รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า
บุก รวดเร็ว รุนแรง เข้มข้น และต่อเนื่อง
หมอดื้อ 8/9/64
หมอธีระวัฒน์ ระบุว่า ทั้งหมดต้องทำพร้อมกัน แยกส่วนไม่ได้ ถ้าต้องการประกาศอิสรภาพ หรือถ้าเช่นนั้นก็ยอมโอนอ่อน
การป้องกันการปะทุของสายพันธุ์เพี๊ยนเหล่านี้ คงต้องยกให้ประเทศจีนเป็นประเทศที่ใช้บริบทของ การควบคุมภายในร่างกายมนุษย์และภายนอกร่างกายมนุษย์ นั่นคือ การสร้างแรงกดดันอย่างรุนแรงไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อจากคนหนึ่งไปหาคนอื่น รวมทั้งทำความสะอาดพื้นผิวสาธารณะต่างๆอย่างสม่ำเสมอและมีการเข้มงวดตรวจคัดกรองและแยกตัวออกทันที ที่วินิจฉัยได้ว่ามีการติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใดก็ตาม
ดังจะเห็นได้จากการที่สามารถตรวจคนได้เป็น 1,000,000 คนภายในระยะเวลาไม่กี่วันในพื้นที่หนึ่ง
การสร้างแรงกดดันที่สำคัญต่อเชื้อที่อยู่ในร่างกายมนุษย์ ได้แก่ การวินิจฉัยได้เร็วที่สุดและให้การรักษาเร็วที่สุด ตั้งแต่นาทีแรกควบรวมการใช้สมุนไพรที่มีดาษดื่นและขึ้นทะเบียนในระบบสาธารณสุขของจีนอยู่แล้ว และยกระดับเป็นขั้นเป็นตอนควบกับการรักษาแผนปัจจุบันและแม้กระทั่งการจัดท่าของคนที่ติดเชื้อลงปอดให้เป็นท่านอนคว่ำก็เป็นกลยุทธ์ที่ประเทศจีนใช้ก่อน
แรงกดดันที่สำคัญอีกประการคือ การใช้วัคซีน เป็นจำนวนมหาศาลในเวลารวดเร็วให้แก่ประชากรมากกว่าที่คิดตัวเลข 60% แต่เป็นเกือบทั้งประเทศ ยกเว้นในเด็กซึ่งในระยะแรกข้อมูลความปลอดภัยอาจจะยังไม่พอ แต่ในปี 2564 นี้เอง ที่ประเทศจีนใช้วัคซีนที่มีอยู่ดั้งเดิมที่เป็นเชื้อตายฉีดให้แก่เด็กด้วย
การให้วัคซีนอย่างเข้มข้นเช่นนี้ เป็นการปิดโอกาสหรือเปิดโอกาสน้อยที่สุดให้กับไวรัสที่จะมีการแพร่กระจายจากคนสู่คนไปเป็นลูกโซ่และกดดันไม่ให้มีการกลายพันธุ์หรือรหัสพันธุกรรมเพี๊ยนจนกระทั่งสามารถตั้งตัวกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่
ลักษณะเช่นนี้แตกต่างกับประเทศทางตะวันตก แม้กระทั่งประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็มีสายพันธุ์เอปซิลอน ซึ่งถือว่าเป็นสายพันธุ์เพี๊ยนที่กำเนิดขึ้นในพื้นที่ของรัฐแคลิฟอร์เนียเอง หลังจากที่มีการระบาดที่ควบคุมไม่ได้อยู่ช่วงเวลาเป็นปี ...
ลักษณะของการปล่อยให้มีการระบาดตามธรรมชาติและก่อให้เกิดลักษณะของภูมิคุ้มกันหมู่ ที่เรียกว่า herd immunity โดยคนในพื้นที่มีการติดเชื้อมากกว่า 60% โดยคนที่มีอาการรุนแรงก็ตายไปหรือเข้าโรงพยาบาลอาการหนักไป ดังที่เห็นในเขตมาเนาส์ ของเปรู
ซึ่งภายในครึ่งปีแรกของปี 2563 มีการติดเชื้อเสียชีวิตเข้าโรงพยาบาลอย่างมากมาย แต่เมื่อถึงครึ่งปี พบว่าคนป่วยอาการหนักเสียชีวิตเข้าโรงพยาบาลกลับลดลงอย่างเห็นได้ชัดและทำให้การรักษาวินัยส่วนบุคคล การรักษาระยะห่างล้มเหลวไปหมด...
ดังนั้น เกิดการระบาดเงียบๆมายังคนในพื้นที่นั้น จนกระทั่งไวรัสสายเพี๊ยนพัฒนาขึ้นดังเช่น เป็นสายเปรูและในเดือนธันวาคมของปี 2563 จึงเกิดมีการระบาด อาการหนัก ในพื้นที่ดังกล่าวใหม่
ดังที่กล่าวไว้ตอนต้น การสร้างแรงกดดันต่อไวรัสต้องเข้มข้นตลอดเวลาและสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นที่มาของการที่เราต้องการวัคซีนที่ดีที่สุดและสามารถคุมไวรัสที่มีเยอะที่สุดในขณะนี้
ยกตัวอย่างเช่น สายเดลตาและอัลฟา ที่ต้องพูดถึงอัลฟาเพราะแม้แต่ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมยังมีผู้ป่วยอาการหนักอายุตั้งแต่ 40 ถึง 80 ปีที่ติดเชื้อด้วยอัลฟา และดูเหมือนว่ายาฟาวิพิราเวียร์จนกระทั่งยาฉีดเรมเดซิเวียร์ เอาไม่อยู่หรือแทบเอาไม่อยู่
การฉีดวัคซีนที่ว่าต้องครอบคลุม ทำให้ได้ถึง 80 ถึง 90% ของประชาชนในระยะเวลาเร็วที่สุดภายในสามเดือน โดยที่ในเด็กเล็กอายุตั้งแต่สองขวบจนกระทั่งถึง 15 ปีสามารถใช้วัคซีนเชื้อตายอย่างที่ประเทศจีนได้นำมาใช้ โดยแม้ว่าจะกันการติดของเดลตาไม่ดีเท่ากับวัคซีนอื่นแต่สามารถลดอาการหนักหรือเสียชีวิตได้...การรุกหนักอย่างเข้มข้นรวดเร็วจะกันไม่ให้มีการกลายพันธุ์ภายในพื้นที่เหมือนกับสายพันธุ์เอปซิลอน ในสหรัฐฯที่แพร่ไปหลายสิบประเทศแล้วจนกระทั่งถึงปากีสถาน และแน่นอนไม่ช้าไม่นานคงจะเข้าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมกระทั่งถึงประเทศไทย
แต่การให้วัคซีนเข้มข้น รวดเร็ว ต้องร่วมกับการคัดกรอง การติด และแยกตัว และวินัยพร้อมๆกัน ดังเช่น รายงานจากคณะผู้วิจัยในวารสารเนเจอร์ ปลายเดือนกรกฎาคม 2564 และในเวลาถัดมา จะมีวัคซีนครอบจักรวาล (broad spectrum vaccine) ที่สามารถป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการตายจากสายพันธุ์ที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้และสายพันธุ์ที่จะมีการเพี้ยนในอนาคต
และเมื่อถึงเวลานั้นอาจมีทางเป็นไปได้ว่าจะเป็นวันแห่งการประกาศอิสรภาพใช้ชีวิตอย่างเดิม โดยที่ไม่ต้องคิดอยู่ทุกวันเมื่อออกจากบ้านว่ากำลังจะไปรบ และวันนี้จะเหยียบกับระเบิดตายหรือไม่
ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 8 กันยายน 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
มีผู้ติดเชื้อใหม่ 14,176 ราย
ติดในระบบ 11,940 ราย
ติดจากตรวจเชิงรุก 1714 ราย
ติดในสถานกักตัว 16 ราย
ติดในเรือนจำ 506 ราย
สะสมระลอกที่สาม 1,293,656 ราย
สะสมทั้งหมด 1,322,519 ราย
หายป่วย 16,769 ราย
สะสม 1,166,583 ราย
รักษาตัวอยู่ 142,644 ราย
โรงพยาบาลหลัก 42,034 ราย
โรงพยาบาลสนาม 68,326 ราย
แยกกักที่บ้าน 28,652 ราย
อาการหนัก 4387 ราย
ใช้เครื่องช่วยหายใจ 960 ราย
เสียชีวิต 228 ราย
สะสมระลอกที่สาม 13,417 ราย
สะสมทั้งหมด 13,511 ราย
ติดเชื้อเข้าข่าย 2372 ราย
สะสม 97,499 ราย