รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
สถานการณ์ทั่วโลก 13 กรกฎาคม 2564 ทะลุ 188 ล้านไปแล้ว ในขณะที่เมียนมาร์ติดเพิ่มวันเดียวเกินห้าพันคน ระลอกสองนี้หนักกว่าเดิม 2.5 เท่า ตายวันเดียวเกือบ 90 คน ส่วนเวียดนามติดเพิ่มกว่า 2,300 คน
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 371,258 คน รวมแล้วตอนนี้ 188,030,401 คน ตายเพิ่มอีก 6,112 คน ยอดตายรวม 4,055,264 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อินโดนีเซีย สหราชอาณาจักร อินเดีย รัสเซีย และอิหร่าน
อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 11,990 คน รวม 34,761,101 คน ตายเพิ่ม 118 คน ยอดเสียชีวิตรวม 623,006 คน อัตราตาย 1.8%
อินเดีย ติดเพิ่ม 27,404 คน รวม 30,901,311 คน ตายเพิ่ม 495 คน ยอดเสียชีวิตรวม 409,287 คน อัตราตาย 1.3%
บราซิล ติดเพิ่ม 17,031 คน รวม 19,106,971 คน ตายเพิ่มถึง 765 คน ยอดเสียชีวิตรวม 534,311 คน อัตราตาย 2.8%
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 1,260 คน ยอดรวม 5,813,899 คน ตายเพิ่ม 28 คน ยอดเสียชีวิตรวม 111,353 คน อัตราตาย 1.9%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 25,140 คน รวม 5,808,473 คน ตายเพิ่ม 710 คน ยอดเสียชีวิตรวม 143,712 คน อัตราตาย 2.5%
อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และอิตาลี ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย อย่างชิลี เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล ญี่ปุ่น เมียนมาร์ เกาหลีใต้ เวียดนาม และมาเลเซีย ติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
เกาหลีใต้เกินพันมาติดกันเป็นวันที่ 6 ล่าสุด 1,100 คน
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่อยู่หลักร้อย ยกเว้นคาซักสถาน คีร์กีซสถาน และมองโกเลียที่ติดเพิ่มหลักพัน
แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ในขณะที่อิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง
กัมพูชา ลาว และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ไต้หวัน และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่นิวซีแลนด์ติดเพื่มต่ำกว่าสิบ
หมอธีระ ระบุอีกว่า สถานการณ์ทั่วโลกมีจำนวนการติดเชื้อแต่ละวันเพิ่มสูงขึ้น กราฟการระบาดชี้ให้เห็นว่ากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นระลอกใหม่ ทั้งนี้ระลอกที่แล้วใช้เวลาไต่ขึ้นถึงจุดระบาดสูงสุดประมาณ 4-6 สัปดาห์หากนับจากระดับการติดเชื้อเท่านี้ ดังนั้นคงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด
หากมีธรรมชาติคล้ายกัน "ระลอกเดลตา"นี้คงจะไปพีคช่วงปลายสิงหาคมถึงต้นกันยายน ในขณะที่เราก็มักจะได้มีระบาดตามกระแสโลกถัดจากนั้นไม่นาน จึงต้องสร้างป้อมปราการของเราให้ดี รวมถึงวางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจให้เหมาะสม
ถามกันเยอะเกี่ยวกับสายพันธุ์เดลตา ซึ่งความรู้ทางการแพทย์ชัดเจนว่ามีสมรรถนะในการแพร่ (ประเมินจากค่า R) ได้มากขึ้นกว่าสายพันธุ์อัลฟาราว 55% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 43-68%)
ล่าสุดมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความรุนแรงของสายพันธุ์เดลตา ทำโดยทีมวิจัยจากแคนาดา เพิ่งเผยแพร่ใน MedRxiv เมื่อวานนี้
โดยทำการศึกษาข้อมูลของผู้ติดเชื้อในออนตาริโอ้ ประเทศแคนาดา จำนวน 211,197 คน ระหว่างกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน 2021 ในกลุ่มที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of concern: VOC) ได้แก่ อัลฟา (สหราชอาณาจักร) เบต้า (แอฟริกาใต้) แกมม่า (บราซิล) และเดลตา (อินเดีย) เปรียบเทียบกับกลุ่มไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อื่น
ผลการศึกษาพบว่า สายพันธุ์ที่น่ากังวลเหล่านั้น หากติดเชื้อแล้วจะมีความรุนแรงมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น 59% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 49-69%), เสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงจนต้องนอนรักษาตัวในไอซียูมากขึ้น 105% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 82-134%), และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น 61% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 40-87%)
ในขณะที่พอเจาะลึกดูสายพันธุ์เดลตา เปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ VOC แล้ว จะพบว่ามีความรุนแรงขึ้นมาก โดยทำให้เสี่ยงต่อการต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น 120% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 93-153%), เสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงจนต้องนอนรักษาตัวในไอซียูมากขึ้น 287% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 198-399%), และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น 137% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 50-230%)
พอเปรียบเทียบระหว่างเดลตา กับสายพันธุ์ที่น่ากังวลตัวอื่นๆ (อัลฟา เบต้า และแกมม่า) พบว่าทำให้เสี่ยงต่อการต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น 55% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 45-63%), เสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงจนต้องนอนรักษาตัวในไอซียูมากขึ้น 101% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 79-124%), และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น 59% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 39-84%)
ดังนั้นนี่จึงเป็นข้อมูลที่ตอกย้ำให้พวกเราทุกคนต้องพยายามป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด เพราะสายพันธุ์เดลตานี้กำลังระบาดอยู่หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยที่พบในสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ
ใส่หน้ากากสองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า เรื่องนี้สำคัญมาก
มุ่งเป้าที่จะป้องกันตัวเองและครอบครัวไม่ให้ติดเชื้อ
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 13 กรกฎาคม 64 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 8,685 ราย
สะสมระลอกที่สาม 324,849 ราย
สะสมทั้งหมด 353,712 ราย
หายป่วยกลับบ้านได้ 3,797 ราย
สะสมทั้งหมด 228,029 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 56 ราย
สะสมระลอกที่สาม 2,753 ราย
สะสมทั้งหมด 2,847 ราย