"วิศิษฐ์" ไตรมาส 3 ตลาดหุ้นบางเบา-ฟันด์โฟลว์สะดุด วางกรอบดัชนี 1240-1430 จุด

02 ก.ค. 2567 | 23:00 น.

"วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล" มองบรรยากาศตลาดหุ้นไทยไตรมาส 3/67 บางเบา ฟันด์โฟลว์สะดุดรอลุ้นผลเลือกตั้ง-เฟดลดดอกเบี้ย ขณะที่ไตรมาส 4/67 พีคสุดหลังเข้าไฮซีซันท่องเที่ยว รัฐเบิกจ่ายงบ ชี้ผลใช้มาตรการ Uptick วันแรก สัดส่วนโปรแกรมเทรดดิ้ง-มูลค่าชอร์ตเซลลดลงชัดเจน

ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ในช่วงสั้น 1-3 เดือนข้างหน้า ค่าเงินเหรียญสหรัฐจะยังคงแข็งค่าที่ระดับ 37 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของส่วนต่าง (Gap) ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และธนาคารกลางอื่นทั่วโลกยังอยู่ในระดับที่สูง โดยคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยปลายปี 2567 นี้ ลง 1 ครั้ง ประมาณ 0.25% แต่ในปี 2568 มีโอกาสที่จะปรับลดลงได้ถึง 3 ครั้ง

ส่วนในประเทศนั้น คาดว่าทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยทั้งปี นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมือง ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ล่าช้า ก็จะนำไปสู่การลดลงของกำไรสุทธิต่อหุ้นของตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นโลกมักปรับตัวลดลงกว่า 10% โดยเฉลี่ยก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 4 เดือน (สถิติจากการเลือกตั้ง 25 ปีย้อนหลัง)

ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นในไตรมาส 3/2567 จะถูกขับเคลื่อนโดยนักลงทุนสถาบัน มองการเคลื่อนไหวของ SET ในช่วงที่ครึ่งหลังปี 2567 อยู่ที่ระดับ 1,240-1,430 จุด โดยที่ระดับ 1,240 (ใช้สมมติฐานที่ PE 11.9 เท่า และ consensus EPS 2025 ที่ 107 บาทต่อหุ้นและ PE ที่ 13.8 เท่า) มองตลาดหุ้นไทยเป็น K shape และเป็น sector selection อย่างไรก็ดี แนะนำให้ลงทุนใน sector ที่เน้นการขยายตัวของกำไร คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ KCE HANA กลุ่มอาหาร กลุ่มโทรคมนาคม ADVANC TRUE กลุ่มโรงไฟฟ้า BGRIM GPSC และกลุ่มโรงพยาบาล BH เป็นต้น

"มองว่าบรรยากาศในการลงทุนตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3/2567 นี้ จะดูเบาบางลง เพราะนักลงทุนต่างชาติต่างชะลอการตัดสินใจลงทุน จาก 2 ปัจจัยหลัก คือ รอดูนโยบายและบทสรุปว่าใครจะได้ขึ้นมานั่งตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไป และรอดูว่าเฟดจะมีการปรับลดดอกเบี้ยในปลายปีนี้หรือไม่ แต่ในไตรมาส 4/2567 มองว่าตลาดหุ้นไทยจะมีความสดใสมากขึ้นด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การเบิงจ่ายงบประมาณ และการเข้าสู่ไฮซีซันการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยหนุน"

เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติอาจจะเริ่มสนใจหุ้นไทยเมื่อ Earning yield gap ของตลาดหุ้นไทย เมื่อเปรียบเทียบกับ Bond Yield 10 ปีของสหรัฐฯที่ค่าเฉลี่ยที่ 3.24% หรือระดับดัชนี SET ที่ 1,250 จุด และมองตลาดหุ้นไทยจะมีกระแสเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) ที่ไหลเข้าในปลายไตรมาส 4/2567 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นกลุ่มธนาคารที่มีปันผลสูง แนะนำลงทุนหุ้น ThaiESG ทั้งนี้ ปัจจุบันหุ้นไทยที่ให้ yield สูงกว่า 5% US treasury (4.25%) มีมากกว่า 100 บริษัท จะเป็นจุดที่ทำให้เงินนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าในไตรมาส 4/2567 ปีนี้

ลงทุนหุ้น ThaiESG

หลักๆ เป็นผลมาจาก yield ของหุ้นไทยสูงกว่าพันธบัตรสหรัฐ อีกทั้งมองว่าไตรมาส 4/2567 จะเป็นช่วงพีคของเศรษฐกิจไทย เพราะสู่ช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยว โดยมองว่ายอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยจะแตะที่ระดับกว่า 37-38 ล้านคน ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 และจะสนับสนุนให้ GDP ของไทยขยายตัวสูงถึงระดับ 3.7-3.8% จากในไตรมาส 1/2567 ที่ทำได้ 1.5% ซึ่งเป้นจุดต่ำสุดแล้วในปีนี้ โดยคากไตรมาส 2 และ 3/2567 GDP จะขัยบขึ้นมาที่ระดับสองตอนต้น และสองตอนปลาย ตามลำดับ

นอกจากนี้ มองว่า ตลาดหุ้นไทยปัจจุบัน ซื้อขาย P/BV ถูกสุดในรอบ 18 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถ้าจะให้ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นได้ต้องทำให้ ROE และ EPS ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ตอนนี้ EPS ยังไม่ปรับเพิ่มขึ้น สำหรับ 3 ปัจจัยที่ทำให้เงินไหลออกนอกประเทศ ได้แก่ 1.เงินไทยไหลออกเพราะคนไทยนำเงินไปฝากในต่างประเทศมูลค่า 8.25 แสนล้านบาท ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง และทรงตัวระดับสูง 2.ต่างชาติขายพันธบัตร และ 3.ต่างชาติขายหุ้น

ส่วนการบังคับใช้มาตรการ Uptick วันแรก 1 ก.ค.67 พบว่า สัดส่วนโปรแกรมเทรดดิ้งลดลงชัดเจน สัดส่วนมาร์เก็ตแชร์ของโบรกฯ 1 ราย ลดลง เทียบกับการบังคับใช้มาตรการ Uptick เมื่อปี 2563 ทำให้มูลค่า Short Selling ต่อวันลดลงราว 80% จากค่าเฉลี่ย 4,000 ล้านบาท เหลือ 700 ล้านบาท เช่นเดียวกับการบังคับใช้มาตรการ Uptick ในปี 2567 ทำให้มูลค่า Short Selling ต่อวันลดลงราว 80% จากค่าเฉลี่ย 5,300 ล้านบาท เหลือ 1,100 ล้านบาท ที่น่าสนใจคือ Short Selling ส่วนใหญ่เป็นหุ้นในกระดาน NVDR ซึ่งลดลงอย่างชัดเจน

สำหรับในวาระครบ 27 ปี วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 และครบรอบลอยตัวค่าเงินบาทวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 มองว่าเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยมีความแข็งแกร่งขึ้นมาก ดูจากมูลค่าตลาดทุน (Market Capitalization) ต่อ GDP ปรับเพิ่มขึ้นจาก 24% มาสู่ 97% ของ GDP รวมประเทศ ตลาดตราสารหนี้มีการพัฒนาอย่างมากจากมูลค่าต่ำกว่าล้านล้านบาทในปี 2540 มาสู่ระดับ 17 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 95% ของ GDP ในปัจจุบัน

โดยภาพการระดมทุนมีความสมดุลมากขึ้น ทั้งในส่วนของตราสารหนี้ ตราสารทุน และสินเชื่อธนาคาร ขณะที่ทุนสำรองต่อ GDP มีความแข็งแกร่งขึ้นมาอยู่ที่ 44% ของ GDP เมื่อเปรียบเทียบกับระดับ 18% ของ GDP ในช่วงที่ 2540 ดุลเดินสะพัดมีความแข็งแกร่ง (บางปีถึง 10% ของ GDP) แต่ในส่วนของดุลบัญชีทุนเริ่มอ่อนแอลงนับตั้งแต่ปี 2556

ด้านหนี้สินภาคธุรกิจมีความแข็งแกร่งขึ้นจาก 175% ของ GDP ลงมาสู่ 95% ของ GDP ในปี 2552 ก่อนเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับ 197% GDP ในปีกลางปี 2567 เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้นทำให้ภาคธุรกิจต้องก่อหนี้เพิ่ม ส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้นดีขึ้นจากที่ขาดทุนสุทธิช่วงปี 2540 มาสู่ระดับ 80-90 บาทต่อหุ้นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตโรคระบาด แต่ก็ยังมีบางภาคส่วนที่อ่อนแอลงมากในเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะในเรื่องของหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจาก 40% ของ GDP มาสู่ระดับ 91% ของ GDP ในปัจจุบัน และนำไปสู่ความอ่อนแอของการออมภาคครัวเรือน

สำหรับมูลค่าการซื้อขายของตลาดทุนไทย เมื่อเปรียบเทียบกับ Market Cap ของตลาดหุ้นอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี นักลงทุนที่เป็นรายบุคคลไทยได้ลดลงจาก 47% มาสู่ระดับ 31% และมองว่าตลาดทุนไทยช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ได้ผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายสุดในด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกไปแล้ว หลังเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกในไตรมาส 1 และ 2 ไปแล้วกว่า 1.1 แสนล้านบาท

ในส่วนของ Fund Flow ทั้งการซื้อและขายของนักลงทุนต่างชาติจะเป็นแบบเบาบางในไตรมาส 3 ทั้งภูมิภาคเนื่องจากเม็ดเงินส่วนใหญ่ยังคงรอสัญญาณการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และการเลือกตั้งสหรัฐฯ และคาดว่าFund Flow จะเริ่มคงไหลเข้ามาในปลายไตรมาส 4 ความชัดเจนของการลดดอกเบี้ยของ Fed และเป็นช่วง High season ของการท่องเที่ยวไทย