แนะเส้นทางเลี่ยงม็อบ 7 ส.ค. หลายกลุ่มนัดรวมตัว ตำรวจจัด 38 กองร้อยรับมือ

06 ส.ค. 2564 | 10:33 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2564 | 17:50 น.

บช.น. แจ้งประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางจราจรที่เป็นแนวเคลื่อนขบวนของกลุ่มผู้ชุมนุมหลากหลายกลุ่ม ที่นัดรวมตัว 7 ส.ค.นี้ เป้าหมายมุ่งหน้าสนามหลวงและทำเนียบรัฐบาล ขอให้หลีกเลี่ยงเส้นทางตั้งแต่เวลา 11.00 น. เป็นต้นไป ตำรวจจัด 38 กองร้อยรับมือพร้อมตั้ง 14 จุดสกัด

6 ส.ค.2564 พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.)  ในฐานะโฆษก บช.น. แจ้งว่า ตามที่มี การนัดชุมนุม ผ่านช่องทางออนไลน์ของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองวันเสาร์นี้ (7 ส.ค.64) ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ แต่ละกลุ่มมีการนัดรวมตัวและเคลื่อนขบวนในเส้นทางต่าง ๆ ได้แก่

 

  1. กลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) นัดรวมตัวกันในช่วงเวลา 13.00-14.00 น.ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นเคลื่อนขบวนไปพระบรมหาราชวัง และจะมีกลุ่มแนวร่วมต่างๆ มาสมทบ เช่น กลุ่มการ์ดวีโว่, กลุ่มราษฎร ฯลฯ
  2. กลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยนายธนเดช หรือม่อน ศรีสงคราม นัดรวมตัวยังไม่ทราบเวลาที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ จัดกิจกรรมในลักษณะคาร์ม็อบ 2 ล้อ จากนั้นเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล
  3. กลุ่มแดงก้าวหน้า 63, แดงใหม่ภาคี 4 ภาค, ราษฎรลพบุรี-สระบุรี-นครนายก และอื่นๆ นัดรวมจัดกิจกรรมคาร์ม็อบบุกกรุง โดยมีจุดหมายที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

กรณีดังกล่าวเป็นการกระทำผิดตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เรื่อง การห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 3 ส.ค.64 ข้อ 3 ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดฯ เว้นแต่เป็นกิจกรรมได้รับอนุญาตหรือได้รับการยกเว้น

 

นอกจากนี้ยังเป็นการฝ่าฝืนอันเป็นความผิดตามประกาศฯ และเข้าข่ายเป็นความผิดตาม 1.พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2.พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ 3.พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ 4.พ.ร.บ.ความสะอาดฯ 5.พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ อีกทั้งยังมีความผิดอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง คือมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไปแล้วไม่เลิก, การวางเพลิงเผาทรัพย์, ทำลายทรัพย์สินทางราชการ, ต่อสู้ขัดขวางพนักงานเจ้าหน้าที่, บุกรุกในสถานที่ต่างๆ ตามพฤติการณ์ของการกระทำความผิดเป็นรายๆไป

 

ทั้งนี้ ทางตำรวจได้เตรียมกำลังเอาไว้ 38 กองร้อย สำหรับการรับมือตลอดเส้นทางการเคลื่อนขบวน พร้อมปรับแผนเข้าสกัดกั้นเส้นทาง แต่ในเบื้องต้นตั้งแนวตั้งรับ 2 จุดใหญ่ คือ

  • บริเวณแยกพาณิชยการ หน้าทำเนียบรัฐบาล
  • หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์

 

นอกจากนี้จะมีการตั้งจุดตรวจ 14 จุดในเส้นทางที่จะเข้ามาชุมนุมเพื่อตรวจค้นอาวุธและป้องกันบุคคลที่ 3 ก่อความวุ่นวาย โดยจากการข่าว อาจจะมีการกระทบกระทั่งอย่างรุนแรง

 

ตำรวจแนะเส้นทางจราจรหลีกเลี่ยงผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆวันที่ 7 ส.ค.นี้

สำหรับเส้นทางจราจร ที่แนะนำเพื่อเลี่ยงเส้นทางการเคลื่อนขบวนของกลุ่มผู้ชุมนุมต่าง ๆนั้น พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) แจ้งประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับทราบ เกี่ยวกับการเคลื่อนขบวนของกลุ่มต่าง ๆไปยังสนามหลวง และทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไปนั้น

 

เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชน บช.น. จึงขอแจ้งข้อมูลข่าวสารด้านการจราจร เพื่อประกอบในการวางแผนการเดินทาง และขอให้หลีกเลี่ยงเส้นทางตั้งแต่เวลา 11.00 น. เป็นต้นไปจนเสร็จสิ้น

1. เส้นทางที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุมฯ และควรหลีกเลี่ยง

1.1 ถ.ราชดำเนินใน

1.2 ถ.ราชดำเนินกลาง

1.3 ถ.ราชดำเนินนอก

1.4 ถ.ตะนาว

1.5 ถ.ดินสอ

1.6 ถ.ลูกหลวง

1.7 ถ.หลานหลวง

1.8 ถ.ประชาธิปไตย

1.9 ถ.นครราชสีมา

1.10 ถ.นครสวรรค์

1.11 ถ.พิษณุโลก

1.12 ถ.ศรีอยุธยา

1.13 ถ.พระราม 5

1.14 สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า (แยกหลานหลวง - แยกผ่านฟ้า)

 

2. เส้นทางที่แนะนำให้ประชาชนไปใช้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านการจราจร

2.1 เส้นทางทิศเหนือ

1) ถ.สุโขทัย 2) ถ.นครไชยศรี 3) ถ.เศรษฐศิริ 4) ถ.อำนวยสงคราม 5) สะพานกรุงธน (ชังฮี้) 6) สะพานพระราม 7

2.2 เส้นทางทิศตะวันออก

1) ถ.วิภาวดีรังสิต (ช่องทางหลัก) 2) โทลล์เวย์ 3) ถ.พหลโยธิน 4) ถ.พระราม 6 5) ทางพิเศษศรีรัช 6) ถ.สวรรคโลก

2.3 เส้นทางทิศใต้

1) ถ.วิสุทธิกษัตริย์ 2) ถ.หลานหลวง (แยกยมราช - แยกหลานหลวง) 3) ถ.บำรุงเมือง 4) ถ.วรจักร 5) ถ.เจริญกรุง 6) ถ.เยาวราช 7) ถ.พระราม 1 8) ถ.พระราม 4

2.4 เส้นทางทิศตะวันตก

1) ถ.จรัญสนิทวงศ์ 2) ถ.บรมราชชนนี 3) ถ.อรุณอัมรินทร์  4) สะพานพระราม 8 5) สะพานพระพุทธยอดฟ้า 6) สะพานพระปกเกล้า