เปิดโผ 10 แม่ทัพหญิงแกร่ง แห่งลิสดัชนี SET50

30 มี.ค. 2567 | 01:00 น.

เปิดโผ 10 แม่ทัพหญิงแกร่ง ผู้ขับเคลื่อนธุรกิจบริษัทจดทะเบียนยักษ์ใหญ่อันดังต้นๆ ของประเทศไทย ผลักดันธุรกิจติดลิสดัชนี SET 50 ชูผลการดำเนินงานตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (2564-2566) แข็งแกร่งแม้เจอวิกฤต พร้อมส่องแผนงานก้าวต่อไปในปี 2567

จากการสำรวจข้อมูลใน ดัชนี SET50 ที่เป็นดัชนีราคาหุ้น ที่แสดงระดับและความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญ 50 หลักทรัพย์ ที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง และการซื้อขายมีสภาพคล่องอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ว่าทั้งนักลงทุนรายย่อยและกองทุนทั้งในและต่างประเทศต่างเฝ้าจับตามอง พบสิ่งที่น่าสนใจว่า นอกจากดีกรีความรู้และประสบการความช่ำชองในการบริหารและขับเคลื่อนธูรกิจของเหล่าผู้บริหารแล้ว ยังเจอ 10 เพชรเม็ดงามที่ส่องแสงโดดเด่นของเหล่าแม่ทัพหญิงแกร่ง ซึ่งไม่เพียงขับเคลื่อนธุรกิจฝ่าวิกฤติในช่วงโควิด-19 ระบาด แล้วยังสามารถสร้างผลการดำเนินงานให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

 

โดย 10 ลิสรายชื่อผู้บริหารหญิงแกร่ง ประกอบด้วย

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ที่มีธุรกิจภายใต้การดูแลที่ประกอบไปด้วย โรงแรม พื้นที่รีเทลแบบขายปลีก พื้นที่ขายส่ง และอาคารสำนักงาน สร้างองค์กรให้เป็นที่รู้จักแก่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการเติบโตที่ต่อเนื่อง แม้กระทั่งในช่วงที่เกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 ระบาด ทำให้การท่องเที่ยวทั่วโลกถูกปิดล็อก แต่ก็ยังโชว์ฝีมือสามาถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และยังนำพา AWC ให้มีการเติบโตที่ดีได้มาตลอด

ผลการดำเนินงานของ AWC ภายใต้การบริหารงานของ นางวัลลภา ไตรโสรัส ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2564-2566) มีรายได้รวมอยู่ที่ระดับ 4,395.83 ล้านบาท, 9,603.15 ล้านบาท บาท และ 14,035.47 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิในช่วง 3 ปีดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 861.48 ล้านบาท, 3,853.86 ล้านบาท และ 5,037.86 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทางผู้บริหารเผยก่อนหน้านี้ว่า ในปี 2567 แนวโน้มของ ARR และ ADR มองว่ายังคงมีทิศทางการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ARR จะขับเคลื่อนด้วยกลุ่มธุรกิจ Commercial และกลุ่มธุรกิจ Retail คาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นเป็นหลัก จาก Traffic ที่มากขึ้น ประกอบกับทรัพย์สินของบริษัทตั้งอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพ จึงเป็นตัวเลือกในลำดับต้นๆ ของผู้ประกอบการในการลงทุน

ขณะที่ ADR ที่จะปรับขึ้น มาจาก 1.จำนวนนักท่อเงที่ยวที่เข้ามาเพิ่มขึ้น และ2.แบรนด์ของโรงแรมในเครือที่เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยทั้ง 2 ส่วนดังกล่าวจะเป็นตัวผลักดันให้รายได้ในปี 2567 เติบโตด้วย สำหรับธุรกิจอื่นๆ อย่างกลุ่มธุรกิจลิสซิ่งยังคงมี Traffic เริ่มกลับมาดีขึ้น ซึ่งก็จะช่วยให้ให้ผู้ประกอบการต่างๆ กลับมาทำธุรกิจกันมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทจะมีการปรับทรัพย์สินที่ดำเนินการอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลักดันให้ EBITDA ขยับสูง

แผนการลงทุนในปี 2567-2571 นี้ บริษัทได้วางงบประมาณการลงทุนไว้ที่ 126,000 ล้านบาท โดยจะแบ่งใช้ต่อปีที่เฉลี่ยประมาณ 25,000 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้ บริษัทจะมีโครงการเพิ่มเติมใหม่ จำนวน 3 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 17,000 ล้านบาท ส่งผลให้สินทรัพย์ ณ สิ้นปี 2567 นี้ อยู่ที่ 18 โครงการ รวมมูลค่า 19,000 ล้านบาท และเป็นปัจจัยหนุนให้ในปีนี้การเติบโตของสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 30%

 

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU อีกหนึ่งแม่ทัพหญิงแกร่งที่เข้ามาร่วมเปลี่ยนประวัติศาสตร์บ้านปูจากธุรกิจแหล่งพลังงาน (Energy Resources) ที่เมื่อก่อนรายได้หลักๆ มาจากเหมืองถ่านหิน รับไม้ต่อจาก นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ผู้ก่อตั้งบริษัทบ้านปู ทำให้ตลอดระยะเวลาในการบริหารงานของ "สมฤดี" เกิดการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมพลังงานของ BANPU ตั้งแต่วิสัยทัศน์ที่เล็งเห็นอนาคตธุรกิจพลังงานที่ต้องขยับขยายไปสู่พลังงานเพื่ออนาคตมากขึ้น

จึงวางกลยุทธ์ขยายธุรกิจพลังงานจากต้นน้ำซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรพลังงาน ไปสู่กลางน้ำคือการผลิตพลังงาน และปลายน้ำในธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน โดยยึดหลักการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบด้วยหลักความยั่งยืน คือ ESG (Environment, Social, Governance) เพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ภายใต้กลยุทธ์ชื่อ Greener & Smarter และได้ขยายการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในหลากหลายประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม สปป.ลาว อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย มองโกเลีย และไทย โดยมีเป้าหมายการขยายกำลังผลิตสู่ 5,300 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2568 ปัจจุบันขาดอีกเพียง 1,500 เมกะวัตต์ก็จะบรรลุเป้าหมาย

ผลการดำเนินงานในช่วงปี 2564-2566 ที่ผ่านมา BANPU มีรายได้รวมอยู่ที่ระดับ 134,990.10 ล้านบาท, 275,263.44 ล้านบาท และ 184.087.65 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิในช่วง 3 ปีข้างต้นอยู่ที่ระดับ 9,851.80 ล้านบาท, 40,518.97 ล้านบาท และ 5,434.06 ล้านบาทส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาถ่านหินที่มีความผันผวนและปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา

แนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2567 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน เนื่องจาก บริษัทเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดต้นทุนการดำเนินงาน ขณะที่ความต้องการใช้พลังงานทั้งถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น โดยคาดว่ายอดขายถ่านหินอยู่ที่ 38 ล้านตัน จาการการขายที่เพิ่มขึ้นที่เหมืองอินโดนีเซีย เป็น 26.1 ล้านตัน เหมืองออสเตรเลียเพิ่มอีก 8.8 ล้านตัน และเหมืองที่จีนเพิ่ม 10 ล้านตัน ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติปีนี้คาดว่าจะทรงตัวในระดับ 2.5 ดอลลาร์ต่อพันลูกบาศก์ฟุต และราคาถ่านหินแกว่งตัวในกรอบ 120-150 ดอลลาร์ต่อตัน

ในปี 2567 บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ 700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะใช้ลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติสัดส่วน 50% และ อีก 50% ลงทุนในพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ซึ่งการลงทุนของบริษัทจะเน้น แต่โครงการที่สร้างกระแสเงินสดที่ดีเท่านั้น โดยแหล่งเงินทุนมากจากกระแสเงินสดของบริษัท และวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน รวมถึงอยู่ระหว่างการศึกษาลงทุนเหมืองนิกเกิล  ทองคำ และทองแดงในอินโดนีเซีย โดยลักษณะเข้าไปซื้อกิจการ รวมถึงศึกษาลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ ในอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการนำบริษัทย่อย คือ BKV Corporation หรือ BKV เสนอขายหุ้นไอพีโอ และเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนได้ในช่วงครึ่งปีหลัง 2567

 

นางสาวปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการบริหาร, กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และกรรมการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS ลูกสาวของ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ หรือ “หมอเสริฐ” อดีตประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการ BDMS เป็นแม่ทัพหญิงแกร่งอีกคนหนึ่งที่มีประวัติไม่ธรรมดา

ทั้งนี้ BDMS ภายใต้การบริหารของ "ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ" ในช่วง 3 ปีที่ผ่าน (2564-2566) มามีรายได้รวมอยู่ที่ระดับ 75,791.68 ล้านบาท, 93,055.58 ล้านบาท และ 102,327.27 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิในช่วง 3 ปีข้างต้นอยู่ที่ระดับ 7,936.08 ล้านบาท, 12,606.20 ล้านบาท และ 14,375.27 ล้านบาท ตามลำดับ

โดยจากการรวมรวบข้อมูลจากบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่ง พบว่านักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ในปี 2567 BDMS ตั้งเป้าหมายการเติบโตไว้ที่ 10-12% รับแรงหนุนจากโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และนอกกรุงเทพฯ ส่วน EBITDA Margin คาดจะอยู่ที่ประมาณ 20-25% สำหรับโรงพยาบาลนอกกรุงเทพฯ โดยผู้บริหารรายงานการเติบโตของรายได้ที่ดีในภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกลุ่มภาคใต้ในปี 2566 ได้รับการสนับสนุนจากการฟื้นฟูและการขยายบริการระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม BDMS คาดว่าแรงผลักดันจะยังคงดำเนินต่อไปในปีนี้จากการขยายศูนย์มะเร็งในภูเก็ต และการให้ความสำคัญกับผู้ป่วยชายแดนในกลุ่ม CLMV มากขึ้น ในระยะยาวตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี (2567-2569) โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประกันภัยและการเติบโตของผู้ป่วยประกันสังคม (สู่สมาชิกที่ลงทะเบียน 1 ล้านรายในปี 2568) นอกเหนือจากผู้ป่วยที่ชำระเงินด้วยตนเอง

ทั้งนี้ BDMS เพิ่งเปิดโรงพยาบาลพญาไทศรีราชา 2 ในเดือนมีนาคม 2567 เพื่อให้ครอบคลุมผู้ป่วยที่จ่ายเงินสด และผู้ป่วยจากประกันสังคม โดยโรงพยาบาลจะเปิดให้บริการในระยะแรกจำนวน 72 เตียง จากทั้งหมด 113 เตียง เน้นบริการทุติยภูมิ นอกจากนี้ มีแผนเปิดโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช อินเตอร์เนชั่นแนล (100 เตียง) ในเดือนมิถุนายนนี้ โรงพยาบาลจะอยู่ติดกับโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ (SNH) ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านศูนย์กุมารเวชศาสตร์ ดังนั้น จะเห็นอัตราการเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วกว่าเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลทั่วไป เนื่องจากมีฐานลูกค้าที่มีอยู่และมีชื่อเสียงของแบรนด์ที่แข็งแกร่ง

 

นางลินดา ลีสหะปัญญา กรรมการผู้จัดการ และกรรมการ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH เข้ามาบริหารโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มากกว่า 10 ปี โดยความสัมพันธ์ทางครอบครัวระหว่างผู้บริหาร คือ เป็นน้องสาวของคู่สมรสของนายชัย โสภณพนิช (เป็นลูกชายนายชิน โสภณพนิช ผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ)

ผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตที่เพิ่ทขึ้นทุกปี โดยในช่วงปี 2564-2566 BH มีรายได้รวมอยู่ที่ระดับ 12,673.30 ล้านบาท, 20,953.49 ล้านบาท และ 25,687.87 ล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 1,215.68 ล้านบาท, 4,938.22 ล้านบาท และ 7,006.45 ล้านบาท หลักๆ เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติ ซึ่งกลุ่มคนไข้ต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนกว่า 66.8% ของรายได้รวม เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีสัดส่วน 63.5% ขณะที่ผู้ป่วยในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 33.2% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่ระดับ 36.5%

และหากเมื่อเทียบผลการดำเนินงานของ BH ในปี2566 เทียบกับปี 2562 ที่เป็นช่วงก่อนเกิดไวรัสโควิด-19 ระบาด มีรายได้เพิ่มขึ้น 37.4% จากปี 2562 หลักๆ เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากหลุ่มผู้ป่วยชาวไทยและผู้ป่วยชาวต่างชาติ 39.1% และ 36.6% ตามลำดับ เป็นผลให้รายได้จากกลุ่มผู้ป่วยชาวไทยคิดเป็นสัดส่วน 33.2% จากทั้งหมด ขณะที่รายได้จากกลุ่มผู้ป่วยต่างประเทศคิดเป็น 66.8% ในปี 2566 เทียบกับ 32.8% และ 67.2% ตามลำดับในปี 2562

ผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้และการควบคุมต้นทุนได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ EBITDA ของ BH ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 67.4% จากปี 2562 และ EBITDA Nargin คิดเป็น 37.5% ในปี 2566 เทียบกับ 30.9% ในปี 2562

 

นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN เป็นบุตรสาวของ “คุณเตียง และ คุณวิภา จิราธิวัฒน์” ซึ่งเป็นต้นตระกูลจิราธิวัฒน์ โดยมีธุรกิจภายใต้การบริหาร ได้แก่ ธุรกิจให้เช่าและบริการ ธุรกิจบริการศูนย์อาหาร ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่พักอาศัย

ปัจจุบันมีศูนย์การค้าภายใต้การบริหารงาน จำนวน 40 โครงการ และมีศูนย์การค้าขนาดเล็ก หรือ คอมมูนิตี้มอลล์ 17 โครงการ โดยมีพื้นที่ให้เช่าสุทธิรวม 2.3 ล้านตารางเมตร ธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่า จำนวน 10 อาคาร คิดเป็นพื้นที่รวมกว่า 314,578 ตารางเมตร ธุรกิจโรงแรมมี จำนวน 9 แห่ง หรือมีจำนวนห้องรวมอยู่ที่ 1,481 ห้อง ธุรกิจโครงการที่พักอาศัยเพิ่มขาย มีจำนวนทั้งสิ้น 33 โครงการ และมีโครงการที่ยังอยู่ระหว่างการขาย จำนวน 24 โครงการ

ผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา (2564-2566) CPN ภายใต้การบริหารของ "วัลยา จิราธิวัฒน์" มีรายได้รวมอยู่ที่ระดับ 30,397.53 ล้านบาท, 38,707.00 ล้านบาท และ 48,336.84 ล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 7,148.45 ล้านบาท, 70,759.89 ล้านบาท และ 15,061.62 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงว่าธุรกิจยังคงมีการเติบโตที่โดดเด่นมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ประเมินภาพรวมธุรกิจและอุตสาหกรรมในปี 2567 มองว่ากำลังซื้อในประเทศ ณ ปัจจุบันยังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่า ณ สิ้นปี 2566 ที่ผ่านมาสามารถเร่งตัวสูงกว่าช่วงปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19) ขึ้นมาแล้ว โดยทาง CPN ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้รวมในปี 2567 ไว้ที่ไม่น้อยกว่า 10% จากปี 2566 ที่ทำได้ 46,790 ล้านบาท

ส่วนรายได้จากธุรกิจโรงแรมและการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขายในปี 2567 ตั้งเป้าเติบโตมากกว่า 20% โดยในปีนี้จะมีการเปิดโรงแรมใหม่ที่ระยอง ซึ่งจะมอบหมายให้เชนระดับโลกเข้ามาบริหาร และจะเปิดโครงการที่อยู่อาศัยอีก 10 โครงการ แบ่งเป็น แนวราบ 3 โครงการ และ คอนโดมิเนียม 7 โครงการ ขณะที่ปัจจุบันมียอดขายรอโอน (Backlog) มูลค่ากว่า 4.3 พันล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้เข้ามาในปีนี้ราว 75%

โดยในปี 2567 CPN มีแผนที่จะเปิดตัว 2 โครงการใหม่ ได้แก่ เซ็นทรัล นครสวรรค์ ที่เปิดให้บริการไปแล้วช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา และในเดือนมีนาคม 2567 จะเปิดให้บริการ เซ็นทรัล นครปฐม ขณะที่ ณ สิ้นปี 2567 จะมีศูนย์การค้าทั้งสิ้น 42 แห่ง, คอมมูนิตี้ มอลล์ 17 แห่ง, ที่อยู่อาศัย 43 โครงการ, โรงแรม 10 แห่ง และออฟฟิศ 10 แห่ง

ในส่วนงบประมาณในปี 2567 วางไว้ที่ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการปรับปรุงศูนย์การค้าในเครือ ซึ่งในปีนี้มีแผนปรับศูนย์การค้าทั้งสิ้น 6 แห่ง ประกอบด้วย 1. เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า 2.เซ็นทรัล บางนา 3.เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ 4.เซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์ 5.เซ็นทรัล พัทยา และ 6.เซ็นทรัล มารีน่า

 

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK อีกหนึ่งแม่ทัพหญิงแกร่งแห่งยุคที่เป็นที่สนใจ โดยเมื่อปี 2530 ได้สมัครเข้าทำงานที่ธนาคารกสิกรไทย และเริ่มงานที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ปี 2542 ขึ้นเป็นผู้อำนวยการ ฝ่ายสำนักบริหาร ปี 2545 เป็นผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายยุทธศาตร์องค์การ ปี 2548 เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ปี 2553 เป็นรองกรรมการผู้จัดการ ปี 2557 เป็นรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ปี 2559 เป็นกรรมการผู้จัดการ และเมษายน 2563 ถึงปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

ผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปี (2564-2566) บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ระดับ 258,001.38 ล้านบาท, 271,302.26 ล้านบาท และ 306,529.43 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 38,052.72 ล้านบาท, 35,769.49 ล้านบาท และ 42,405.04 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิในปี 2566 เพิ่มขึ้น 18.55% เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งเป็นฐานที่ต่ำ โดยธนาคารยังคงตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปริมาณสูงใกล้เคียงกับปี 2565 รองรับความไม่แน่นอนจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ

ขณะที่มีรายได้จากการดำเนินงาน ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจำนวน 19,396 ล้านบาท หรือ 11.19% โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 148,444 ล้านบาท เพิ่ม 11.61%และมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ หรือ NIM อยู่ที่ 3.66% นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 3,950 ล้านบาท หรือ 9.81% ส่วนใหญ่เกิดจากการบริหารจัดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และรายได้จากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณธุรกิจ 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ ลดลงจำนวน 1,702 ล้านบาท หรือ 5.17% หลักๆ จากค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมรับจากการโอนเงิน และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลงซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด

สำหรับปี 2567 KBANK ตั้งเป้าหมายสินเชื่อขยายตัว 3-5% และรักษาอัตราดอกเบี้ยสุทธิ หรือ NIM ที่ 3.66% เท่ากับปี 2566 พร้อมควบคุมอัตราหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปีนี้ไม่ให้เกิน 3.25%

 

นางพิทยา วรปัญญาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ที่ก่อนจะก้าวขึ้นมารับไม้ต่อจากคุณระเฑียร ในฐานะซีอีโอคนต่อไป คร่ำหวอดและมีประสบการณ์ในด้านการตลาดบัตรเครดิตมาร่วม 30 ปี เธอเป็นลูกหม้อ KTC โดยเข้าร่วมงานดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงาน Credit Card  เมื่อปี 2540 ก่อนมารับผิดชอบเพิ่มในสายงาน ธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค และเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส กลุ่มงานการตลาดและสื่อสารองค์กร (Chief Marketing & Communication Officer) ในปัจจุบัน 

ผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีย้อนหลัง (2564-2566) KTC มีรายได้รวมอยู่ที่ระดับ 21,441.67 ล้านบาท, 23,170.28 ล้านบาท และ 25,281.88 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิในช่วง 3 ปีดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 5,878.69 ล้านบาท, 7,079.40 ล้านบาท และ 7,295.39 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งกำไรสุทธิในปี 2566 เพิ่มขึ้น 3.1% จากงวดเดียวกันของปี 2565 ที่ 7,079 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิเฉพาะกิจการของบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ 7,241 ล้านบาท

ณ สิ้นปี 2566 เคทีซีมีมูลค่าพอร์ตรวมอยู่ที่ 112,346 ล้านบาท ขยายตัว 7.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน จากภาพรวมของเศรษฐกิจไทยที่ทยอยฟื้นตัว ปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน พอร์ตบัตรเครดิตยังคงขยายตัวได้ตามปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรที่เพิ่มขึ้น จากอุปสงค์การใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ขณะที่พอร์ตสินเชื่อ KTC PROUD เพิ่มขึ้นไม่มากนัก ด้านสินเชื่อ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน ยอดสินเชื่อใหม่สำหรับปี 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 2,590 ล้านบาท

กลุ่มบริษัทมีรายได้รวมเติบโตที่ 9.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน จากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียม ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 14.0% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน มาจากค่าใช้จ่ายในการบริหาร หลักๆ เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมจ่ายจากปริมาณธุรกรรมที่ขยายตัว มูลค่ารวมผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) เพิ่มขึ้นจากการตั้งสำรองสูงขึ้น และต้นทุนทางการเงินปรับขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน

แผนการดำเนินงานในปี 2567 KTC วางเป้าหมายการเติบโตของพอร์ตรวมไว้ที่ไม่น้อยกว่า 10% ต่อเนื่องจากปีก่อน ในส่วนของธุรกิจบัตรเครดิตเคทีซี บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตไม่น้อยกว่า 15% จากปีก่อน นอกจากนี้ ยังตั้งเป้ามีสมาชิกบัตรใหม่เพิ่มขึ้น 230,000 ใบ และมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโต 15% จากปี 2566 ปัจจุบันมีจำนวนบัตรกว่า 2.6 ล้านบัตร และจำนวนลูกค้าที่ 2.6 ล้านคน

ขณะที่ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ยังเป็นธุรกิจที่เน้นการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการบริหารพอร์ตสินเชื่อคุณภาพ โดยในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าเติบโต 5% จำนวนสมาชิกบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” เพิ่มขึ้น 100,000 ราย สำหรับธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” บริษัทตั้งเป้ายอดอนุมัติสินเชื่อใหม่ปี 2567 ไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท

 

นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร และรองประธานกรรมการ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ซึ่งนับว่าเป็นคนนอกตระกูล โอสถานุเคราะห์ คนแรก ที่ถูกเลือกเข้ามารับตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการบริหาร แทน เพชร โอสถานุเคราะห์ ประธานคณะกรรมการบริหารและ CEO เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563

ผลการดำเนินงาน OSP ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2564-2566) มีรายได้รวมอยู่ที่ระดับ 27,277.96 ล้านบาท, 27,481.87 ล้านบาท และ 26,644.30 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 3,254.92 ล้านบาท, 1,933.77 ล้านบาท และ 2,402.10 ล้านบาท ตามลำดับ โดยกำไรสุทธิในปี 2566 เติบโต 24.2% จากปีก่อน โดยมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 9.2% เติบโต 2.1% YoY โอสถสภามีรายการพิเศษจากการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ ซึ่งหากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว กำไรจากการดำเนินงานปกติอยู่ที่ 2,181 ล้านบาท เติบโต 14.0% จากปีก่อน

ในปี 2566 รายได้จากกลุ่มธุรกิจหลักเติบโตจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังและการเติบโตอย่างโดดเด่นเป็นตัวเลขสองหลักของกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในต่างประเทศ ซึ่งช่วยชดเชยการหดตัวลงของรายได้จากการให้บริการผลิตสินค้า (EM) ส่งผลให้รายได้จากการขายสำหรับปี 2566 เติบโต 1.5% YoY หากไม่รวมผลกระทบของเครื่องดื่มซี-วิทจากการปรับฐานของตลาดเครื่องดื่มวิตามินซีหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย โอสถสภารายงานรายได้จากการขายสำหรับปี 2566 อยู่ที่ 26,062 ล้านบาท

ทั้งนี้ OSP ตั้งเป้ารายได้รวมทั้งปี 2567 ราว 5% (Mid Single Digit) เมื่อเทียบกับรายได้รวมปี 2566 ที่ทำได้ 2.66 หมื่นล้านบาท โดยยังคงกลยุทธ์ทั้งการตอกย้ำความเป็นผู้นำของแบรนด์หลักทั้งในกลุ่ม เครื่องดื่มบํารุงกําลังแบรนด์หลักอย่าง M-150ตั้งเป้าส่วนแบ่งการตลาดทั้งปี 2567 ที่ 47.9% มุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ขยายฐานผู้บริโภคครอบคลุมตั้งแต่พนักงานออฟฟิศ, กลุ่ม Millennials และกลุ่มผู้สูงอายุ โดยประเมินการแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังจะยังสูงในปี 2567

ในระยะถัดไป OSP ได้กำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานระยะ 5 ปี โดยตั้งเป้ารายได้รวมในปี 2571 ที่ 4 หมื่นล้านบาท โดยตั้งเป้าอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ในเฉลี่ยในระยะ 5 ปีข้างหน้าที่ 9% ต่อปี แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากยอดขายเครื่องดื่มในประเทศราว 56% จากรายได้รวม มุ่งหวังยอดขายเครื่องดื่มในประเทศเติบโต 7% ต่อปี

สำหรับรายได้จากยอดขายเครื่องดื่มในต่างประเทศตั้งเป้าให้มีสัดส่วนราว 22% ของยอดขายรวม โดยจะมุ่งรักษาฐานการตลาดในประเทศหลักอาทิเมียนมา, สปป.ลาว ควบคู่กับการขยายเข้าไปยังหมู่เกาะต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดสินค้า Commodity สูงถึง 2 หมื่นล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการศึกษา – เตรียมความพร้อมที่จะกลับเข้าสู่ตลาดประเทศเวียดนาม

ด้านยอดขายกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ไว้ที่ 12% ของยอดขายรวมทั้งปี ตั้งเป้าการเติบโตเฉลี่ยที่ 10%ต่อปี และรายได้จากกลุ่มอื่นๆ ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ที่ราว 10% ของยอดขายรวมทั้งปี นอกจากนี้ยังศึกษาแผนการเติบโตผ่านการควบรวมกิจการ (M&A) ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ควบคู่กับการตัดจำหน่ายกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักออกไปเพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง

 

นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ในสายงานบริหารการเงินและการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและพลังงาน มีความเชี่ยวชาญด้านงานบริหารการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เคยมีบทบาทร่วมในแผนนำโรงไฟฟ้าราชบุรีออกระดมทุนจากภาคเอกชน โดยนำหุ้นออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อนำเงินจากการระดมทุนมาซื้อโรงไฟฟ้าราชบุรีจาก กฟผ. 

ปัจจุบัน นางสาวชูศรี ยังดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากประสบการณ์และความสามารถในการบริหารด้านกลยุทธ์การเงิน ของ กฟผ. ให้มีความมั่นคง กอปรกับเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล รอบรู้และเข้าใจในธุรกิจผลิตไฟฟ้า การลงทุน และการบริหารจัดการเงินทุนเป็นอย่างดี ทำให้นางสาวชูศรี ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารการเงิน และการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของไทย

โดยผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2564-2566) RATCH มีรายได้รวมอยู่ที่ระดับ 38,213.22 ล้านบาท, 75,735.85 ล้านบาท และ 46,832.93 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 7,772.02 ล้านบาท, 5,782.07 ล้านบาท และ 5,167.25 ล้านบาท

ในปี 2567 RATCH จะมีกำลังการผลิตเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นอีก 459 เมกะวัตต์ จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง ชุดที่ 1 กำลังผลิตตามสัดส่วนลงทุน 392.70 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าอาร์อีเอ็น โครงการโรงไฟฟ้าสหโคเจนใหม่ และโครงการโรงผลิตไฟฟ้านวนครส่วนขยายระยะที่ 3 สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ชุดที่ 1 ซึ่งรับรู้กำลังผลิตตามสัดส่วนลงทุน 392.70 เมกะวัตต์ มีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเดือนมีนาคม 2567 ปัจจุบัน ได้ดำเนินการจัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว ผ่านทางบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งได้ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว ระยะเวลา 3 ปี กับบริษัท Gunvor Singapore Pte. Ltd. โดยจะมีการส่งมอบในปริมาณปีละ 0.5 ล้านตัน และการส่งมอบครั้งแรกจะดำเนินการในเดือนมีนาคม 2567 

สำหรับ แนวโน้มในอนาคต RATCH ยังคงยึดธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นธุรกิจหลักในการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาธุรกิจและลงทุน จะมุ่งขับเคลื่อนโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย พร้อมทั้งจะขยายไปสู่ตลาดแห่งใหม่ โดยเน้นประเทศที่พัฒนาแล้ว และให้น้ำหนักการลงทุนทั้งแบบกรีนฟิลด์และการซื้อกิจการให้มีความสมดุลเพื่อบริหารกระแสเงินสดและรายได้ของบริษัท

โดยมุ่งมั่นที่จะเพิ่มกำลังการผลิตปีละไม่น้อยกว่า 700 เมกะวัตต์ ส่วนการบริหารโครงการและสินทรัพย์ เน้นการบริหารงบประมาณโครงการและก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาของสัญญา รวมทั้งจัดการประสิทธิภาพและต้นทุนการผลิตของโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องด้วย นอกจากนี้ยังจะให้ความสำคัญกับการบริหารกระแสเงินสด ต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เป้าหมาย EBITDA เติบโตถึง 12,000 ล้านบาท

 

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการบริหาร, รองประธานกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA อีกหนึ่งหญิงแกร่งร่างเล็กแต่ใจใหญ่ ที่มากความสามารถและเป็นที่จับตามอง ขึ้นมารับหน้าที่ประธานกรรมการ เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2562 โดยขับเคลื่อนการปรับโฉมนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งของ WHA ให้เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ

ปัจจุบันกลุ่ม WHA ดำเนินกิจการด้านโลจิสติกส์และอื่นๆ ใน 4 กลุ่มดังนี้ ธุรกิจพัฒนาและบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ (logistics hub) ธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม (industrial development hub) ธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคและพลังงาน (utilities & power hub) และธุรกิจให้บริการด้านดิจิทัล (digital platform hub) เป็นต้น

ผลการดำเนินงานตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2564-2566) WHA มีรายได้รวมอยู่ที่ระดับ 11,638.82 ล้านบาท, 14,982.33 ล้านบาท และ 15,579.06 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 2,590.07 ล้านบาท, 4,045.87 ล้านบาท และ 4,425.74 ล้านบาท สะท้อนถึงการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าใรปี 2564 จะยังมีคัวนหลงจากโรคไวรัสโควิด-19 อยู่บ้าง เพราะยังเปิดประเทศได้ไม่เต็มที่ การเดินทางไม่สะดวงสะบายนักสำหรับต่างชาติ

โดยในปี 2567 WHA วางเป้าหมายยอดขายไว้ที่ไม่น้อยกว่า 2,275 ไร่ แบ่งเป็นยอดขายนิคมฯในประเทศไทย จำนวน 1,650 ไร่ และนิคมฯ ในประเทศเวียดนามราว 625 ไร่ ปัจจุบันยอดขายที่รอการเซ็นสัญญากับลูกค้ารายใหม่ (LOI) ในมือจำนวนหลายร้อยไร่ และยังมียอดขายที่รอการโอนกรรมสิทธิ์อยู่ในมือ (Backlog) อีกกว่า 1,500-1,600 ไร่ ที่คาดว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ในปีนี้ได้เกือบทั้งหมด

จากการกระตือรือร้นในการเจรจากับทั้งรัฐบาลและเอกชนรายใหญ่ของรัฐบาลไทย ทำให้คาดว่าในปี 2567 ก็มีโอกาสที่ปรับเพิ่มเป้าหมายเหมือนปีก่อนที่สามารถทำยอดขายที่ดินสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 2,767 ไร่ และสูงกว่าเป้าหมายช่วงต้นปีถึง 58% พร้อมกันนี้ บริษัทยังเร่งขยายเฟส และเพิ่มนิคมฯ แห่งใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้มีที่อยู่ระหว่างการขอ EIA แล้วราว 8,000-10,000 ไร่ รองรับการขยายตัวของการลงทุนจากต่างชาติ เช่นเดียวกันกับในประเทศเวียดนามที่เร่งขยายเฟสใหม่ด้วยเช่นกัน

ธุรกิจโลจิสติกส์ในปี 2567 วางเป้าส่งมอบโครงการและสัญญาใหม่เพิ่มขึ้น 200,000 ตร.ม. แบ่งเป็นในประเทศไทย 165,000 ตร.ม. และประเทศเวียดนาม 35,000 ตร.ม. ซึ่งคาดว่าสินทรัพย์รวมภายใต้กรรมสิทธิ์และการบริหารจะเพิ่มถึงระดับ 3,145,000 ตร.ม. อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 บริษัทมีแผนการขายสิทธิการเช่าทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์ WHART และ WHAIR รวมทั้งสิ้นประมาณ 213,000 ตร.ม. หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,290 ล้านบาท ภายในช่วงปลายปีนี้

ทั้งนี้ 4 กลยุทธ์สำคัญของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในปี 2567 ประกอบด้วย Extend Leadership เร่งขยายธุรกิจต่อเนื่องทั้งในประเทศและตลาดภูมิภาค Embrace Innovation and Technology นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็น New S-curve ให้กับองค์กร Enhance the Prominence on Green and Sustainability เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในปี 2593 (Net-Zero 2050) และ Build High-Performance Organization ด้วยการพัฒนายกระดับด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นองค์กรสมรรถนะสูง

สำหรับแผนธุรกิจในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี2567-2571) บริษัทเตรียมงบลงทุนไว้ประมาณ 78,700 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็นเงินลงทุนปีนี้ประมาณ 21,000 ล้านบาท และตั้งเป้ากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เติบโตมากกว่า 40% พร้อมปรับโครงสร้างรายได้เป็นแบบสม่ำเสมอสัดส่วน 46% และรายได้จากยอดขายที่ดิน 54% จากเดิมที่มีสัดส่วน 40:60% รวมถึงผลักดันรายได้รวมในช่วง 5 ปีสู่ระดับ 1 แสนล้านบาท ส่วนในปี 2567 นี้ บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตของรายได้รวมไว้แบบตัวเลข 2 หลัก จากปีก่อนที่ 17,200 ล้านบาท