"ภากร" ชูจุดยืน SET ยกระดับไฟแนนซ์เชียลฮับ ขยายโอกาสระดมทุน

24 พ.ค. 2567 | 09:05 น.
อัพเดตล่าสุด :24 พ.ค. 2567 | 09:05 น.

SET มุ่งพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นตลาดทุนแห่งอนาคตที่สนับสนุนผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม กำหนดแนวคิดการก้าวสู่ปีที่ 50 ว่า Make it “Work” for Every Future - ร่วมสร้างอนาคต เพื่อโอกาสของทุกคน สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์เป้าหมายอนาคตของผู้ออมและผู้ลงทุน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มเปิดให้มีการซื้อขายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518 และก้าวสู่ปีที่ 50 ของการดำเนินงานในปีนี้ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นตลาดทุนแห่งอนาคตที่สนับสนุนผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม โดยกำหนดแนวคิดสำหรับการก้าวสู่ปีที่ 50 ว่า Make it “Work” for Every Future - ร่วมสร้างอนาคต เพื่อโอกาสของทุกคน ทั้งการสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์เป้าหมายอนาคตของผู้ออมและผู้ลงทุน

ซึ่งเป็นกลไกให้ภาคธุรกิจเข้าถึงโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว นำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างแข็งแกร่ง พร้อมสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อม และอนาคตของสังคมไทยอย่างยั่งยืน โดยมองไปในอนาคต ตลาดทุนจะยังพบความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องทั้งจากปัจจัยภายในและนอกประเทศ ความต้องการของภาคธุรกิจและผู้ลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป การแข่งขันที่เข้มข้น ตลอดจนเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าสร้างอนาคต เพื่อโอกาสของทุกคน

โดยมองบทบาทที่จะเปลี่ยนไปและมุ่งสู่เป้าหมายอนาคต ใน 5 ด้าน ได้แก่
1. ยกระดับสู่ตลาดหลักทรัพย์ภูมิภาค ทั้งในด้านการเป็นแหล่งระดมทุนของบริษัทในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการเพิ่มเติมทางเลือกการลงทุนต่างประเทศผ่านกลไกตลาดทุนไทย ต้องกลับมามองว่าจากนี้ไปจะทำอย่างไรให้ตลาดทุนไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค (ไฟแนนซ์เชียลฮับ) หรือเป็นจุดที่สามารถระดมทุนและลงทุนได้ทั้งในประเทศและภูมิภาคโดยไม่ต้องออกไปต่างประเทศ

ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนของตลาดหลักทรัพย์ฯสามารถเลือกลงทุนได้ทั้งในสหรัฐฯ,ยุโรป,ญี่ปุ่น และจีน ส่วนการระดมทุนจากต่างประเทศมีการผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อให้สามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้น จึงทำให้การผลักดันให้ไทยเป็นไฟแนนซ์เชียลฮับในภูมิภาคเป็นสิ่งที่ควรจะทำ

2. ขยายโอกาสการระดมทุน ให้บริษัททุกขนาดในภูมิภาค โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายทั้งบริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ (Mega Family Business) บริษัทต่างชาติที่มีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New Economy) และ SMEs Startups

พร้อมส่งเสริมการพัฒนา Data Platform สำหรับบริษัทจดทะเบียน เพื่อสร้างฐานข้อมูลที่มีคุณภาพ (Data Pools) นำมาต่อยอดเป็นข้อมูลเชิงวิเคราะห์ (Data Analytics) อาทิ Industry Highlights สำหรับเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ และพันธมิตร

3. พัฒนาตลาดทุนแบบดิจิทัลเข้ามาเสริมตลาดทุนดั้งเดิมที่มีความเข้มแข็งในปัจจุบัน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนยุคใหม่ .เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยสามารถให้บริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ซึ่งเชื่อว่าอนาคตจะเป็นสิ่งที่ทำให้ตลาดทุนสมบูรณ์มากขึ้นโดยใช้การระดมทุนผ่านรูปแบบ Investment Token และ Utility Token เป็นต้น

4. เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานและการกำกับดูแล และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนที่แข็งแกร่ง โดยพิจารณาในการนำเทคโนโลยี AI และ Generative AI เข้ามาช่วยพัฒนางานในหลายด้านเพิ่มขึ้น เช่น ระบบกำกับดูแลการซื้อขายและบริษัทจดทะเบียน ระบบช่วยนักวิเคราะห์ในการจัดทำบทวิเคราะห์หลักทรัพย์โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็ก ระบบแปลเนื้อหาข้อมูลบริษัทจดทะเบียน หรือความรู้ด้านการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนต่างชาติ รวมทั้งแนะนำบริการด้านต่างๆ ตามโจทย์พฤติกรรมผู้ลงทุน (Personalization) เป็นต้น

5. ขับเคลื่อนความยั่งยืน (Sustainability) ในทุกมิติ โดยมุ่งเน้นการเตรียมบริษัทจดทะเบียน ผู้ลงทุน และบุคลากรตลาดทุน ให้พร้อมรองรับความท้าทายและโอกาสจากประเด็นความยั่งยืน และพัฒนาการของกฎเกณฑ์กำกับใหม่ๆ อาทิ วิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis) ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และสิทธิมนุษยชน (Human Rights)

นอกจากนี้ เรื่องคาร์บอนเครดิตในการบริหารเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะหากเราไม่ทำเชื่อว่าในอนาคตบริษัทจดทะเบียนไทยจะออกไปทำธุรกิจข้ามประเทศยากขึ้น ซึ่งจะมีการต่อเชื่อมให้บริษัทเหล่านี้สามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวไปบริหารการปล่อยก๊าซคาร์บอนและได้คาร์บอนเครดิตกลับมาเพื่อทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

โดยตลอด 5 ทศวรรษ ตลาดหลักทรัพย์ฯ พัฒนาธุรกิจและตลาดทุนต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นแพลตฟอร์มเพื่อการระดมทุนสำหรับธุรกิจทุกขนาดทั้งในภาวะปกติและวิกฤต ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนกว่า 850 บริษัท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมกว่า 17.4 ล้านล้านบาท จำนวนผู้ลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องล่าสุดที่กว่า 5.8 ล้านบัญชี และพัฒนาสินค้าบริการเพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนทุกกลุ่ม

รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงต่างประเทศในหลากหลายรูปแบบ อาทิ DR DRx ETF DW ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาด และสนับสนุนการทำงานของอุตสาหกรรมตลาดทุน ซึ่งรวมถึงการมีแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล ควบคู่การนำ ESG เป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ และขับเคลื่อนตลาดทุนในมิติต่างๆ การให้ความรู้การเงินการลงทุน ดูแลสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมภาคสังคมให้เติบโตไปพร้อมกัน โดยปัจจุบัน บริษัทจดทะเบียนไทยเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนระดับสากล

ระหว่างปี 2567-2568 ภายใต้วาระตลาดหลักทรัพย์ฯ ก้าวสู่ปีที่ 50 จะมีการจัดกิจกรรมถ่ายทอดพัฒนาการตลาดหลักทรัพย์ฯ อาทิ นิทรรศการ 50 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ห้องสมุดมารวย หนังสือ 50 ปี “5 Decades of SET” และจัดทำซีรีส์สื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ รวมทั้งส่งเสริม ESG ทั้งด้านการขับเคลื่อนภาคเอกชนสู่การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้านสังคมที่มีการดูแลกลุ่มเปราะบาง โดยสนับสนุนรถพยาบาลแก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เด็กและเยาวชนด้วย Financial Literacy และส่งเสริมสุขภาวะประชาชนผ่านกีฬาเทเบิลเทนนิส และด้านการส่งเสริม CG ภาคธุรกิจ การประกวดงานวิจัยด้าน ESG ที่จะมีขึ้นในปีนี้ รวมทั้งการจัดทำหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ขณะเดียวกันจากยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตาม ทั้งในเรื่องของการให้ข้อมูลนักลงทุนในแบบที่ทำความเข้าใจได้ง่าย นักวิเคราะห์สามารถนำเอาไปใช้สำหรับวิเคราะห์หุ้นตัวนั้นๆ ได้ อีกทั้งยังมีการนำเอาเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยรวบรวมข้อมูล การแปลภาษาอื่นๆ นอกเหนือจากภาษาไทย การเอา AI มาใช้สรุปงาน Oppday เพื่อให้นักลงทุนได้มองเห็นภาพของหุ้นแต่ละบริษัทว่ามีประเด็นหรือทิศทางในการดำเนินงานอย่างไร ตลอดจนการเอาเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยตรวจสอบและจับตาพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนกลุ่มต่างๆ และจัดระเบียนให้อย่างเหมาะสม

ส่วนการกำกับดูแลนั้น ในแต่ละปีจะมีบริษัทเดินหน้าเข้าจดทะเบียนยังตลาดหลักทรัพย์เฉลี่ยประมาณ 40-50 บริษัทต่อปี ซึ่งจัดอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม ดังนั้น ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้การลงทุนนั้น มีข้อมูลที่เพียงพอและปลอดภัยกับนักลงทุน และด้วยข่าวเชิงลบในช่วงที่ผ่านมาทำให้เกิดความคาดหวังต่อการกำกับดูแลที่มีมากขึ้น ทางตลาดหลักทรัพย์ ได้วางเกณฑ์ไว้ 5 ข้อหลัก ประกอบด้วย

  1. ปรับเกณฑ์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม หรือสภาพการณ์
  2. เน้นการเปิดเผยข้อมูล ทราบข้อมูลและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
  3. เข้มงวดคุณภาพของหลักทรัพย์
  4. กำกับตามความเสี่ยง (Risk-based Supervision) ด้วย AI
  5. ทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด