งบปี 2566 ที่ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ประกาศออกมา ต้องถือว่าสาหัสเอาการ โดยขาดทุนสุทธิ 3,880 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 37.1% จากปี 2565 ที่ขาดทุนสุทธิ 2,830 ล้านบาท และสูงกว่าที่บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้แต่เดิม ( บล.กรุงศรีฯ คาดไว้ที่ -3,689 ล้านบาท , บล.ทิสโก้ คาดไว้ที่ -3,525 ล้านบาท และ บล.กสิกรไทย คาด - 3,447 ล้านบาท ) โดยเป็นผลจากยอดการจัดส่งพัสดุที่ลดลงถึง 30% ฉุดรายได้จากการขายและบริการของบริษัทปี 2566 ร่วง 32.5% (YoY) เหลือเพียง 11,470.3 ล้านบาท
จากข้อมูลที่ KEX แจ้งตลท. เมื่อส่องงบไส้ใน บริษัทมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2566 ลดลง 25.1% (YoY) อยู่ที่ 9,055.7 ล้านบาท จากสิ้นปี 2565 ที่ 12,093.2 ล้านบาท ส่วนหนี้สินรวมเพิ่มขึ้น 14.6% (YoY) อยู่ที่ 6,412.8 ล้านบาท จากสิ้นปี 2565 ที่ 5,595.5 ล้านบาท ส่งผลให้"ส่วนของผู้ถือหุ้น"ตามงบ ณ สิ้นปี 2566 ลดมาอยู่ที่ 2,653.26 ล้านบาท หรือลดลง 59.2 % ( YoY) จากสิ้นปี 2565 ที่มี 6,499.8 ล้านบาท
สภาพคล่องตึงตัว-เงินสดลดลง
ส่วนสภาพคล่องบริษัท พบว่าเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นปี 2566 เหลือเพียง 736.3 ล้านบาท ลดลง 66.0% จากสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 2,163.0 ล้านบาท โดยระหว่างปี 2566 บริษัทมีการกู้ยืมเงิน 1,640.7 ล้านบาท มาจาก
ขณะที่มีหนี้สินตามสัญญาเช่าที่มีกำหนดชำระภายใน 1 ปี จำนวน 1,441.1 ล้านบาท เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่น 1,717.7 ล้านบาท หนี้สินตามสัญญาเช่าอยู่ที่ 775.3 ล้านบาท เจ้ำหนี้บริการเก็บเงินปลายทาง 614.8 ล้านบาท ฯลฯ
อัตราส่วนสภาพคล่องของบริษัท ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 0.41 เท่า จากปี 2565 อยู่ที่ 1 เท่า ( สะท้อนสภาพคล่องเทียบกับความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้น : ปกติไม่ควรต่ำกว่า 1 เท่า ) ในขณะที่ อัตราส่วนสภาพคล่องหมุนเร็ว อยู่ที่ 0.38 เท่า เทียบ 0.95 เท่าในปี 2565 ฯลฯ
โบรกแนะ "ขาย" ให้มูลค่าเหมาะสม 4.80 บาท
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ ออกบทวิเคราะห์ล่าสุด ( 8 ก.พ.67 ) คงคำแนะนำ “ขาย” รอให้ KEX พิสูจน์สร้างการเติบโตในส่วนลูกค้าที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า และการปรับโครงสร้างต้นทุนใหม่จากการสนับสนุนทางการเงิน และการดำเนินงานจาก" SF Group" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
โดยระบุว่า KEX รายงานผลขาดทุนเพิ่มขึ้นทั้ง YoY และ QoQ โดยขาดทุนสุทธิ 1.16 พันล้านบาทใน Q4/65 เพิ่มขึ้นทั้ง YoY และ QoQ จากขาดทุน 932 ล้านบาท และ 890 ล้านบาท รายได้จากการขายและบริการลดลง 38% YoY และ 13% QoQ ทั้งปริมาณพัสดุ (-36% YoY, -9.6% QoQ) และรายได้ต่อพัสดุ (-3.6% YoY, -1.9% QoQ) เนื่องจากรายได้จากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซลดลง ที่แย่กว่านั้นคือ ต้นทุนต่อพัสดุเพิ่มขึ้น 9.3% YoY และ 1.6% QoQ ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นหดตัวทั้ง YoY และ QoQ จาก -12.7% และ -23.3% เป็น -28.1%
คาด KEX จะถึงจุดคุ้มทุน EBITภายใน Q4/67F โดยคาดปี 2567 และปี 2568 คาดยังขาดทุนที่ 2,777 ล้านบาท และขาดทุน 1,475 ล้านบาท ตามลำดับ เรามองกลยุทธ์ของบริษัทในแง่ดีในการมุ่งเน้นไปที่ลูกค้าระดับกลางถึงระดับสูงและลูกค้าอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มรายได้ต่อการฝากขายในขณะที่ดำเนินโครงการลดต้นทุน อย่างไรก็ตาม ประสิทธิผลของแผนและอัตราการปรับปรุงรายได้ที่เกิดขึ้นจริงยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด
คงคำแนะนำ “ขาย” สำหรับ KEX โดยมีมูลค่าที่เหมาะสมอยู่ที่ 4.80 บาท
บล.กรุงศรีอยุธยา ( 8 ก.พ.67 ) ระบุว่า ผลขาดทุนเต็มปีในปี 2566 ที่ 3.88 พันล้านบาท แย่กว่าผลขาดทุนจากธุรกิจหลักในปี 2565 ที่ 2.44 พันล้านบาทและยังไม่เห็นแนวโน้มการพลิกฟื้นอย่างจริงจังของผลการดำเนินงานของ KEX ในเร็ว ๆนี้ โดยเรามองว่าอุปสงค์บริการของ KEX ยังคงถูกกดดันเพราะผู้ประกอบการ ,e-commerce อย่างเช่น Shopee เริ่มทำการจัดส่งสินค้าเอง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีmargin สูงอย่างเช่น กรุงเทพ และปริมณฑล
ทั้งนี้ เราคาดว่า KEX จะยังคงมีผลขาดทุนหนักถึง 3.5 พันล้านบาทในปี 2567คงคำแนะนำขายและประเมินราคาเป้าหมายที่ 4.80 บาทพร้อมแนะนำให้นักลงทุนถือ KEX เพื่อรอรับ tender offer ที่ราคา 5.50 บาท โดย SF ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่