นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมายและบริหารกิจกรรมเพื่อสังคมหัวหน้ากลุ่มงานกฎหมายและวินัยและหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร และในฐานะโฆษก ตลท. เปิดเผยว่า ปัจจุบันทางตลาดหลักทรัพย์อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เพื่อส่งให้กับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นำไปประกอบการพิจารณา และร่วมกันวางแนวทางให้การกำกับและดูแลบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ต่อไป
เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเกิดประเด็นผู้บริหาร หรือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัทจดทะเบียนมีการนำหุ้นไปวางค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้นในระดับสูง ทำให้เมื่อราคาปรับตัวลดลงมาระดับหนึ่งแล้วถูกบังคับขายหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Force Sell) จึงมองแนวทางที่จะทำให้การเปิดเผยข้อมูลหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกัน การชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นของบริษัทจดทะเบียนมีความรวดเร็วและโปร่งใสมากขึ้น
จากปัจจุบันที่เป็นการข้อมูลสรุปย้อนหลัง 1 เดือน ซึ่งมองว่ายังล่าช้าไป ต้องยอมรับว่าอาจต้องมีการปรึกษากับโบรกเกอร์ผู้ให้บริการร่วมด้วย เพราะบางแห่งยังมีการรวบรวมข้อมูลแบบแมนนวล (Manual) ทำให้เกิดความล่าช้า
ขณะเดียวกันทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังพบการทำธุรกรรมอีกรูปแบบ คือ การนำหุ้นไปวางคำประกันกับสถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อกู้ยืมเงิน แต่ด้วยสิทธิ์การถือครองหุ้นยังคงเป็นของผู้บริหารอยู่ ทำให้ธุรกรรมดังกล่าวไม่เข้าข่ายการรายงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงาน ก.ล.ต. ว่ากฎเกณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถขยายครอบคลุมธุรกรรมเหล่านี้ได้หรือไม่ เพราะมองว่าจะเป็นการดีกว่าหากว่ามีข้อมูลที่ทันต่อสถานการณ์มาให้นักลงทุนเอามาประกอบการพิจารณาการลงทุนหุ้นตัวนั้นๆ ได้
"ถามว่าเรื่องการผลักดันการรายงาน ทั้งในเรื่องของการนำหุ้นไปวางค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้น หรือกับสถาบันการเงิน จะเกิดขึ้นได้เร็วมากน้อยแค่ไหนนั้น ก็ตอบได้เลยว่ายังไม่สามารถระบุรายละเอียดที่ชัดเจนได้ เพราะทาง ก.ล.ต. เองจะเป็นผู้พิจารณา และก.ล.ต. ก็มีหลายเรื่องมากที่ต้องจัดการในมือขณะนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่สามารถไปจี้กะเกณฑ์ได้ เราเป็นเพียงตัวกลาง เป็นมาร์เก็ตเพรส มีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลที่น่าสงสัยและให้ทาง บจ. ชี้แจง โดยหากพบข้อมูลอะไรที่คิดว่าผิดปกติหรือเข้าข่ายความผิดทางกฏหมาย ก็จะส่งเรื่องให้สำนักงาน ก.ล.ต.พิจารณาในลำดับต่อไป"
สำหรับภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2567 มองว่าบรรยากาศจะมีความสดใสเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยเชิงบวกเป็นผลมาจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ การเดินหน้างวางแผนการลงทุนโครงการต่างๆ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอย ดิจิทัลวอลเล็ต การท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวที่ดีขึ้น รวมถึงการจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) และกองทุนวายุภักษ์ ที่จะมาช่วยหนุนให้มีเม็ดเงินเข้ามาตลาดทุนไทยเพิ่มมากขึ้น
รวมถึงมีปัจจัยบวกจากต่างประเทศภายหลังธนาคารสหรัฐฯ(เฟด) เริ่มส่งสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ย พร้อมคาดว่าจะช่วยหนุนให้ฟันด์โฟลว์น่าจะไหลกลับเข้ามาในตลาดประเทศเกิดใหม่และตลาดหุ้นไทยด้วย
ส่วนความคืบหน้าหลังจากที่ใช้มาตรการ Uptick Rules ที่เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นมานั้น ปัจจุบันผ่านระยะเวลามาแล้ว 8 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มมีผลบังคับใช้ มูลค่าการ Short Sell เฉลี่ยรายวันปรับลดลงถึง 72% หรือลดลงมาอยู่ที่ระดับเฉลี่ยราว 1,462 ล้านบาท