏพฤติการณ์การกระทำผิดที่มีลักษณะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของประชาชนในวงกว้าง โดยปรากฏมูลค่าความเสียหายจากหนี้สินของบริษัท STARK ที่มีมากกว่า 38,000 ล้านบาท และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่าผู้กระทำความผิดจะยักย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินออกไป

ล่าสุด แหล่งข่าวจาก STARK กล่าวกับฐานเศรษฐกิจ โดยตั้งข้อสังเกตว่า หลังจาก ก.ล.ต. มีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดของบริษัท STARK ชุดแรก คำสั่งดังกล่าวโดยไม่ระบุรายการ และรายบัญชี การดำเนินการในลักษณะนี้โดยทางพฤตินัยบริษัทจะทำธุรกรรมทางการเงินไม่ได้ แม้การดำเนินการปกติ และการจ่ายเงินพนักงาน

 

ภาพประกอบข่าวคดีหุ้น STARK หลัง สำนักงาน ก.ล.ต. คำสั่งยึดอายัดทรัพย์สิน 10 ราย

แต่ที่ผ่านมามีกรณีพนักงานของ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ PDITL ซึ่งเป็น 1 ใน 10 รายชื่อที่ถูกกล่าวโทษกล่าวโทษว่ามีความเชื่อมโยงเกี่ยวกับข้องกับ STARK จนโดนอายัดทรัพย์สิน เดินทางมายื่นหนังสือ ให้กับตัวแทนของสำนักงาน ก.ล.ต. เนื่องจากพนักงานทั้งหมดมีความกังวลหลังจาก มีคำสั่งอายัดทรัพย์บริษัทในเครือของ สตาร์ค รวมถึงเฟ้ลปส์ ดอด์จ ด้วยนั้น

โดยทาง ก.ล.ต. ได้ออกมายืนยันว่า การสั่งอายัดทรัพย์สิน บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์และเป็นการอายัดทรัพย์เพียงเท่านั้น โดยไม่ได้ระงับการประกอบธุรกิจ ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินธุรกิจยังคงสามารถทำได้ รวมทั้งทางบริษัทยังสามารถจ่ายเงินเดือนให้กับทางพนักงาน และสามารถซื้อขายสินค้าได้เช่นเดียวกัน

แหล่งข่าวระบุว่า กรณีของการออกมาตอบคำถามว่า ยังสามารถถอนเงินเดือนได้ตามปกตินั้น ตามข้อกฎหมายแล้วยังสามารถถอนได้จริงหรือไม่ ในเมื่อการแจ้งยึดอายัดทรัพย์จะไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ และการดำเนินการตามขั้นตอนของการยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดจะต้องระบุรายละเอียดให้ชัดเจน ทั้ง ข้อมูลรายการ และรายบัญชีต่าง ๆ ที่ต้องทำการยึดอายัดด้วย

 

ภาพประกอบข่าวคดีหุ้น STARK หลัง สำนักงาน ก.ล.ต. คำสั่งยึดอายัดทรัพย์สิน 10 ราย

ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 267 ระบุว่า ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานว่าบุคคลใดกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ที่มีลักษณะอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ประชาชน และสำนักงาน มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้กระทำความผิดจะยักย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของตน ให้สำนักงาน ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลนั้นหรือ ทรัพย์สินซึ่งมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าเป็นของบุคคลนั้นได้ 

แต่จะยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ เกิน 180 วันไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาล ให้คำสั่งยึดหรืออายัดดังกล่าว ยังคงมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น และในกรณีมีเหตุจำเป็นไม่สามารถฟ้องคดีได้ ภายใน  180 วัน ศาลที่มีเขตอำนาจจะสั่งขยายระยะเวลาออกไปอีกตามคำขอของสำนักงานที่ได้ แต่จะขยายเวลาอีกเกิน  180 วันมิได้

พร้อมทั้งให้สำนักงานมีอำนาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการยึด หรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง และการยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับ โดยอนุโลม

ในกรณีตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลดังกล่าวจะหลบหนีออก นอกราชอาณาจักร เมื่อสำนักงานร้องขอ ให้ศาลอาญามีอำนาจสั่งห้ามมิให้บุคคลนั้นออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนได้ และในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีคำสั่งห้ามมิให้บุคคลนั้น ออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวได้ เป็นเวลาไม่เกิน 15 วันจนกว่าศาลอาญาจะมีคำสั่ง เป็นอย่างอื่น

 

ภาพประกอบข่าวคดีหุ้น STARK หลัง สำนักงาน ก.ล.ต. คำสั่งยึดอายัดทรัพย์สิน 10 ราย

 

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นผลมาจาก ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษบุคคล รวม 10 ราย เป็นชุดแรก ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้ดำเนินคดีกรณีตกแต่งงบการเงิน เปิดเผยข้อความอันเป็นเท็จในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ และกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง อันเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งประกอบด้วย 

1. บริษัท STARK 2. นายชนินทร์ เย็นสุดใจ 3. นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ 4. นายชินวัฒน์ อัศวโภคี 5. นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ 6. นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม 7. บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) 8. บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) 9. บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด และ 10. บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (บ.เอเชีย) 

ก.ล.ต. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาศัยอำนาจตามความมาตรา 267 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ได้มีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดชุดแรก รวม 10 รายดังกล่าว เป็นเวลา 180 วัน 

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังมีคำสั่งห้าม นายชนินทร์ เย็นสุดใจ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ นายชินวัฒน์ อัศวโภคี นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ และ นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม ไม่ให้ออกนอกประเทศเป็นการชั่วคราว มีกำหนด 15 วัน เนื่องจากมีเหตุฉุกเฉินอันควรสงสัยว่าบุคคลดังกล่าวจะหลบหนีออกนอกประเทศ โดยหลังจากนี้ ก.ล.ต.จะไปร้องขอต่อศาลอาญาเพื่อออกคำสั่งห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรต่อไป