รายงานข่าวจาก สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เผยว่า ได้จัดงานสัมมนาประจำประจำปี 2564 “Thailand Management Day 2021” ภายใต้หัวข้อ “TMA Club: Addressing the Uncertainty” โดย เปิดเวทีให้กลุ่มผู้นำทางความคิด ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อเสนอแนะแนวทางการรับมือกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากวิกฤติ โควิด-19 ทั้งการเปลี่ยนแปลงองค์กร การรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และที่สำคัญการร่วมมือกันเพื่อ “รีสตาร์ทประเทศ” ให้เศรษฐกิจเดินหน้าอีกครั้งเพื่อก้าวสู่ความยั่งยืน
ความท้าทายที่ทุกคนต้องเผชิญหลังวิกฤติโควิด-19
ทั้งนี้ “The Uncertainty beyond COVID” หรือ ความไม่แน่นอนหลังยุคโควิด ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่พิเศษอย่างยิ่ง เพราะเป็นวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลก ไม่ว่าใครทำอาชีพอะไร อาศัยอยู่ประเทศไหน นี่จึงเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่มนุษยชาติต้องร่วมกันหาทางออกเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว และขณะเดียวกันก็ต้องหาทางรับมือประเด็นเฉพาะหน้าในระยะสั้นไปพร้อม ๆ กัน
โดยสิ่งหนึ่งที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดขึ้น คือทำให้เรามองเห็นปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนขึ้น ตั้งแต่ระบบสาธารณสุข ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทาน ความแตกแยกทางการเมือง ตลอดจนปัญหาโลกร้อนที่กำลังเข้าสู่ภาวะฉุกเฉิน เราทุกคนต้องปรับมุมมองการแบ่งแยกจากพวกเราพวกเขา (Us vs. Them) เพราะความจริงคือเราทุกคนบนโลกล้วนต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้ร่วมกัน
นอกจากนี้ วัฒนธรรมการทำงานที่เปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากโควิดได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก การทำงานที่บ้าน (Work from Home: WFH) จะกลายเป็นเรื่องปกติใหม่สำหรับธุรกิจและพนักงาน และยังส่งผลต่อระบบนิเวศการทำงานในเมืองใหญ่ด้วย เพราะเมื่อพนักงานไม่จำเป็นต้องเดินทางมาทำงานในออฟฟิศแล้ว ธุรกิจที่เชื่อมโยงกับระบบนี้ เช่น ระบบขนส่งมวลชน ร้านอาหาร และร้านค้าปลีก ก็จำเป็นต้องปรับตัวตาม ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคืออสังหาริมทรัพย์ เมื่อบริษัทไม่จำเป็นต้องเช่าพื้นที่ออฟฟิศในเมืองใหญ่ ราคาอสังหาฯ ในเมืองก็จะตกลง
ขณะเดียวกัน WFH ก็ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีภาระเริ่มย้ายออกจากเมืองใหญ่สู่ย่านชานเมืองหรือภูมิลำเนาเดิม ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานและตลาดแรงงานในเมืองเล็ก ซึ่งรวมถึงกลุ่มแรงงานคนพิการที่ก่อนหน้านี้มีความยากลำบากในการเดินทาง ก็สามารถทำงานจากบ้านได้และเข้าถึงโอกาสงานได้มากขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตาดูความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้และประเมินสถานการณ์เพื่อที่จะสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะไม่เพียงสถานการณ์เท่านั้นที่เปลี่ยน เราเองก็จำเป็นต้องปรับตัวตามด้วย
แนะภาคธุรกิจวางแผนทรานส์ฟอร์มองค์กร
ในการเสวนาหัวข้อ “The Myth of Transformation” กลยุทธ์การปรับเปลี่ยนองค์กรในทุก ๆ มิติ ให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและมีความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา และ “No Man’s Land: The Human-Machine Revolution” ผู้ร่วมเสวนาได้แนะนำให้องค์กรวางแผนเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงประสบความสำเร็จต้องเกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กร รวมถึงการเลือกสรรเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจ ที่จะสามารถต่อยอด เพิ่มประสิทธิภาพ และช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานในอนาคต
“สิ่งสำคัญของการทรานส์ฟอร์มองค์กร คือการกลับไปหาแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ โจทย์เริ่มต้นของการทำธุรกิจ คืออะไร และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยตั้งแต่การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุน บริหารความเสี่ยง และทำให้การปฏิบัติงานภายในองค์กรดีขึ้น รวมไปถึงการขยายธุรกิจใหม่ ๆ สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงองค์กรสำเร็จ จะต้องเกิดจากผู้นำสูงสุด ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้บริหาร หรือซีอีโอ แต่รวมถึงคณะกรรมการบริษัทด้วย”
จะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจยุคนี้ ต้อง Small is beautiful ภายใต้แนวคิด “ถอยไปข้างหน้า” โดยแบ่งการดำเนินธุรกิจเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก คือธุรกิจเดิมที่ยังสามารถสร้างผลกำไรได้ต่อเนื่อง ยังคงทำต่อไป ส่วนที่สองกลุ่มที่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ ต้องหาเทคโนโลยี เครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาช่วย และส่วนที่ 3 ธุรกิจที่จะสร้างการเติบโตในอนาคต ซึ่งกลุ่มนี้ต้องศึกษา หาความรู้ มองหาโอกาส แต่ต้องคิดให้เร็ว แล้วรีบดำเนินการ
สิ่งสำคัญคือการหารูปแบบธุรกิจที่เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบในทุกภาคส่วน และเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และมีความซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลไปถึงภาคการผลิต ซัพพลายเชนที่ต้องปรับกระบวนการทำงานให้ทัน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เร็วขึ้น โดยใช้ระบบออโตเมชั่น หรือสมาร์ท แฟคตอรี่เข้ามาช่วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และความสามารถการแข่งขันได้ดีขึ้น
ในการเสวนา หัวข้อ Club DTMG: Digital Service Innovation: The Force Behind Customer Experience ในส่วนขององค์กร พนักงาน และลูกค้า รวมถึงการปรับตัวทั้งในส่วนของ front end และ back end เพื่อที่จะนำไปสู่ทิศทางของ Digital Service Innovation นั้น โควิดทำให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจต้องปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น ทำให้องค์กรต้องปรับตัวในการทำงานจาก Re active ไปสู่ Pro Active จะต้องหาวิธีแก้ไขปัญหา ก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค
โดยองค์กรต้องวางแผนรูปแบบการทำงานใหม่ ตั้งแต่กระบวนการคิด การพัฒนาทักษะการทำงานในด้านดิจิทัล ในทุกขั้นตอนของการทำงานเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงในรูปแบบสินค้าและบริการที่จะไปสู่ผู้บริโภค รวมทั้ง องค์การสมัยใหม่จะต้องเป็นองค์กรในรูปแบบที่เป็น Data-driven ให้มากขึ้น เพื่อส้รางประสิทธิภาพในอนาคตอีกด้วย
นอกจากนี้พนักงานในองค์กรถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด แต่ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้บริหารองค์กรต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ต้องช่วยให้พนักงานทำงานง่ายขึ้น ต้องพัฒนาทักษะการทำงานใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ขณะเดียวกันผู้บริหารต้องรับฟังมากขึ้น และรุ้ว่าพนักงานต้องการอะไร เพื่อที่จะบริหารองค์กรให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ด้วยการผสมผสานความคิดที่แตกต่าง แต่บรรลุเป้าหมายเดียวกัน”
การตลาดปรับกลยุทธ์สู้วิกฤติ
สำหรับการเสวนา Club MMG: Unrule Marketing การทำการตลาดรูปแบบใหม่ ที่ไม่สามารถยึดตามกฎหรือหลักการที่เคยใช้มาก่อน ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือร้านอาหาร เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิดมาสู่ร้านอาหารมีความรุนแรงมาก ทั้ง 4 ระลอก ซึ่งตั้งแต่ระลอกแรก หลายบริษัทได้ปรับกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ใหม่ ขายเฉพาะช่องทางออนไลน์เท่านั้น ไม่มีหน้าร้าน หรืออาจปรับมาเป็นการเช่าพื้นที่นอกห้างสรรพสินค้าเพื่อทำครัวกลาง หรือ Cloud Kitchen รองรับบริการร้านอาหารแบบเดลิเวอรี่ ซึ่งในอนาคตร้านอาหารที่มีหลายสาขาอาจจะต้องวางแผนทำ Cloud Kitchen แบบถาวร เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจในอนาคต
สิ่งสำคัญในการทำการตลาดยุคนี้ ต้องใช้ Adaptive Marketing และ Data Driven Marketing นำข้อมูลมาช่วยในการวางแผนการตลาด เชื่อมโยงกับโลกดิจิทัล และต้องปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือกับผู้บริโภคที่มีความหลากหลาย และต้องกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ เพื่อสร้างประสบการณ์ในมุมที่แตกต่างให้กับผู้บริโภค ตอนนี้ทุกคนต้องช่วยกัน รีสตาร์ท ไทยแลนด์ ในแต่ละกลุ่มธุรกิจยังคงต้องเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง และมีนโยบายที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งคู่ค้า ร้านค้า รวมทั้งทำงานร่วมกับภาครัฐ ในการดึงนักท่องเที่ยวกลับมา เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเดินไปข้างหน้า
ในการเสวนาหัวข้อ "Fantastic Innovation and Where to Find Them" การสร้างนวัตกรรมแบบเปิด (open innovation) หรือผสมผสานองค์ความรู้ที่ได้จากภายในและภายนอกองค์กร ที่มีความทันสมัย สามารถนำมาใช้พัฒนาธุรกิจได้อย่างประสบความสำเร็จ และเราจะเฟ้นหา Innovation เหล่านี้ได้จากที่ไหนบ้าง ประเทศไทยต้องสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรมให้เกิดขึ้น ผ่าน 5 เรื่องสำคัญ คือ 1. นโยบายสนับสนุนการลงทุนวิจัย และพัฒนา 2. การให้สิทธิประโยชน์ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีผ่านบีโอไอ 3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 4. การพัฒนาคน และ 5. ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในองค์กรธุรกิจต้องสร้างอินโนเวชั่นให้เกิดขึ้น และสนับสนุนบริษัทเล็กที่เป็นซัพพลายเออร์ให้พัฒนาไปด้วยกัน
นอกจากนี้ เราควรให้ความสำคัญกับเรื่องนวัตกรรม และทำให้เกิดความร่วมมือกันในระดับประเทศโดยเน้นที่ประเด็น BCG (Bio-Circular-Green) เป็นประเด็นหลัก มีการลงทุนทั้งในรูปแบบร่วมลงทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพ และการเข้าซื้อกิจการ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่การวางกลยุทธ์ขององค์กร และบริหารจัดการให้นวัตกรรมนั้นเกิดมูลค่าต่อองค์กร ทั้งการสนับสนุนธุรกิจหลัก และการสร้างธุรกิจต่อเนื่องในอนาคต
และท้ายที่สุด ของหัวข้อการสัมมนา The New Super Hero : the People and Skills We Need คนคือปัจจัยสำคัญขององค์กร แล้วคนที่มีทักษะ แบบไหน ที่องค์กรต้องการในอนคต หากต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจะต้องให้ความสำคัญในการเร่งพัฒนาคุณภาพคน ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพของแรงงาน อาทิ พัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะสูง มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมในการพัฒนาบุคคล รวมถึงการปลูกฝังทัศนคติแนวคิดที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และรับมือกับการเปลี่ยนแปลง (Growth Mindset) ให้ความสำคัญกับการเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งการสร้างกลไกให้เกิดการเรียนรู้ การสร้างสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้คนทุกกลุ่มสามารถพัฒนาทักษะของตนได้ง่ายขึ้น การมีข้อมูลและกำหนดทิศทางการพัฒนาที่เหมาะสมสอดคล้องกับความถนัด และความต้องการของประเทศในอนาคต