(8 ส.ค.66) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการ ลงโทษทางแพ่ง กับบุคคล 2 ราย ได้แก่ "นางสาวลักษณา ทรัพย์สาคร" และ "นายสมมารถ ธูปจินดา" ในกรณีร่วมกันซื้อหุ้น บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) (TIPCO) โดยอาศัยข้อมูลภายในที่ตนรู้หรือครอบครอง โดยให้ผู้กระทำผิดชำระเงินรวม 4,970,880 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามทั้ง 2 รายเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร
สืบเนื่องจากทาง สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับข้อมูลจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และตรวจสอบเพิ่มเติม พบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทำให้เชื่อได้ว่า นางสาวลักษณา ซึ่งเป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของ TIPCO และกรรมการของบริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) (TASCO)
ได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในที่ส่งผลกระทบด้านบวกต่อราคาหุ้น TIPCO เกี่ยวกับการประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล (ครั้งที่ 2) ประจำปี 2563 และเงินปันผลประจำปี 2563 ของ TIPCO ในอัตรารวมหุ้นละ 0.69 บาท ซึ่งเป็นการจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากรอบปกติ และเป็นการจ่ายในอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปีของ TIPCO
โดยภายหลังการล่วงรู้ข้อมูลภายในดังกล่าว นางสาวลักษณาได้ร่วมกับนายสมมารถซื้อหุ้น TIPCO ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายสมมารถ ก่อนที่ TIPCO จะเปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564
การกระทำของนางสาวลักษณาและนายสมมารถ กรณีร่วมกันซื้อหุ้น TIPCO โดยอาศัยข้อมูลภายในดังกล่าว เป็นความผิดตามมาตรา 242(1) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 2 ราย ดังกล่าว
โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต.
เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ (ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร) ดังนี้
สำหรับการกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด
หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่อัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง