โบรกวิเคราะห์อสังหาฯไทยอาการหนัก แนะปลดล็อกต่างชาติซื้อ-ขาย กู้วิกฤติ

10 มิ.ย. 2567 | 23:00 น.

โบรกฉายภาพธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เผชิญหน้ากำลังซื้อชะลอตัว ดีมานด์บ้านใหม่ลดลง ยื่นกุญแจรัฐปลดล็อกต่างชาติซื้ออสังหาฯ ดูดเม็ดเงินลงทุน กระตุ้นดีมานด์-ซัพพลาย

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล. ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 2567 มองว่ายังคงเป็นปีที่มีความท้าทายอยู่มาก เพราะมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง โดยมีสัญญาณจากยอดขายของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยหลายรายที่ปรับตัวลดลง และไม่ได้ดีอย่างที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์กันไว้ ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ลง

สำหรับประมาณการณ์กำไรในปี 2567 มองว่าบริษัทจดทะเบียนที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีการเติบโตที่ดีกว่าเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน เนื่องจากยังคงมียอดขายที่รอการโอนกรรมสิทธิ์ทยอยรับรู้เข้ามาในปีนี้ได้อยู่ เพียงแต่ในปี 2568-2569 ทั้งกำไร และยอดการโอนกรรมสิทธิ์อาจปรับตัวลดลง ทำให้มีโอกาสที่ปรับลดประมาณการณ์กำไรปี 2568-2569 ลงด้วยเช่นเดียวกัน

ปัจจัยหลักๆ เป็นผลมาจากกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัว ตามเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดีเท่าที่ควร การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐมีความล่าช้า ส่งผลให้การตัดสินใจในการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ลดน้อยลง รวมถึงการเข้าสู่ช่วงสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ 

ประกอบกับด้วยสภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถาบันการเงินให้ความระมัดระวังและเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น แม้ว่าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทยจะสามารถขายได้ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะสามารถขอยื่นกู้สินเชื่อผ่าน ทำให้ยอดโอนปรับตัวลดลงไปอีก

โดยทางฝ่ายมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวดีขึ้น สาเหตุจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ แต่ก็มองว่ายังไม่เพียงพอต่อความเชื่อมั่นและตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย คาดว่าดีมานด์ยังคงไม่มาก

"มองว่าแรงที่จะเข้ามาเป็นตัวช่วยผลักดันอสังหาริมทรัพย์ไทยได้ในตอนนี้ คือ การที่ภาครัฐให้การสนับสนุนปลดล็อกให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อ-ขาย อสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยได้ เพราะนอกจากจะเป็นการดึงดูดการลงทุนในไทยได้แล้ว ยังช่วยสร้างดีมานด์ใหม่ๆ และรักษาสมดุลของซัพพลายได้"

ต้องยอมรับว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากที่สุด เพราะการพัฒนาโครงการต้องใช้ระยะเวลา ตั้งแต่กว่าที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดขาย และโอนกรรมสิทธิ์ อีกทั้งต้องมีการลงทุนทำให้มีต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ  ดังนั้น กระแสเงินสดและสภาพคล่องจึงเป็นสิ่งสำคัญ การที่จะรีไฟแนนซ์ หาเงินทุนใหม่มาหมุนใช้ก็ค่อนข้างยากในสภาวะปัจจุบัน