ทำความรู้จัก มาตรา 267 หลัง ก.ล.ต. ใช้อายัดทรัพย์ "STARK"

08 ก.ค. 2566 | 22:45 น.

ทำความรู้จัก มาตรา 267 ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หลัง สำนักงาน ก.ล.ต. ออกคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สิน ผู้กระทำผิดชุดแรก 10 ราย ของ "STARK" ถือเป็นการประกาศใช้ครั้งแรกรอบ 10 ปี

หลายคนอาจตั้งข้อสงสัย และอยากรู้ถึงรายละเอียดใจความของ "มาตรา 267" จากกรณีที่ทาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาศัยอำนาจตามความ มาตรา 267 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้มีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดชุดแรก รวม 10 ราย ระยะเวลา 180 วัน กรณีที่เกี่ยวข้องกับ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ STARK 

ทำให้เกิดคำถามว่า มาตรา 267 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มีใจความอย่างไร และมีขอบเขตอำนาจในการอายัดทรัพย์ ครอบคลุมมากน้อยเพียงใด หากเป็นบริษัทที่ถูกอายัดทรัพย์จะทำอะไรบ้าง หรืออะไรทำไม่ได้

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้ตรวจสอบข้อกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ระบุไว้ใน มาตรา 267 ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานว่าบุคคลใดกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ที่มีลักษณะอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ประชาชน

และสำนักงาน มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้กระทำความผิดจะยักย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของตน ให้สำนักงาน ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลนั้นหรือ ทรัพย์สินซึ่งมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าเป็นของบุคคลนั้นได้

แต่จะยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้เกิน 180 วันไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาล ให้คำสั่งยึดหรืออายัดดังกล่าว ยังคงมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น และในกรณีมีเหตุจำเป็นไม่สามารถฟ้องคดีได้ ภายใน 180 วัน ศาลที่มีเขตอำนาจจะสั่งขยายระยะเวลาออกไปอีกตามคำขอของสำนักงานที่ได้ แต่จะขยายเวลาอีกเกิน 180 วันมิได้

พร้อมทั้งให้สำนักงานมีอำนาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการยึด หรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง และการยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับ

โดยอนุโลมในกรณีตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลดังกล่าวจะหลบหนีออก นอกราชอาณาจักร เมื่อสำนักงานร้องขอ ให้ศาลอาญามีอำนาจสั่งห้ามมิให้บุคคลนั้นออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนได้

และในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีคำสั่งห้ามมิให้บุคคลนั้น ออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวได้ เป็นเวลาไม่เกิน 15 วันจนกว่าศาลอาญาจะมีคำสั่ง เป็นอย่างอื่น

ซึ่งข้อความตามข้อกฎหมายที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น ในมาตรา 267 ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า การดำเนินธุรกิจจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ทั้งการจ่ายเงินเดือนพนักงาน หรือ การสั่งซื้อสินค้า จะกระทำได้หรือไม่ได้ โดยยังเป็นข้อถกเถียง ว่าทางบริษัทที่ถูกประกาศอายัดทรัพย์ ที่มีรายชื่อดังกล่าวจะดำเนินธุรกิจได้อย่างไร ทำอะไรได้ หรือไม่ได้

แม้ทาง สำนักงาน ก.ล.ต. จะออกมาระบุก่อนหน้านี้ โดยนางพัฒนพร ไตรพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. ว่า การสั่งอายัดทรัพย์สิน เพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์ และเป็นการอายัดทรัพย์เพียงเท่านั้น 
ไม่ได้ระงับการประกอบธุรกิจ 

"เชื่อว่าการดำเนินธุรกิจยังคงสามารถทำได้ รวมทั้งทางบริษัทยังสามารถจ่ายเงินเดือนให้กับทางพนักงาน และสามารถซื้อขายสินค้าได้เช่นเดียวกัน" นางพัฒนพร กล่าว

รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 267 ในการอายัดทรัพย์ครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นประกาศบังคับใช้ครั้งแรกในรอบ 10 ปี

มาตรา 267 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535