ดังนั้น หากทุกคนได้เรียนรู้ที่จะประเมินความเสี่ยงจากอันตรายของสารเคมี จะทำให้อยู่กับสารเคมีได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน
รองศาสตราจารย์ ดร.เอกสิทธิ์ สมสุข อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สารเคมีที่อยู่ในห้องปฏิบัติการ ส่วนใหญ่จะเก็บไว้เพื่อใช้ทดลองในปริมาณที่ไม่มาก จึงไม่เป็นอันตรายเท่าสารเคมีที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งตามมาตรฐานความปลอดภัย จะต้องมีการประเมินความเสี่ยงของความอันตราย มีระบบที่ตรวจจับความอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ที่สำคัญโรงงานที่ใช้สารเคมีอันตรายควรตั้งอยู่ในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมและอยู่ห่างไกลจากเขตชุมชน
อุบัติเหตุโรงงานกิ่งแก้วอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่นจากการทำปฏิกิริยาจนเกิดความร้อน และแรงดัน หรือมีการรั่วของแก๊สที่ทำให้ติดไฟ จนทำให้เกิดการระเบิด โดยได้มีการยับยั้งอุบัติเหตุด้วยการพยายามใช้โฟมในการดับไฟและพยายามปิดวาล์วเพื่อทำให้สารเคมีออกสู่สิ่งแวดล้อมน้อยลง จากนั้นทำให้อุณหภูมิของถังเก็บสารเคมีต่ำลงด้วยการหล่อเย็น เพื่อที่จะยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาที่ไม่คาดฝัน
"ในฐานะนักเคมี ไม่อยากให้ทุกคนกลัวสารเคมี แต่ควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับสารเคมีด้วยความปลอดภัย รู้จักการประเมินความเสี่ยงของความอันตราย เพื่อลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างไม่คาดฝัน"
กรณีเกิดการระเบิดเพลิงไหม้จากสารเคมีอันตราย ในเบื้องต้นควรหลีกหนีสถานที่เกิดเหตุให้ไกลจากความอันตราย ควรหลีกเลี่ยงการสูดดมสารที่ระเหยออกมา อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ใช้หน้ากากอนามัยซึ่งไม่สามารถป้องกันอันตรายจากการระเหยของสารเคมีได้ นอกจากนี้ หากสารเคมีโดนผิวหนังควรล้างด้วยน้ำสบู่ แต่ถ้าโดนดวงตาให้ล้างด้วยน้ำสะอาด และถ้าถึงกับเกิดอาการหมดสติควรรีบส่งพบแพทย์