จากกรณี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต.อาศัยอำนาจตามความมาตรา 267 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ได้มีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดที่ถูกกล่าวโทษ กรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK รวม 10 ราย เป็นเวลา 180 วัน และห้ามมิให้ผู้กระทำผิดออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว มีกำหนด 15 วัน
แต่จากความไม่ชัดเจนของคำสั่งอายัดทรัพย์สิน โดยไม่ระบุรายการ และรายบัญชี ทำให้บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) และบริษัทลูกอีก 4 แห่ง คือ บจก. เฟัลปส์ ดอดจ์ อินเตอร์นชั่นแนล (ไทยแลนด์) (PDITL) , บจก.อดิสรสงขลา (ADS) , บจก.เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง (APDE) และ บจก.ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล (TCI) ซึ่งมีพนักงานรวมร่วม 4,000 คน ปั่นป่วนหนัก เพราะคำสั่ง ก.ล.ต.ในลักษณะนี้โดยทางพฤตินัยบริษัทจะทำธุรกรรมทางการเงินไม่ได้
ถึงแม้ว่า ก.ล.ต.จะออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดกรณี STARK รวม 10 ราย โดยอาศัยอำนาจตามความมาตรา 267 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 6 ก.ค.66 ก.ล.ต.ขอให้ข้อมูลว่า คำสั่งดังกล่าวไม่มีวัตถุประสงค์ในการปิดกิจการบริษัท และบริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อได้
"คำสั่งอายัดทรัพย์สิน บจก.เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) หรือ PDITL และบริษัทในกลุ่ม STARK เพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์และเป็นการอายัดทรัพย์เพียงเท่านั้น ไม่ได้ระงับการประกอบธุรกิจ การดำเนินธุรกิจยังคงสามารถทำได้ รวมทั้งทางบริษัทยังสามารถจ่ายเงินเดือนให้กับทางพนักงาน และสามารถซื้อขายสินค้าได้เช่นเดียวกัน " นางพัฒนพร ไตรพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวย้ำ
STARK ไม่ส่งกรรมการชี้แจง ก.ล.ต. ?
ขณะที่ข้อมูลอีกด้าน มีรายงานว่า มูลเหตุที่คำสั่งอายัดทรัพย์สินของ ก.ล.ต.ไม่ระบุชัดเจนว่า เป็นการอายัดรายการหรือบัญชีไหน สืบเนื่องจากหนังสือที่ก.ล.ต.ส่งถึงกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท STARK และบริษัทลูก 4 แห่ง ลงวันที่ 27 มิ.ย.66 เพื่อให้เข้าชึ้แจง "การกระทำอันอาจเข้าข่ายความผิดตามพรบ.หลักทรัพย์แและตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535" โดยในท้ายหนังสือระบุว่า
หากบริษัทท่านมีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใดที่ประสงค์จะอธิบายหรือขี้แจง ก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเสนอผลการตรวจสอบและความเห็นต่อสำนักงาน ขอให้บริษัทท่านจัดทำคำอธิบายหรือคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมส่งมอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) ไปให้ พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน 7 วันนับจากวันที่ในหนังสือฉบับนี้
ทั้งนี้ หากบริษัทท่านมีได้ขี้แจงภายในเวลาที่กำหนด พนักงานเจ้าหน้าที่จะถือว่าบริษัทท่านสละสิทธิ์ ในการชี้แจงและจะเสนอผลการตรวจสอบพร้อมความเห็นต่อสำนักงานเพื่อพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควรต่อไป
"การปฏิบัติของก.ล.ต.ทำตามหน้าที่ โดยเมื่อมีหนังสือถึงบริษัทฯ กรรมการในฐานะนิติบุคคลคือตัวแทน ย่อมต้องชี้แจง และเมื่อ ก.ล.ต.แจ้งโทษว่าจะอายัดทรัพย์สิน กรรมการก็ต้องนำร่างคำสั่งฯ ก.ล.ต.ไปยังศาลปกครองกลาง ฯ ยื่นขอความคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้บริษัทสามารถฯทำธุรกรรมทางการเงินได้ ไม่ใช่ใช้วิธีเอาพนักงาน เจ้าหนี้การค้าไปบีบ ก.ล.ต."
แหล่งข่าว กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า กรณีนี้จึงมีความเป็นไปได้ว่า STARK และบริษัทลูก อาจไม่ได้ส่งกรรมการเข้าชี้แจง ซึ่งทั้ง 5 บริษัทมีกรรมการชุดเดียวกัน ทั้ง ๆที่บริษัทฯ ก็มีนักกฏหมายทราบดีอยู่แล้ว และ STARK ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ควรจะเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะทราบ ( แจ้งต่อ ตลท. )
แนะทางออกบริษัทนิติบุคคลที่ถูกอายัดทรัพย์
สำหรับทางออกเฉพาะหน้า นักกฎหมายแนะนำว่า ทางบริษัท STARK และบริษัทลูกทั้ง 4 บริษัทนิติบุคคลที่ถูกคำสั่งอายัดทรัพย์สิน จะต้องไปยื่นขอคุ้มครองชั่วคราว ที่ศาลปกครองกลาง เพราะคำสั่งอายัดของบอร์ด ก.ล.ต.เป็นคำสั่งทางปกครอง สามารถให้เหตุผลว่าคำสั่งอายัดทรัพย์สินเกิดขึ้นเพราะพบการกระทำผิดของบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลเลย หรือร้องขอให้ศาลพิจารณาให้บริษัทสามารถจ่ายเงินเดือนพนักงาน รวมถึงค่าน้ำ ค่าไฟและเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจปกติ เชื่อว่าน่าจะมีทางออกที่ดีกว่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปจนกอบกู้สถานการณ์กลับมาไม่ได้
ขณะเดียวกันให้พนักงานของบริษัทเหล่านี้ไปกระทรวงแรงงาน ร้องขอความช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง เชื่อว่าน่าจะได้รับความเห็นใจ เพื่อให้บริษัทจ่ายเงินเดือนได้ตามปกติ
ด้านนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ อดีตรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) ออกแถลงการณ์ (7 ก.ค.66 ) ระบุ การอายัดทรัพย์สินของอดีตกรรมการ ผู้ถือหุ้นใหญ่ โดย ก.ล.ต. ถือเป็นการทำตามหน้าที่ ไม่มีประเด็น แต่การอายัดทรัพย์สินบริษัทที่ยังประกอบธุรกิจอยู่ ตั้งแต่ตัว บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น, บริษัท เฟล้ปส์ ดอด์จ อินเตอร์, บริษัท อดิสรสงขลา และ บริษัท ไทยเคเบิ้ล ทำให้เกิดคำถามตามมาทันที ว่าบริษัทพวกนี้จะไปอย่างไรต่อ จะจ่ายเงินเดือนพนักงาน จ่ายเงินซัพพลายเออร์ได้ไหม ถ้าไม่ได้ ต้องหยุดโรงงานไป 180 วัน แล้วจะผิดสัญญาส่งมอบสินค้าหรือไม่ ยิ่งเฟล้ปส์ ดอด์จขายสายไฟให้การไฟฟ้า ถ้าผิดสัญญา ส่งของไม่ได้ โดนแบล็กลิสต์ แล้วจะไปอย่างไรต่อ
ทั้งนี้คนกลุ่มแรกที่เดือดร้อนโดยตรงจากการอายัดทรัพย์สินดังกล่าวคือ พนักงานบริษัทที่ต้องถูกลอยแพ และบรรดาคู่ค้าที่วางบิลไปแล้ว หรือผลิตของ ส่งของให้ แต่ยังไม่ได้เงิน คนพวกนี้จะได้รับเงินเดือนสิ้นเดือนนี้ไหม พนักงานคงเตรียมหางานใหม่ คู่ค้าก็เลิกคบ
ต่อมาที่เดือดร้อนคือแบงก์ที่ปล่อยกู้เฟล้ปส์ ดอด์จตรง ซึ่งก่อนหน้านี้แบงก์กำลังเจรจากับผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ค้ำประกันหนี้ไว้ 2 หมื่นล้านบาท โดยมีแผนจะเอาเฟล้ปส์ ดอด์จเข้าฟื้นฟูกิจการ เพื่อที่แบงก์จะได้ปล่อยสินเชื่อให้ต่อลมหายใจ ในระหว่างที่ขายกิจการต่างๆ ทั้งที่เป็นของสตาร์ค และเป็นของเฟล้ปส์ ดอด์จเพื่อเอาเงินมาชำระหนี้ แต่เมื่อโดนอายัดแบบนี้ แปลว่าจะไม่สามารถเอาเข้าฟื้นฟูกิจการได้ จะให้กู้เอาเงินมารันโรงงานก็ไม่ได้ เพราะถ้ารอ 180 วันครบเวลาอายัด บริษัทพวกนี้ก็กลายเป็นซากกิจการ โดนแบล็กลิสต์โดยการไฟฟ้าไปเรียบร้อย
นายวนรัชต์ ยอมรับว่า เดิมมีแผนที่จะทำการขายทรัพย์สินทั้งของสตาร์คและเฟล้ปส์ ดอด์จออกไป บวกกับหาอัศวินขี่ม้าขาว (White Knight) มาซื้อกิจการ นอกจากกิจการไปต่อได้ ยังน่าจะได้เงินมาจ่ายคืนผู้ถือหุ้นกู้บ้าง ไม่มากก็น้อย แต่วันนี้ คำสั่งของ ก.ล.ต. ทำให้แผนนี้ต้องถูกพับไป เพราะแบงก์รอฟ้องล้มละลาย เอาซากโรงงาน ที่ดิน มาขายทอดตลาด มูลค่าจากร้อยอาจจะเหลือยี่สิบ
"คนเดียวที่น่าจะยิ้มน้อยยิ้มใหญ่คือพวกกลุ่มทุนในกิจการเคเบิลที่มาจีบแบงก์ขอซื้อกิจการทั้งในไทยและเวียดนาม ที่รออีกหน่อย ราคาตกลงเรื่อย ๆ รอจ่ายแค่ 20% ของมูลค่ากิจการก่อนวันโดนอายัดก็ได้"