รายงานข่าวระบุว่า นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า
การปูพรมฉีดวัคซีนให้ประชาชนภูเก็ตเข็มที่ 1 มากถึงร้อยละ 92 และครบโดสเข็มที่ 2 ร้อยละ 79 ยืนยันแล้วว่าการฉีดวัคซีนครบโดสให้ประชาชนมากกว่าร้อยละ 70 ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หยุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในจังหวัดภูเก็ตได้
วันที่ 5 กันยายน 2564 มีการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในคนจังหวัดภูเก็ตทุกวัน วันละกว่า 250 คน มีการแพร่ระบาดไปทั่วทุกพื้นที่ แต่คนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส มีอาการน้อย ไม่หนักเหมือนคนที่ไม่เคยได้รับวัคซีน
ยอดผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมตั้งแต่ 1 เมษายน ปีนี้ 5,495 คน (ตัวเลขจริงคงมากกว่านี้)
ภูเก็ตกำลังวางแผนที่จะฉีดเข็ม 3 ให้กับประชาชนทุกคนที่ได้วัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดสแล้ว เหมือนกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 เป็นแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์
เริ่มมีรายงานคนไทยที่ได้รับซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม และคนที่ได้รับซิโนแวค 2 เข็มตามด้วยซิโนฟาร์ม 2 เข็ม ก็ยังติดเชื้อไวรัสโควิด-19
มีรายงานในหลายประเทศเช่นอิสราเอล สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ คนที่ได้รับวัคซีน mRNA ของบริษัทไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาครบ 2 โดส ก็ยังติดเชื้อและแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ ประเทศอิสราเอลและสหรัฐอเมริกากำลังพิจารณาฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ประชาชน
วัคซีนทุกชนิดที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่แขนแม้จะให้ครบโดส ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ เพราะวัคซีนชนิดฉีด สร้างภูมิคุ้มกันที่เยื่อเมือกจมูก ทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง (mucosal immunity) ได้ไม่ดี เยื่อบุทางเดินหายใจเป็นช่องทางหลักของเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในต่างประเทศมีชนิดสูดเข้าทางจมูก ประเทศจีนได้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ยี่ห้อ Cansino ชนิดสูดหายใจเข้าปอด อาจช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่เยื่อเมือกทางเดินหายใจได้ดีขึ้น และช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส
คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรกขอให้รีบไปฉีดด่วน เพื่อลดความรุนแรงของโรคเมื่อติดเชื้อ คนที่ฉีดวัคซีนแล้วยังต้องปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกนอกบ้าน เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือเหมือนเดิม
ขณะนี้คงต้องรอให้เกือบทุกคนที่ไม่ได้ฉีดและฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามธรรมชาติโดยเข้าทางเยื่อบุทางเดินหายใจ จึงจะมีภูมิคุ้มกันครบหมดทุกที่ เยื่อเมือกทางเดินหายใจ แอนติบอดีในน้ำเหลือง ระบบเซลล์ในเลือด ไม่สามารถติดเชื้อซ้ำ และไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ โรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่กำลังระบาดขณะนี้ถึงจะยุติลงในที่สุด
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทยวันที่ 8 กันยายน 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 14,176 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,670 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 506 ราย ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,293,656ราย เสียชีวิตเพิ่ม 228 ราย หายป่วย 16,769 ราย กำลังรักษา 142,644 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,138,938 ราย
ส่วนการฉีดวัคซีนโควิดในประเทศไทยพบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-6 ก.ย. 64 มีการฉีดสะสมแล้ว 36,635,271 โดส แบ่งเป็นฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 25,554,456 ราย ฉีดครบ 2 เข็มจำนวน 10,475,325 ราย และฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 605,490 ราย