บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ "AIS" เผยผลประกอบการประจำไตรมาส 2 ประจำปี 2566 ทำรายได้รวมอยู่ที่ 44,774 ล้านบาท ลดลง 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 4.1% จากไตรมาสก่อน จากปัจจัยตามฤดูกาลของการขายโทรศัพท์เคลื่อนที่
ขณะที่บริษัทมีกำไรสุทธิที่ 7,180 ล้านบาท เติบโตขึ้น 14% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปีก่อน และเติบโตขึ้น 6.3% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) เท่ากับ 23,317 ล้านบาท เติบโต 4.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า พร้อมยกระดับ AIS สู่การเป็น Cognitive Tech-Co หรือผู้ให้บริการเทคโนโลยีอัจฉริยะ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น
รวมถึงเราสามารถนำแนวทางดังกล่าว เข้ายกระดับการทำงานในองค์รวม ตั้งแต่งานปฏิบัติการโครงข่ายอัจฉริยะ เพื่อพัฒนาคุณภาพสัญญาณสื่อสารให้แม่นยำ และสามารถแก้ไขปัญหาได้แบบ Realtime ผ่านการใช้ AI ร่วมกับการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบ IT ที่ความรวดเร็ว และมีความปลอดภัย
ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 และครึ่งปีแรกนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แม้จะมีความกังวลสำหรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
แต่ในขณะเดียวกันเราเริ่มเห็นเศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้ง จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญต่อ Ecosystem Economy ของประเทศ
สำหรับรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เติบโตขึ้น 1.0% จากไตรมาส 2 ปีก่อน และ 0.8% จากไตรมาสก่อนโดยมีจำนวนผู้ใช้บริการ 5G เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมแล้วกว่า 7.8 ล้านราย
เติบโตขึ้นจาก 3.9 ล้านรายในไตรมาส 2 ปีก่อน ในขณะที่ปัจจุบัน AIS มีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่รวม 45.3 ล้านเลขหมาย แลมีโครงข่าย 5G ที่ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการกว่า 99% ในกรุงเทพ และ 87% ของพื้นที่ประชากร
ขณะที่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ยังคงขยายพื้นที่บริการอินเทอร์เน็ตบ้านอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี ทั้งการเชื่อมโยงอุปกรณ์กระจายสัญญาณ และสร้างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระดับ Gigabit
โดย AIS Fibre มีรายได้เติบโตกว่า 15% จากไตรมาส 2 ปีก่อน และเติบโตต่อเนื่อง 5.4% จากไตรมาสก่อน มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 60,500 รายต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนและ มีฐานลูกค้ารวมกว่า 2.33 ล้านราย
ทั้งนี้ในครึ่งปีหลัง AIS ยังคงเดินหน้าลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพบริการและโครงข่ายอัจฉริยะ 5G เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดผู้ใช้งาน เสริมขีดความสามารถของกลุ่มธุรกิจหลัก
ควบคู่เดินหน้าขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงในพื้นที่ใหม่ๆ รวมไปถึงการพัฒนาโครงข่ายและโซลูชันสำหรับภาคธุรกิจ บนงบประมาณ 27,000-30,000 ล้านบาท