รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนกลุ่ม AstraZeneca (CanSino) ได้ภูมิคุ้มกันสูงกว่าฉีดด้วยวัคซีน Sinovac มากถึง 4.2-5.8 เท่า
จากที่มีการศึกษาทดลองทั่วโลก ในการฉีดวัคซีนแบบไขว้หรือแบบสลับบริษัทหรือเทคโนโลยี ( Heterologous prime-boost) อันเนื่องมาจากเหตุผลความจำเป็นต่างๆกัน อาทิเช่น การขาดแคลนวัคซีนในบางช่วงเวลา หรือการที่ผู้รับวัคซีนมีผลข้างเคียงจากวัคซีนชนิดหนึ่ง แล้วต้องไปฉีดวัคซีนอีกชนิดหนึ่ง
จึงทำให้เกิดการศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูล และวิจัยการไขว้หรือสลับวัคซีนกันหลายแบบด้วยกัน ที่มีรายงานค่อนข้างจะมากหน่อย มักจะเป็นรายงานการศึกษาจากประเทศทางตะวันตก
โดยการฉีดวัคซีนสลับหรือไขว้ระหว่างไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector) เช่น AstraZeneca CanSino กับ mRNA เช่น Pfizer Moderna ซึ่งพบว่าได้ผลดี กระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นสูง แต่ยังไม่ค่อยมีการรวบรวมข้อมูลของวัคซีนเชื้อตายของประเทศตะวันออก
จนล่าสุด การศึกษาในประเทศตุรกีและประเทศจีนเอง พบว่าการฉีดวัคซีนเชื้อตายกระตุ้นเข็มที่สาม ตามหลังวัคซีนเชื้อตายสองเข็มแรก ได้ระดับภูมิคุ้มกันขึ้นสูงเป็นที่น่าพอใจ
แต่ในกรณีการฉีดวัคซีนสลับบริษัทระหว่างวัคซีนเชื้อตาย กับวัคซีนไวรัสเป็นพาหะ ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนมากนัก
ขณะนี้มีรายงานการศึกษาจากประเทศจีน โดยหน่วยงานที่เรียกว่า Chinese Academy of Sciences Furan University และบริษัท Sinovac
ได้ผลการศึกษาที่น่าสนใจ โดยได้เก็บข้อมูลในอาสาสมัครอายุ 18-59 ปี ซึ่งได้ฉีดวัคซีนเชื้อตายของ Sinovac ไปแล้วหนึ่งหรือสองเข็ม แล้วทำการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีน Sinovac เป็นเข็มที่สองหรือเป็นเข็มที่สามแล้วแต่กรณี
และมีอีกกลุ่มหนึ่ง ฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนไวรัสเป็นพาหะของ CanSino และเปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกันที่มีต่อ Live virus ในช่วงวันที่ 25-26 พฤษภาคม 2564 ได้ผลออกมาชัดเจนว่า
การฉีดวัคซีนกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นเข็มสองหรือเข็มสาม ด้วยเทคโนโลยีที่ต่างไป ในที่นี้คือไวรัสเป็นพาหะของบริษัท CanSino ทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงกว่าการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตายของ Sinovac
โดยในกรณีฉีดเข็มหนึ่ง เป็น Sinovac และเข็มสองเป็น CanSino จะได้ระดับภูมิคุ้มกัน 54.4 หน่วยโดยฉีด Sinovac สองเข็มได้ 12.8 หน่วย ต่างกัน 4.25 เท่าตัว
SV-CN 54.4
SV-SV 12.8
ในกรณีฉีดวัคซีน Sinovac แล้วสองเข็ม กระตุ้นด้วย CanSino เป็นเข็มที่สาม ได้ระดับภูมิคุ้มกัน 197.4 หน่วย ในขณะที่กระตุ้นด้วยวัคซีนเชื้อตาย Sinovac ได้ 33.6 หน่วย แตกต่างกัน 5.87 เท่า
SV-SV-CN 197.4
SV-SV-SV 33.6
จึงทำให้ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า การฉีดวัคซีนสลับระหว่างวัคซีนเชื้อตายกับวัคซีนไวรัสเป็นพาหะ จะได้ระดับภูมิคุ้มกันสูงกว่าการฉีดวัคซีนเชื้อตายทั้งหมด อยู่ประมาณ 4.2-5.8 เท่า
การรวบรวมการศึกษาครั้งนี้ พบว่ามีความปลอดภัยสูง แม้การฉีดวัคซีนสลับ จะมีผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นบ้างแต่ก็เป็นระดับน้อยถึงปานกลาง แต่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงทั้งที่เป็นภูมิคุ้มกัน และระบบของทีเซลล์(T-cell)
ส่วนข้อจำกัดของการศึกษาครั้งนี้ได้แก่
1.ไม่ได้ศึกษาในกลุ่มผู้สูงอายุ ทำเฉพาะอายุ 18-59 ปี
2.จำนวนอาสาสมัครยังไม่มากนัก (300 ราย)
3.ยังไม่ได้พิสูจน์กลไกที่แท้จริงว่า ระดับภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นนั้น เกิดจากกลไกใด
4.ระดับภูมิคุ้มกันยังไม่ใช่ประสิทธิผลในการป้องกันโรค แต่มีหลายรายงานที่แสดงความสอดคล้องว่า ถ้าระดับภูมิคุ้มกันขึ้นสูง ก็จะมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคสูงด้วย
ข้อมูลในลักษณะดังกล่าวเริ่มทยอยออกมา และทำให้เกิดความมั่นใจขึ้นเป็นลำดับว่า การฉีดวัคซีนสลับบริษัทหรือสลับเทคโนโลยี มีความปลอดภัยสูง ผลข้างเคียงน้อย ไม่แตกต่างกับการฉีดวัคซีนบริษัทเดิม
รวมทั้งยังพบว่า กระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นได้สูงกว่าการฉีดวัคซีนบริษัทเดิม และที่ส่งผลกับประเทศไทยโดยตรง ก็คือการฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งหรือสองด้วยเทคโนโลยีเชื้อตาย แล้วกระตุ้นตามด้วยวัคซีนเทคโนโลยีไวรัสเป็นพาหะ ให้ภูมิคุ้มกันได้สูง
ซึ่งไทยเรา ก็ได้เริ่มฉีดเข็มหนึ่งด้วย Sinovac แบบเชื้อตาย และเข็มสองด้วย AstraZeneca แบบไวรัสเป็นพาหะแล้วด้วย
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 37,461,284 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 25,954,106 ราย ฉีดครบ 2 เข็มจำนวน 10,900,001 ราย และฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 607,177 ราย