เป็นไปได้! เยอรมันฉีดน้ำเกลือให้ประชาชนมากถึง 8,600 คนแทนวัคซีน Pfizer

11 ส.ค. 2564 | 14:32 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2564 | 21:33 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลน่าเหลือเชื่อพบประชาชนชาวเยอรมันมากถึง 8600 คน ได้รับการฉีดเป็นน้ำเกลือ แทนที่จะเป็นวัคซีน Pfizer

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
เหลือเชื่อ !! ประชาชนชาวเยอรมันมากถึง 8600 คน ได้รับการฉีดเป็นน้ำเกลือ แทนที่จะเป็นวัคซีน Pfizer ทำให้ต้องถูกตามตัวกลับมาฉีดวัคซีนใหม่ทั้งหมด
มีรายงานข่าวจากทางการตำรวจเยอรมัน ซึ่งเริ่มดำเนินการสอบสวน กรณีพยาบาลรายหนึ่ง ที่ศูนย์ฉีดวัคซีน Friesland ทางตอนเหนือของเยอรมนีว่า เธอเป็นผู้ต้องสงสัยว่า ได้ฉีดน้ำเกลือเปล่า (Saline) ให้กับประชาชนเยอรมัน 8600 ราย ซึ่งทั้งหมดมีอายุมากกว่า 70 ปี แทนที่จะฉีดวัคซีนให้
เหตุเกิดในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิระหว่างวันที่ 5 มีนาคมถึง 20 เมษายน 2564 โดยการสอบสวน เกิดจากความสงสัยหลายประเด็น และมีการสอบสวนพยานหลายปากในช่วงเดือนมิถุนายน และได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า
พยาบาลที่ก่อเหตุดังกล่าว เป็นผู้ที่ดำเนินการคนเดียว และได้กระทำการหลายครั้งด้วยกัน ยังไม่มีข่าวออกมาชัดเจน ถึงมูลเหตุจูงใจของพยาบาลรายดังกล่าว แต่มีข่าวออกมาอย่างไม่เป็นทางการว่า พยาบาลดังกล่าวได้ทำขวดวัคซีนตก เลยทำการฉีดน้ำเกลือให้กับประชาชนแทนวัคซีน แต่จากข้อสงสัยว่า มีการฉีดน้ำเกลือให้หลายครั้งมาก เป็นจำนวนคนกว่า 8600 คน เหตุจากการทำขวดวัคซีนตก จึงไม่สามารถอธิบายเรื่องทั้งหมดได้

ทางการเยอรมันได้รีบติดต่อผู้ที่ฉีดวัคซีนจากศูนย์ดังกล่าว ในช่วง 5 มีนาคมถึง 20 เมษายน ให้กลับมาฉีดวัคซีนใหม่โดยเร็ว
โดยแจ้งให้ทราบว่า น้ำเกลือนั้นไม่ได้มีอันตรายหรือผลเสีย เพียงแต่จะไม่มีภูมิคุ้มกัน จึงจำเป็นจะต้องได้ฉีดวัคซีนตัวจริงโดยเร็ว
กรณีความผิดพลาดดังกล่าวนี้ อาจจะแตกต่างกับกรณีที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา 
เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ทางการนิวยอร์ก ต้องตามประชาชนกลับมาฉีดวัคซีนใหม่จำนวน 899 คน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่ฉีดวัคซีน ได้ทำการฉีดวัคซีนซึ่งหมดอายุไปแล้วเป็นเวลาห้าวันติดต่อกัน คือ 5-10 มิถุนายน 2564
โดยที่ข้างขวดวัคซีน ยังไม่หมดอายุ แต่วัคซีนถูกนำออกจากการเก็บแบบติด -70 องศาเซลเซียส มาอยู่ที่ตู้เย็น(2-8 องศาเซลเซียส) ซึ่งวันหมดอายุจะต้องเปลี่ยนแปลงไป

กรณีดังกล่าวจะเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับประเทศอื่นๆ ที่จะฉีดวัคซีน Pfizer ว่าจะต้องดูวันหมดอายุตามอุณหภูมิที่เก็บ ไม่ใช่วันหมดอายุที่ข้างขวดบอกไว้
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามการรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-10 ส.ค. 64 พบว่า มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 21,717,954 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 16,701,428 ราย ฉีดครบ 2 เข็มจำนวน 4,692,030 ราย และฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 324,496 ราย