DSI เรียก “วนรัชต์” รับทราบข้อกล่าวหาคดี STARK สัปดาห์หน้า

09 ก.ค. 2566 | 02:22 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2566 | 03:04 น.

DSI ออกหมายเรียก "วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ" พร้อมพวก รับทราบข้อกล่าวหาคดีหุ้น STARK สัปดาห์หน้า ยันพร้อมดำเนินคดีกับบุคคลทุกราย

หลังจากสำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) กรรมการ อดีตกรรมการและอดีตผู้บริหารของ STARK รวม 10 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) หรือ ดีเอสไอ

กรณีร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีเอกสารของ STARK และบริษัทย่อย ในช่วงปี 2564 - 2565 เพื่อลวงบุคคลใดๆ และเปิดเผยงบการเงินในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวนที่เชื่อได้ว่ามีการตกแต่งงบ รวมทั้งปกปิดความจริงในข้อมูล factsheet เสนอขายหุ้นกู้ STARK ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง

 

ล่าสุดแหล่งข่าวระดับสูงจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยว่า ดีเอสไอได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาบางส่วนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ทายาทสีชื่อดัง และในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ STARK ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาภายในสัปดาห์หน้า ส่วนวันเวลาไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเราต้องให้ความปลอดภัยและให้พื้นที่การทำงานแก่พนักงานสอบสวนด้วย

สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 10 รายที่ ก.ล.ต. ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ ดีเอสไอได้มีรวบรวม แสวงหาพยานหลักฐานอย่างต่อเนื่อง จนปรากฏข้อเท็จจริง พิจารณาประกอบกันเป็นเหตุให้สามารถออกหมายเรียกผู้ต้องหาคาดว่า จะมีการทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามลำดับ และยืนยันว่า ดีเอสไอพร้อมดำเนินคดีกับบุคคลทุกรายที่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดเจนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด แม้บุคคลนั้นจะมีตำแหน่งหน้าที่อยู่ในธนาคารเอกชนชื่อดังขนาดใหญ่ก็ตาม

ทั้งนี้คณะพนักงานสอบสวนจะมีการจัดเตรียมชุดทำงานให้พร้อม เพื่อแบ่งทีมการสอบปากคำผู้ต้องหาทั้งหมด ส่วนเรื่องพยานเอกสารต่างๆ ผู้ต้องหาที่เข้าพบพนักงานสอบสวน สามารถนำข้อมูลใดมาเพื่อชี้แจงก็ได้

ส่วนทางดีเอสไอจะต้องดำเนินการอายัดทรัพย์บัญชีธนาคารของนายวนรัชต์ หลังถูกออกหมายเรียกแล้วหรือไม่ แหล่งข่าวกล่าวว่า เท่าที่ทราบว่าทาง ก.ล.ต. ได้ดำเนินการในส่วนนี้ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นการอายัดที่เกิดจากสาเหตุที่ว่า หากหน่วยงานใดเจอหรือพบหลักฐานที่เห็นว่าเงินจำนวนเหล่านั้นได้มาจากการกระทำความผิด ก็สามารถอายัดเงินได้ ส่วนเรื่องจำนวนเงินหรือรายละเอียดทางบัญชีธนาคาร จะเป็นในส่วนของ ก.ล.ต. รับผิดชอบ

สำหรับประเด็นการอายัดทางทะเบียนรถยนต์หรู 4 คัน ของนายชนินทร์ เย็นสุดใจ เพื่อนำไปสู่การขยายผลถึงผู้ครอบครองตัวรถในปัจจุบันนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามตรวจสอบถึงบุคคลผู้ครอบครองรถยนต์หรูดังกล่าว ได้แก่

  • BMW 630i Gran Turismo RHD ทะเบียน 1 กญ-0289 กรุงเทพมหานคร
  • MINI COOPER S Cabrio RHD สีน้ำเงิน ทะเบียน  1ขศ-0042 กรุงเทพมหานคร
  • MERCEDES BENZ AMG GLA 35 4MATIC สีเทา ทะเบียน 2ขร-1162 กรุงเทพมหานคร
  • ROLLS-ROYCE DAWN สีดำ ทะเบียน 8กร-0011 กรุงเทพมหานคร

เบื้องต้นคณะพนักงานสอบสวนคาดการณ์ว่า ผู้ครอบครองคงไม่พ้นบุคคลใกล้ชิดของนายชนินทร์ ซึ่งดีเอสไอจะสามารถติดตามทั้งตัวรถและผู้ครอบครองมาได้ ส่วนพฤติการณ์ที่อาจเข้าข่ายถูกพิจารณาแจ้งข้อหาร่วมกันฟอกเงิน ยักย้าย ถ่ายเททรัพย์สิน อาทิ มีการรับ-โอนรายการทรัพย์สินนั้นอย่างไร และเจตนาของผู้ครอบครองนั้นทราบหรือไม่ว่าเป็นรถยนต์หรูเหล่านี้ที่มาจากเงินของการบริหารจัดการ STARK หรือไม่ รวมถึงยังจะเร่งขยายผลตรวจสอบในเรื่องของเส้นทางการเงินร่วมด้วย

ส่วนกรณีกรรมการของ STARK ยื่นลาออก 3 รายและมีผลตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา จะไม่มีผลในทางคดีอาญาที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอกำลังดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอจะต้องไปตรวจสอบดูว่า บุคคลเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องของการทุจริตตกแต่งบัญชีบริษัทด้วยหรือไม่ หรืออยู่ในห้วงระยะเวลาของการเกิดเหตุหรือไม่ จึงไม่สามารถยืนยันในข้อเท็จจริงได้ว่า ขณะนี้ทั้งหมดจะเกี่ยวข้องหรือมีผลต่อสำนวนคดีด้วยหรือไม่

สำหรับบุคคล 10 ราย ที่ก.ล.ต.ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อดีเอสไอประกอบด้วย  

  1. บริษัท STARK
  2. นายชนินทร์ เย็นสุดใจ
  3. นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ
  4. นายชินวัฒน์ อัศวโภคี
  5. นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ
  6. นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม
  7. บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL)
  8. บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI)
  9. บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด
  10. บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (บ.เอเชีย)