ล่าสุด ในที่ประชุมร่วมกลุ่มโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย ได้นำเสนอแนวคิดในการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เพื่อฉีดให้กับประชาชนคนไทยที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอีกจำนวนมาก โดยพบว่า มี 4 มหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด มีมติเห็นชอบให้เป็นตัวแทนของภาครัฐนำเข้าวัคซีนทางเลือกและวัคซีนอื่นๆ เพื่อมาฉีดให้กับคนไทย โดยไม่มุ่งหวังกำไร
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ยังมีปริมาณมากต่อเนื่องตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา แม้ ศบค. จะเพิ่มมาตรการเข้มงวดสูงสุดในพื้นที่ที่มีการระบาดสูง ดังนั้น การผลักดันให้คนไทยได้ฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีน mRNA เช่น วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) , โมเดอร์นา (Moderna) หรือวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีโปรตีนเบส อย่างวัคซีนโนวาแวกซ์ (Novavax) เพื่อสร้างภูมิต้านทานหมู่ให้ได้ 70% ของจำนวนประชากร จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ณ เวลานี้ จึงเห็นความพยายามของหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงองค์กรอิสระในการผลักดันให้มีการนำเข้าวัคซีนให้ได้มากที่สุด
แหล่งข่าวระดับสูง กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ที่ประชุมกลุ่มโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัยรัฐ ซึ่งมีอยู่กว่า 10 มหาวิทยาลัยนั้น เห็นว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้มีความรุนแรงมาก และส่งผลกระทบต่อประเทศ ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ต้องทำงานอย่างหนักและมีผู้สูญเสียไปจำนวนหนึ่ง ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นสำหรับประเทศไทยในขณะนี้คือ “วัคซีน” ที่ต้องเร่งฉีดเพื่อสร้างภูมิต้านทานหมู่ ให้ได้มากที่สุด
“ที่ผ่านมาแม้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งเป็นด่านหน้าที่ต้องเผชิญกับเชื้อโควิด และแม้ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนเหล่านั้นไม่เพียงพอ ทำให้มีความเสี่ยงสูง และมีหลายโรงพยาบาลที่เกิดความสูญเสีย ซึ่งแม้จะมีการจัดสรรวัคซีนประสิทธิภาพสูงมาให้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ เหมือนกับการให้นักรบออกไปสู้แต่ไม่มีเกราะป้องกันหรืออาวุธ เพื่อไปต่อสู้”
ต่อคำถามที่ว่า ทำไมไม่ดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 หลังจากที่ราชกิจจานุเบกษา ได้ออก ประกาศแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2564 แหล่งข่าวกล่าวว่า ในช่วงเวลานั้นยังเชื่อมั่นว่า ด้วยมาตรการต่างๆของสาธารณสุขในการดำเนินการจัดหาและกระจายวัคซีน ยังเป็นไปตามประกาศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเร่งรัดให้การขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนฯ เป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ และประชาชนได้รับประโยชน์
โดยแผนการจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดให้ได้ 70% ของจำนวนประชากรหรือ 100 ล้านโดส สำหรับคนไทย 50 ล้านคนยังเป็นไปตามแผนเดิมที่วางไว้ ขณะเดียวกันในประกาศยังกำหนดแนวทางให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประสานงาน ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ผลิต วัคซีนป้องกันโควิด ให้ขี้นทะเบียนได้อย่างคล่องตัว
รวมทั้งกำหนดให้มีหน่วยงานของภาครัฐ ทำหน้าที่ในการนำเข้าแล้วคือ กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่และอำนาจในการบริหารทางการแพทย์ หรือสาธารณสุข แก่ประชาชน ร่วมมือกันในการดำเนินการจัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเร่งด่วน (ตามประกาศข้อ 3 ในราชกิจจานุเษกษา)
“ที่ผ่านมา เราเชื่อว่าสาธารณสุขของไทยมีความสามารถในการบริหารจัดการวัคซีนได้ แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบันที่ยังมีผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอีกมากมาย ดังนั้นจึงมีการพูดคุยกัน และมองหาโอกาสที่จะช่วยนำเข้าวัคซีนเพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงและมีโอกาสฉีดให้ได้มากที่สุด”
อย่างไรก็ดี การที่กลุ่มโรงพยาบาล ในมหาวิทยาลัยของรัฐจะผนึกความร่วมมือในการนำเข้าวัคซีนในครั้งนี้ แต่ละมหาวิทยาลัยจะต้องผ่านความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยก่อน จึงจะมีการพูดคุยประชุมร่วมกันอีกครั้ง ส่วนกระบวนการดำเนินการหลังจากนี้ จะมีการส่งตัวแทนของโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัยเหล่านี้ ไปเจรจากับผู้ผลิตทั้งในประเทศสหรัฐ อเมริกา เยอรมนี และสวิสเซอร์แลนด์ ต่อไป
ด้าน ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปอะไร เพียงแต่ว่าในวงประชุมร่วมของกลุ่มโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัยของรัฐซึ่งมีกว่า 10 แห่ง เพื่อหารือแลกเปลี่ยนกันถึงภารกิจเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ได้หารือแลกเปลี่ยนกันในหลายเรื่อง รวมไปถึงเรื่องวัคซีนว่าจะจัดหามาได้อย่างไรกันบ้าง แต่ไม่ได้เป็นวาระชัดเจนโดยตรง และยังไม่มีข้อสรุปอะไร
ปัจจุบันโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัย และโรงเรียนแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์หรือวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในประเทศไทย มีอยู่กว่า 20 แห่ง อาทิ โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทยและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นต้น