SCB CIO เปิดคำภีร์ลงทุนปี67 ฝ่า 5 ปัจจัยเสี่ยง จัดพอร์ตคาดผลตอบแทน 7-10%

29 พ.ย. 2566 | 01:15 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2566 | 01:19 น.

SCB CIO ฟันธงตลาดหุ้นทั่วโลก 67 "ครึ่งปีแรกผันผวนสูง" 5 ปัจจัยเสี่ยง"ศก.โลกชะลอ-หนี้เอกชน ฯลฯ" แนะจัดพอร์ตรับโอกาสผลตอบแทน 7-10% เพิ่มลงทุนใน"สินทรัพย์ตปท." มองหุ้นไทย "กำไรบจ.โต 15%" พระเอกหนุนปีหน้า ดันเป้าดัชนีครึ่งหลังทะยาน 1,750 จุด

นายศรชัย สุเนต์ตา CFA SCB Wealth Chief Investment Officer ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Investment Office and Product Function กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ปี 2566 ที่กำลังผ่านไป ถือเป็นปีแห่งความผันผวน เริ่มต้นปีด้วยความกังวลเศรษฐกิจถดถอย มาสู่ปลายปีด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวแบบจัดการได้ ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงและค้างนาน (Higher for longer) กำลังนำไปสู่ความคาดหวังว่าธนาคารกลางหลักจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย (Rate pause expectation) ส่วนประเด็นสงคราม ยังมีทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ขณะที่การไหลออกของเงินทุนจากตลาดไทยไปต่างประเทศยังคงมีอยู่และความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งส่งผลให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ชัดเจน และล่าช้าออกไป

 

5 ปัจจัยเสี่ยงส่งผลปี 67 เตือนระมัดระวังการลงทุน

ปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่ข้อสรุปในปี 2567 ใน 5 ด้าน นั่นคือ

1.เศรษฐกิจทั่วโลกปี 67 ชะลอตัวลงซึ่งไม่เหมือนกันในแต่ละประเทศ (Uneven slowdown)  2.ดอกเบี้ยคาดจะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า 3.ภาวะ Stagflation หรือ เศรษฐกิจเติบโตช้า แต่เงินเฟ้อสูง 4.ธุรกิจที่มีหนี้ใกล้ครบกำหนดจำนวนมาก อาจมีความเสี่ยงที่ต้องกู้ยืมใหม่ (rollover) ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมาก และ 5 ความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งในประเทศหลักๆ ที่จะทำให้ตลาดการลงทุนมีความผันผวน รวมถึงสภาพคล่องทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงจากการใช้นโยบายดูดเงินในระบบกลับออกมา (Quantitative Tightening : QT)

ด้วยเหตุผลนี้ SCB CIO แนะนำให้ระมัดระวังการลงทุน แบ่งเงินลงทุนในต่างประเทศ ที่มีโอกาสรับผลตอบแทนที่ดี จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าไทย โดยควรเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูง ไม่ว่าจะเป็น การทยอยลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้คุณภาพสูง (Investment Grade) หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง (High Yield) ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้น ควรทยอยสะสมหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่มีงบดุลที่แข็งแกร่ง มีกำไรเติบโตสม่ำเสมอ สามารถรองรับธุรกิจชะลอตัว และรักษาอัตรากำไรได้ดี เช่น 7 บริษัทที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) มากที่สุดในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่วนตลาดหุ้นอื่นที่แนะนำ ได้แก่ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น และ อินเดีย ขณะที่ ตลาดหุ้นไทย มีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจที่ได้แรงหนุนจากการส่งออก ท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นภาครัฐฯ ท่ามกลาง Valuation ที่อยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

จัดพอร์ตลงทุนคาดหวังผลตอบแทน  7-10%
          
นายศรชัย กล่าว่า พอร์ตลงทุนที่แนะนำเพื่อคาดหวังผลตอบแทน 7-10% กรณีเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง (Wealth) รับความเสี่ยงได้สูง เข้าใจผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อน แนะจัดพอร์ตดังนี้

  • 15% ไว้ในบัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ (FCD) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือเลือกรับผลตอบแทนระหว่างรอแลกอัตราแลกเปลี่ยนที่ต้องการ ด้วยผลิตภัณฑ์ Dual Currency Note Pricing (DCI) ที่ให้ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนที่ลูกค้าต้องการ 
  • 15% ลงทุนตราสารหนี้ เน้นตราสารหนี้ระยะยาว 
  • 30% ลงทุนในหุ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่เป็นกลุ่มคุณภาพ เติบโตสูง โดยควรมีหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสร้างผลบวกด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในพอร์ตด้วย
  • 10% ลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ Capped Floored Floater Noted 
  • 10% หุ้นกู้อนุพันธ์อื่นๆ 
  • 10% สินทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ (Private Asset) 
  • 10% สินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนต่างๆ

ปี 67 เป้าดัชนี SET ครึ่งหลังคาดทะยานแตะ 1,750 จุด

นายสุกิจ  อุดมศิริกุล  กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์  (INVX) เปิดเผยว่าตลาดหุ้นไทยในปี 2567 แม้ว่าจะยังคงมีความอึมครึม แต่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าปี 2566 เนื่องจากระดับ SET Index ในปัจจุบันถือว่าต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน (undervalue) โดยคาดว่าตลาดยังมีความผันผวนสูงในช่วงครึ่งปีแรก และ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ประเมินเป้าหมาย SET Index ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ราว 1,750 จุด

ปัจจัยที่คาดว่าจะสร้างความผันผวนให้กับตลาด ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่รุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะปี 67 จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน และประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมถึง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และ อิสราเอล-ฮามาส ซึ่งมีความเสี่ยงกระทบต่อราคาอาหารและพลังงานให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ความแปรปรวนของภูมิอากาศโลกและปรากฏการณ์เอลนีโญในประเทศไทยมีโอกาสสร้างผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม

ในขณะที่ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจชะลอตัวหรือถดถอย เป็นปัจจัยที่ตลาดมีการคาดการณ์ว่าผลกระทบไม่รุนแรงมากเป็นเพียง Soft Landing หรือ Mild Recession ส่วนอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯมีโอกาสปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังปี 67 ช่วยสร้างโอกาสให้เงินทุนต่างชาติไหลกลับมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ จากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่า

"ผลประกอบการ บจ." มาแรงหนุนตลาดหุ้นไทยปี 67   

ปัจจัยหนุนตลาดหุ้นไทยในปี 2567 จะมาจากปัจจัยในประเทศเป็นหลัก ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เนื่องจากคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่งผลให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นและกลับมาลงทุนเพิ่ม แม้ว่าจะยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน Digital wallet อยู่บ้างก็ตาม เนื่องจากโดยภาพรวมคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3-4% สูงกว่าปี 66 ที่ขยายตัวต่ำกว่า 3% ขณะเดียวกัน คาดว่าผลการดำเนินงานของบจ.จะขยายตัวได้ถึง 10-15% ดีกว่าปี 66 ที่ชะลอตัว 10%

3 กลุ่มหุ้นเด่น - หุ้นกลุ่ม ESG ต้องมีในพอร์ต

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนในปีหน้าแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

  • 1) กลุ่มที่ผลการดำเนินงานเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ย ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มการแพทย์ กลุ่มขนส่ง
  • 2) กลุ่มที่ราคาลดลงจากการที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานยังคงแข็งแกร่ง ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้า และ REIT/IFF
  • 3) หุ้นที่ได้ ESG Score สูง  ระดับ AAA จาก SET แต่ราคาลดลงมามาก    

นอกจากนี้ INVX มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาให้บริการนักลงทุนบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างความสะดวก รวดเร็ว ในการเข้าถึงบริการด้านการลงทุนแบบครบวงจร เช่น การสร้าง Application ที่สามารถลงทุนได้ครบทุกสินทรัพย์เพียงแอปเดียวหรือตัวช่วยแจ้งข้อมูลข่าวสาร (Personalized Wealth Alert) ผ่านแอป InnovestX และ Streaming สำหรับการลงทุนในหุ้นไทย และทาง INVX research ได้มีการนำเทคโนโลยี ChatGPT- Open AI มาช่วยพัฒนาการทำงานวิจัยทั้งในเชิงคุณภาพและเพิ่มปริมาณให้ครอบคลุมจำนวนหุ้นได้มากขึ้น โดยใช้ระยะเวลาจัดทำลดลง ล่าสุดประสบความสำเร็จในการจัดทำบทวิเคราะหุ้นต่างประเทศโดยใช้ ChatGPT ช่วยเขียนบทวิเคราะห์