"โควิด-19"ระบาดหนัก-เอาไม่อยู่ หมอธีระชี้มาจาก 6 ปัจจัยหลัก

06 ก.ค. 2564 | 11:03 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2564 | 18:02 น.

หมอธีระเผย 6 ปัจจัยหลักทำโควิด-19 ระบาดหนัก คุมไม่อยู่ และทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ชี้ยุทธศาสตร์ นโยบายและการคัดกรองไม่เพียงพอ ระบุการเลือกซื้อวัคซีนไม่ตอบสนองการใช้งานจริง

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
สถานการณ์ทั่วโลก 6 กรกฎาคม 2564
ยอดเสียชีวิตรวมทะลุ 4 ล้านคนไปเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่อินโดนีเซียกำลังเผชิญกับจำนวนการติดเชื้อที่สูงมากกว่าที่เคยเป็นมากว่าสองเท่า ล่าสุดติดเพิ่มถึง 29,745 คน และเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ด้วยจำนวนประชากรกว่า 276 ล้านคนซึ่งมากเป็นอันดับ 4 ของโลก จึงมีโอกาสระบาดหนักมากขึ้น ส่วนเวียดนามติดเพิ่มหลักพันคนแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 334,262 คน รวมแล้วตอนนี้ 184,910,663 คน ตายเพิ่มอีก 6,012 คน ยอดตายรวม 4,000,281 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด คือ อินเดีย อินโดนีเซีย สหราชอาณาจักร โคลอมเบีย และรัสเซีย
อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 4,399 คน รวม 34,598,355 คน ตายเพิ่ม 23 คน ยอดเสียชีวิตรวม 621,335 คน อัตราตาย 1.8% แต่ละวันจำนวนติดเพิ่มและจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยกว่าประเทศไทย
อินเดีย ติดเพิ่ม 34,067 คน รวม 30,618,939 คน ตายเพิ่ม 552 คน ยอดเสียชีวิตรวม 403,310 คน อัตราตาย 1.3% 
บราซิล ติดเพิ่ม 22,703 คน รวม 18,792,511 คน ตายเพิ่มถึง 754 คน ยอดเสียชีวิตรวม 525,229 คน อัตราตาย 2.8% 
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 796 คน ยอดรวม 5,786,999 คน ตายเพิ่ม 36 คน ยอดเสียชีวิตรวม 111,197 คน อัตราตาย 1.9%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 24,353 คน รวม 5,635,294 คน ตายเพิ่ม 654   คน ยอดเสียชีวิตรวม 138,579 คน อัตราตาย 2.5% 

อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และอิตาลี ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
แถบอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย อย่างชิลี แซมเบีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล ญี่ปุ่น เมียนมาร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ติดกันเพิ่มหลักพัน 
เมียนมาร์หนักขึ้นมาก ล่าสุดติดเพิ่มเกือบสามพันคน ตายกว่าสี่สิบคน ไทยอาจต้องระวังเรื่องการลักลอบข้ามแดนที่จะมีมากขึ้นได้
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่อยู่หลักร้อย ยกเว้นคาซักสถาน คีร์กีซสถาน และมองโกเลียที่ติดเพิ่มหลักพัน 
คาซักสถานเข้าสู่ระลอกสี่แล้ว ล่าสุดติดเพิ่มกว่าสามพันคน
แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน คิวบากำลังเจอการระบาดหนักขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อิหร่านติดเพิ่มกว่า 16,000 คน หากเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องอีก 5-7 วันน่าจะถือว่าเข้าสู่ระลอกสี่เต็มตัว
เกาหลีใต้ และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ไต้หวัน ลาว สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และนิวซีแลนด์ ติดเพื่มต่ำกว่าสิบ

หมอธีระ บอกอีกว่า หากเราติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คงพอวิเคราะห์ได้ว่า การระบาดของไทยที่หนักหนาสาหัส คุมไม่ได้ และทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องนั้น อาจมาจากปัจจัยหลัก ดังนี้
หนึ่ง ยุทธศาสตร์ นโยบาย และมาตรการด้านการควบคุมป้องกันโรคที่ดำเนินมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอในการจัดการการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สอง การวางแผนนโยบายวัคซีนและการดำเนินงานแต่ละขั้นตอนมีปัญหา ตั้งแต่การประเมินสถานการณ์ระบาด การเลือกวัคซีน การจัดซื้อจัดหา และการกระจายวัคซีนนั้น ไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์การระบาดจริงได้ทัน ทั้งระลอกสองและสามที่รุนแรงและการกลายพันธุ์ของวัคซีน ทำให้เกิดปัญหาทั้งเชิงปริมาณวัคซีน และประสิทธิภาพของวัคซีน
สาม ระบบการตรวจคัดกรองโรคไม่เพียงพอ ไม่ครอบคลุม และยากต่อการเข้าถึงบริการ ทำให้ไม่สามารถรองรับความต้องการในยามระบาดหนักได้ สะท้อนถึงปัญหาในการวางแผนนโยบายจัดการโรคระบาดเช่นกัน
สี่ ทรัพยากรในระบบสาธารณสุขที่ใช้ในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อนั้นไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถรองรับปริมาณผู้ติดเชื้อยามระบาดหนักได้ เกิดภาวะเตียงล้นในพื้นที่ระบาดหนัก คนรอเตียงจนเสียชีวิตที่บ้าน จนเป็นเหตุให้นำไปสู่การไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากให้ทำ home isolation
ห้า ปัญหาเกี่ยวกับการทำงานด้านวิชาการในคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชงนโยบายและมาตรการด้านการป้องกันควบคุมโรค ดังที่เห็นจากข่าวล่าสุดเกี่ยวกับการประชุมของคณะทำงานในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีน mRNA ในช่วงวันสองวันที่ผ่านมา ส่งผลต่อความเชื่อมั่นศรัทธา และก่อให้เกิดความเคลือบแคลงกระบวนการทำงานทั้งหมดที่ผ่านมาว่าจะเกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องของการระบาด รวมถึงวัคซีนต่างๆ หรือไม่
และสุดท้ายคือ นโยบายอื่นที่ส่งผลต่อความเสี่ยงในการระบาดมากขึ้น เช่น นโยบายเปิดประเทศ และการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดในประเทศที่ยังรุนแรงและคุมไม่ได้
เหล่านี้คือ ปัจจัยหลักที่ทางศบค.ควรนำมาพิจารณาทบทวน และหาทางปรับเปลี่ยน ทั้งเรื่องกลไกสร้างนโยบาย กลไกการขับเคลื่อน และการจัดหาและจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นในระบบ
เชื่อว่าหากเรามองภาพจริง และช่วยกันปรับเปลี่ยนแก้ไข ใช้ความรู้ที่ถูกต้อง สถานการณ์การระบาดของเราจะดีขึ้นได้
เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ทำในสิ่งที่ควรทำ
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขจากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
ติดเชื้อเพิ่ม 5,420 ราย
สะสมระลอกที่สาม 265,790 ราย
สะสมทั้งหมด 294,653 ราย
หายป่วยกลับบ้านได้ 3,586 ราย
สะสม 199,597 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 57 ราย
สะสมระลอกที่สาม 2,239 ราย
สะสมทั้งหมด 2,333 ราย