ฉีดวัคซีนโควิดเข้าชั้นผิวหนังสร้างความเสมอภาคเพิ่ม 10 ล.เป็น 50 ล.โดส

15 ส.ค. 2564 | 04:05 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2564 | 11:55 น.

หมอธีระวัฒน์เสนอแบบแผนการฉีดวัคซีนโควิดเข้าชั้นผิวหนัง เชื้อสร้างความเสมอภาคให้ทุกคนในประเทศไทย ระบุช่วงเพิ่มจำนวนจาก 10 ล้านเป็น 50 ล้านโดส

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า
ข้อเสนอแบบแผนการฉีดวัคซีนโควิดเข้าชั้นผิวหนัง (intradermal)
เราต้องการความเสมอภาคสำหรับทุกคนในประเทศไทย นั่นคือหมายความว่าถ้าเรามีวัคซีน 10 ส้าน โดส จะกลายเป็น 50 ล้าน ในทันที ถ้ามีปริมาณพร้อมเมื่อไหร่ การฉีดง่ายไม่ได้ยุ่งยากเลย
ประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ 37 ปีที่แล้วและเป็นบรรทัดฐานสำหรับวัคซีนแทบทุกชนิดที่องค์การอนามัยโลกอนุมัติ ทั้งโรคพิษสุนัขบ้าแม้กระทั่งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ในปัจจุบัน เมื่อได้ข้อมูลเบื้องต้น ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยซึ่งจากวัคซีนทั้งหมดที่ผ่านมาและใช้การฉีดวิธีนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไร
การฉีดสามารถทำได้ทุกหัวระแหง ไม่ต้องแออัดยัดเยียดและไม่ต้องจัดใครก่อนใครหลัง เนื่องจากจำนวนพอสำหรับทุกคนในประเทศไทย
นอกจากนั้นสามารถทำการติดตามผลไปพร้อมๆกับการปฎิบัติ และถ้าจะทำการฉีดกระตุ้นก็สามารถทำได้โดยไม่เปลืองปริมาณวัคซีนเพิ่มมากขึ้นอีกเท่าไหร่
มีการทดสอบแล้วของวัคซีนโมเดอร์นา ในประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ผลเท่ากับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อโดยปริมาณใช้เพียงหนึ่งในห้าหรือหนึ่งใน 10 ของปริมาณวัคซีนเท่านั้น และในประเทศไทยเองมีข้อมูลของการฉีดกระตุ้นด้วยการฉีดชั้นผิวหนังเรียบร้อยแล้ว และทำในหลายสถาบัน

วัตถุประสงค์
เพื่อให้ได้ขยายครอบคลุมการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดในประเทศไทย และเพื่อให้ได้ภูมิคุ้มกันที่เร็วที่สุดหลังจากที่ฉีดวัคซีนโดยเร็วกว่าการฉีดเช้ากล้าม
ทั้งนี้โดยที่ถ้าเป็นวัคซีนเชื้อตายซิโนแวค จะเห็นภูมิขึ้นเมื่อหลังเข็มที่สอง (ซึ่งห่างจากเข็มที่หนึ่งหนึ่งเดือน) ไปแล้วหนึ่งเดือน และถ้าเป็นแอสตร้าเซนเนก้า ถึงแม้ว่าจะเริ่มเห็นภูมิ ที่สองอาทิตย์หลังจากเข็มแรกแต่ก็จะเห็นภูมิชัดเจนต้องหลังจากเข็มที่สอง (ซึ่งเข็มที่สองห่างจากเข็มแรกไม่ต่ำกว่าสองถึงสามเดือน) ส่วนวัคซีน ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ซึ่งห่างกันสามถึงสี่อาทิตย์ระหว่างเข็มที่หนึ่งและสอง ถึงแม้ว่าภูมิจะขึ้นเร็ว แต่ก็ต้องรอเต็มที่หลังจากฉีดเข็มที่สองแล้วสองอาทิตย์

การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง
สำหรับการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง
1.เป็นรูปแบบการฉีดเหมือนกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเชื้อตายทุกอย่างที่องค์การอนามัยโลกยอมรับและใช้กันทั่วโลก มา 37 ปีแล้ว และแม้แต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ในปัจจุบันทั่วโลกก็มียี่ห้อที่ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง
2.ควรใช้ได้กับวัคซีนทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อตายหรือจะเป็นวัคซีนชนิดไวรัสเวคเตอร์ เช่นแอสตร้า หรือจะเป็นชนิด mRNA เช่นไฟเซอร์ โมเดนา
3.วิธีการฉีด 0.1 cc เข้าชั้นผิวหนังที่ต้นแขนในวันที่ศูนย์ สาม และเจ็ด ในกรณีของซิโนแวค ซิโนฟาร์ม แอสตร้าเซนเนก้า 
ในกรณีของวัคซีน ไฟเซอร์  โมเดอร์นา ใช้ ขนาด 10 (หริอ 20) ไมโครกรัม (ตามการศึกษาของประเทศเนเธอร์แลนด์) เข้าชั้นผิวหนังในวันที่ศูนย์ สามและเจ็ด โดยที่การฉีดเข้ากล้ามต้องใช้ถึง 100 ไมโครกรัม และต้องดูปริมาตรฉีดให้ดีเนื่องจากวัคซีนโมเดอร์นา มีเนื้อวัคซีน มากกว่าไฟเซอร์ สามเท่าโดยประมาณ

4.ประเมินระดับภูมิคุ้มกันที่ยับยั้งไวรัสได้ (Neutralizing antibody) ในวันที่ 14 โดยการเจาะเลือด (clotted blood) 3 cc 
โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ จุฬา  ทำการประเมินเป็นปกติอยู่แล้ว และในห้องปฏิบัติการอื่นก็มีเช่นกัน
การใช้การฉีดเข้าชั้นผิวหนังไม่ควรใช้เวลาไตร่ตรองเนิ่นนานเกินไป สามารถปฏิบัติได้เลยและประเมินผลรวมทั้งเปรียบเทียบผลข้างเคียงแทรกซ้อนกับการฉีดแบบเข้ากล้าม
ทั้งนี้การศึกษาที่ได้เริ่มทำไปแล้วนั้นพบว่าได้ผลไม่ต่างกันอีกทั้งผลข้างเคียงดูจะน้อยกว่ามากหรือไม่มีเลย และสามารถใช้ได้เป็นแบบกระตุ้นเข็มที่สามหรือจะเป็นแบบเริ่มต้นตั้งแต่เข็มที่หนึ่งก็ตาม
การฉีด เข้าชั้นผิวหนังจะเป็นการปฏิวัติวัคซีนโควิดให้สามารถใช้ได้กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศภายในสามเดือนโดยจำนวนวัคซีนที่มีอยู่ขณะนี้
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลการายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตี้งแต่วันที่ 18 ก.พ.-13 ส.ค. 64 พบว่า มีการฉีดสะสมแล้ว 23,192,491 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 17,696,114 ราย ฉีดครบ 2 เข็มจำนวน 5,033,568 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 464,809 ราย