“ดีเอสไอ” ลุยต่อคดีโกงหุ้น STARK จ่อออกหมายเรียกกลุ่มรับโอน 400 ล้าน

11 ก.ค. 2567 | 03:30 น.
อัพเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2567 | 03:47 น.

ดีเอสไอ-ปปง. ขยายผลคดีหุ้น STARK พบรับโอนเงินจากการกระทำผิด 7 ราย เฉียด 400 ล้าน ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องหาเดิมแค่ 2 ราย ส่วนอีก 5 เป็นหน้าใหม่ จ่อออกหมายเรียกเข้าให้ปากคำภายใน 2 สัปดาห์

นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ร่วมแถลงความคืบหน้าคดีทุจริตหุ้น STARK

พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาการอธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยว่า หลังได้รับตัว นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตผู้บริหาร บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหารายสุดท้าย จากทางการประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้มีการสั่งฟ้องดำเนินคดีและมีการนำตัวผู้ต้องหาควบคุมตัวไว้ภายในเรือนจำครบถ้วนทั้ง 11 ราย โดยที่ยังไม่มีใครได้รับการประกันตัว

 

ส่วนความคืบหน้าคดี จากการขยายผลเส้นทางการเงิน พบเงินไหลออกจากกลุ่มผู้กระทำความผิด 7 ราย รวมมูลค่า 380 ล้านบาท แบ่งเป็นบุคคลอื่น 5 ราย ส่วนอีก 2 รายเป็นผู้ต้องหาเดิมที่ถูกคุมตัวอยู่ในเรือนจำ บางรายมีการโอนเงิน 50 ล้านบาท บางราย 100 ล้านบาทเศษ ซึ่งการสืบสวนพบการโอนไปยังบัญชีในประเทศ ทั้งหมดจะต้องถูกสอบสวน แจ้งข้อหาเพิ่มเติม ซึ่งจะทยอยออกหมายเรียกให้เร็วที่สุด คาดว่าประมาณ 2 สัปดาห์

ขณะที่ นายวิทยา นีติธรรม โฆษก ปปง. กล่าวถึงการติดตามอายัดทรัพย์สินที่มีมูลค่ารวม 3,245 ล้านบาท ว่า โดยหลักกฎหมาย ปปง.จะต้องยื่นเรื่องเพื่อให้ทรัพย์เหล่านี้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่กรณีทรัพย์สินเหล่านี้เป็นของผู้เสียหาย ดังนั้นสำนักงาน ปปง.จึงประกาศให้ผู้เสียหายยื่นขอคุ้มครองสิทธิ์ของตน ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.2566 - 29 ก.พ.2567 รวมเวลา 90 วัน ซึ่งมีผู้ยื่นขอรับการคุ้มครองสิทธิ์ทั้งสิ้น 4,724 ราย

 

แบ่งการคุ้มครองออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.หุ้นกู้ 2.หุ้นเพิ่มทุน 3.หุ้นสามัญ มีมูลค่าความเสียหายตามคำร้องที่มีการยื่นเข้ามา 15,900 ล้านบาท

จากนี้ไปจะมีการตรวจสอบว่า แต่ละรายเข้าหลักเกณฑ์การคุ้มครองฯ ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ โดยตามกระบวนการ เมื่อสำนักงาน ปปง.รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นในส่วนนี้แล้ว จะสรุปเรื่องส่งให้คณะกรรมการธุรกรรม ของสำนักงาน ปปง.เพื่อให้มีมติยื่นส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อพนักงานอัยการส่งคำร้องต่อศาล เพื่อให้มีการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้เสียหายต่อไป

ส่วนการพิจารณาคืนเงินงวดแรกให้กับผู้เสียหายนั้น ขึ้นอยู่ที่คำสั่งศาลถึงที่สุดใน 3 ศาล และขั้นตอนการพิจารณาคืนทรัพย์ให้ผู้เสียหาย จะพิจารณาตามสัดส่วนความเสียหายของแต่ละบุคคล อาจต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบ

“แต่ต้องขอเรียนตรงๆ ว่าไม่จบภายในปีนี้ เพราะผู้เสียหายมีความสามารถในการต่อสู้คดี” โฆษก ปปง.ระบุ และว่า คดีดังกล่าวมีการกระทำความผิดมาตั้งแต่ปี 2560 กว่าที่สำนักงาน ปปง. และดีเอสไอ จะทราบเรื่องก็ผ่านมาแล้วประมาณ 2 ปี อีกทั้งกลุ่มคนที่ร่วมในเครือข่ายเป็นผู้มีความรู้ มีการเตรียมความพร้อมพอสมควร จึงมีการโยกย้ายทรัพย์ต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งในกระบวนการติดตามทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งในและต่างประเทศของ สำนักงาน ปปง. มีการทำงานติดตามกันอย่างใกล้ชิด