เด็กเล็กถึงโตและวัยรุ่นควรได้รับวัคซีน หมอธีระวัฒน์แนะใช้วัคซีนเชื้อตาย

07 ก.ย. 2564 | 01:39 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2564 | 08:38 น.

หมอธีระวัฒน์ชี้เด็กเล็กถึงโตและวัยรุ่นควรได้รับวัคซีนโควิด แนะใช้วัคซีนเชื้อตายซิโนแวค ซิโนฟาร์ม จะมีความปลอดภัยมากที่สุด

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า
เด็กเล็กถึงโตและวัยรุ่น ควรได้วัคซีน
หมอธีระวัฒน์ ระบุว่า ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าเด็กมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายเหมือนกับผู้ใหญ่และปฏิบัติตัวเป็นคนแพร่เชื้อต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้โดยทั่วไปอาจจะไม่ยกระดับเป็นอาการหนักเท่าผู้ใหญ่ก็ตาม
ข้อจำกัดของวัคซีนในปัจจุบันอยู่ที่อาจจะยังขาดข้อมูลความปลอดภัยในกลุ่มเด็กตั้งแต่ 1-2 ขวบ ไปจน 16 ปี
แต่อย่างไรก็ตามในประเทศจีนเองได้เล็งเห็นความสำคัญและมีการใช้วัคซีนเชื้อตายในกลุ่มเด็กแล้ว
ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนเทคโนโลยีอื่นวัคซีนเชื้อตายควรจะมีความปลอดภัยที่สุดในเด็ก จากประสบการณ์ของวัคซีนหลากหลายที่เป็นเชื้อตาย และใช้กันมานานมากกว่า 60 ปี
นอกจากนั้น จากข้อมูลในประเทศไทยเอง จะพบว่าผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายเช่น ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม  ครบสองเข็มและหลังจากนั้นตามต่อด้วยวัคซีนเช่น แอสตร้าเซนเนก้า หรือ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา จะมีระดับของภูมิคุ้มกันที่สามารถยับยั้งไวรัสหรือที่เรียกว่าภูมิดีขึ้นสูงมากถึงระดับเกือบ 100% และสามารถมีประสิทธิภาพครอบคลุมสายพันธุ์อื่นเช่นเดลต้าได้อย่างดีมาก ซึ่งควรจะได้รับผลเช่นเดียวกันในกลุ่มเด็กแล้วจะทันไม่สามารถครอบคลุมคนไทยได้ทุกอายุในประเทศไทย

สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 (Covid-19)ให้กับกลุ่มเด็กนั้น แต่ละประเทศก็มีมุมมองที่แตกต่างกัน "ฐานเศรษฐกิจ" ได้ติดตามข้อมูลและรวบรวมได้ดังนี้
ประเทศอังกฤษ คณะกรรมการด้านวัคซีนของอังกฤษ ( JCVI : Joint Committee on Vaccination and Immunisation )ได้มีความเห็นเบื้องต้นว่า ยังไม่สมควรแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดกับเด็กสุขภาพดีในช่วงอายุ 12-15 ปี โดยได้ชั่งผลดีผลเสียทั้งสองด้านแล้วว่า เด็กอายุ 12-15 ปีที่ไม่มีโรคประจำตัว เมื่อติดเชื้อแล้วส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ และมีส่วนน้อยที่มีอาการเล็กน้อย ซึ่งก็จะหายได้เองโดยที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
โดยมีสถิติยืนยันว่า เด็กที่ไม่มีโรคประจำตัว ติดโควิดแล้วต้องนอนโรงพยาบาลเพียง 2 รายใน 1,000,000 ราย ในขณะที่เด็กที่มีโรคประจำตัว จะต้องนอนโรงพยาบาลมากถึง 100 รายต่อ 1,000,000 ราย

เด็กเล็กถึงโตและวัยรุ่น ควรได้วัคซีน
ส่วนผลข้างเคียงของวัคซีนโดยเฉพาะเทคโนโลยี mRNA คือของ Pfizer พบว่ามีผลข้างเคียงที่พบน้อยมาก (very rare) แต่มีอาการรุนแรงคือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) โดยมักจะพบในผู้ที่มีอายุค่อนข้างน้อย  ไม่พบในผู้สูงอายุ
โดยมีสถิติจากสหรัฐอเมริกาว่า จะพบในผู้หญิง 8 รายใน 1,000,000 โดส และในผู้ชายพบถึง 60 รายใน 1,000,000 โดส สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มอายุ 12-17 ปี ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น และมีรายงานการเสียชีวิตไปบ้างแล้ว
คณะกรรมการ JCVI จึงชั่งน้ำหนักว่า ประโยชน์ที่ได้จากการฉีดวัคซีน ยังไม่ได้มากกว่าผลข้างเคียงของวัคซีนอย่างชัดเจน

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถือเป็นประเทศแรกนอกประเทศจีนที่ วัคซีน Sinopharm สามารถฉีดในเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไปได้แล้ว 
ประชากรวัยเด็ก ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการติดโควิดสูงสุดในขณะนี้ เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนที่อนุมัติให้ฉีดได้อย่างเป็นทางการ ยกเว้น Pfizer ซึ่งฉีดได้ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป และมีบางประเทศ ที่อนุมัติให้ฉีดอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปได้ เช่น สหรัฐฯ แคนาดา สิงคโปร์ ฮ่องกง และจีน เป็นต้น แต่ในการฉีดเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา ยังไม่มีการอนุมัติเป็นที่แพร่หลาย
สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประเทศแรกที่อนุมัติให้ฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (EUA) สำหรับเด็กอายุตั้งแต่สามขวบขึ้นไปได้ เป็นวัคซีนของ Sinovac เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 จากการทดลองเฟส1/2 ของเด็กจำนวน 552 คน ในช่วงตุลาคมถึงธันวาคม 2563 ที่มณฑลหูเป่ย ได้ผลดีทั้งเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีน
ต่อมา Sinopharm ก็เป็นวัคซีนลำดับที่สอง ที่ได้รับการอนุมัติให้จดทะเบียนฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศจีน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 และในเดือนสิงหาคม 2564 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ได้อนุมัติให้สามารถฉีดวัคซีน Sinopharm ในเด็กตั้งแต่อายุ 3 ขวบขึ้นไปจนถึง 17 ปีได้ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน