ฉีดวัคซีนโควิดในไทยครบ 100 ล้านโดสเดือนพ.ย.-ธ.ค. 64

05 ต.ค. 2564 | 01:06 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2564 | 08:05 น.

หมอเฉลิมชัยเผยฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยครบ 100 ล้านโดสเร็วกว่าที่คาด 1เดือน ในช่วงวันที่ 20 พ.ย.- 5 ธ.ค.64 ระบุไม่มีปัญหาเรื่องวัคซีนขาด

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ไทยจะสามารถฉีดวัคซีนโควิดครบ 100 ล้านโดส เร็วกว่าที่คาดไว้ 1 เดือน ในช่วงวันที่ 20 พย.- 5 ธค. 2564
ประเทศไทยเริ่มพบผู้ติดโควิดรายแรก ในช่วงเดือนมกราคม 2563
และมีการระบาดในระลอกที่หนึ่ง ช่วงมีนาคมถึงพฤษภาคม 2563 จำนวนผู้ติดเชื้อ 4000 ราย เสียชีวิต 60 ราย
ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 ถึงปลายเดือนมีนาคม 2564 มีการระบาดระลอกที่สองผู้ติดเชื้อ 24,000 ราย เสียชีวิต 34 ราย
ในช่วงของการระบาดระลอกที่สองนี่เอง ไทยได้เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564
ด้วยวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย Sinovac และวัคซีนเทคโนโลยีไวรัสเป็นตัวนำ AstraZeneca ซึ่งยังมีวัคซีนจำนวนค่อนข้างน้อย
ประกอบกับประชาชนบางส่วน มีข้อกังวลถึงผลข้างเคียงของวัคซีนค่อนข้างมาก จึงยังฉีดวัคซีนได้ไม่มากนัก

หลังจากนั้น ก็มีการระบาดระลอกที่สาม ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 1 เมษายน 2564
การฉีดวัคซีนยังคงเป็นไปค่อนข้างล่าช้า ทั้งปริมาณวัคซีนที่จัดหาได้มีความยุ่งยาก และหลายส่วนยังมีความกังวลเรื่องผลข้างเคียงอยู่
จนกระทั่ง 7 มิถุนายน 2564 สามารถฉีดวัคซีนไปได้รวมทั้งสิ้นเพียง 4.218 ล้านโดส
จึงได้มีการประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ในการที่จะเร่งระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนคนไทยให้ครบ 100 ล้านโดส สำหรับ 50 ล้านคน คิดเป็น 70% ของประชากร 70 ล้านคนภายใน 31 ธันวาคม 2564
ในช่วงมิถุนายนดังกล่าวนี้เอง หลายส่วนมีความกังวล หรือมีความเห็นว่า อาจจะมีวัคซีนไม่เพียงพอที่จะให้ฉีด
หรือถ้ามีวัคซีนเพียงพอ ศักยภาพของระบบสาธารณสุขไทย จะสามารถเร่งมือฉีดได้ทันหรือไม่
วันนี้ 1 ตุลาคม 2564 ได้ผ่านวันดีเดย์เริ่มฉีดวัคซีนมาแล้ว 115 วัน พบว่าสามารถฉีดวัคซีนได้เพิ่มขึ้น 49.566 ล้านโดส
โดยคำนวณจาก วันนี้( 1ตุลาคม 2564 ) ฉีดรวมแล้ว 53.784 ล้านโดส ลบด้วยวัคซีนที่ฉีดสะสมไว้ เมื่อ 7 มิถุนายน 2564 จำนวน 4.218 ล้านโดส
เมื่อคำนวณช่วง 115 วันที่ผ่านมาตั้งแต่ 7 มิถุนายน 2564 เราสามารถฉีดวัคซีนได้เฉลี่ยวันละ 4.31 แสนโดส
ถ้าจะฉีดให้ได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส จะต้องฉีดเพิ่มอีก 46.216 ล้านโดส สำหรับเวลาที่เหลืออีก 92 วัน นั่นคือจะต้องฉีดให้ได้เฉลี่ยวันละ 5.02 แสนโดส

ไทยฉีดวัคซีนโควิดครบ 100 ล้านโดสเร็วกว่าคาด 1 เดือน
ขณะนี้ปัญหาเรื่องปริมาณวัคซีนที่จะฉีดจนถึงสิ้นปี คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะมีวัคซีนที่ทำสัญญาตกลงกันไว้รวมทั้งสิ้นแล้วประมาณ 125 ล้านโดส
คงจะมาพิจารณาปัจจัยความสามารถในการฉีดวัคซีนว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด
พบว่าในเดือนกันยายนทั้งเดือน สามารถฉีดวัคซีนได้เฉลี่ยวันละ 7.06 แสนโดส
และถ้าดูเฉพาะสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน จะฉีดวัคซีนได้เฉลี่ยมากถึงวันละ 9.26 แสนโดส

ดังนั้นถ้าใช้ความสามารถในการฉีดเฉลี่ยวันละ 7.06 แสนโดส จะใช้เวลาในการฉีดอีก 65 วัน คือถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2564 ก็จะฉีดได้ครบ 100 ล้านโดส
แต่ถ้าใช้ศักยภาพฉีดวัคซีนเฉลี่ยสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายนคือ ฉีดได้วันละ 9.26 แสนโดส จะใช้เวลาฉีดอีก 50 วัน คือวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564
เป็นการที่จะฉีดสำเร็จก่อนแผนอยู่ 26-41 วัน
ทั้งนี้มีตัวแปรสำคัญ ที่อาจทำให้การคำนวนดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนก็คือ
ผู้ที่สมัครใจจะฉีดวัคซีนด้วยเหตุผลใดก็ตาม  ได้ทยอยฉีดไปแล้วเป็นจำนวนมาก
และถ้าดูจากการสำรวจเมื่อหลายเดือนก่อน พบว่ามีผู้ที่สมัครใจฉีดวัคซีนประมาณ 70% ลังเล 20% และไม่อยากฉีดวัคซีน 10%
กลุ่มคนลังเล และไม่อยากฉีดวัคซีนรวมกัน 30 % จะเป็นตัวแปรสำคัญ ที่จะทำให้การฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส หรือ 50 ล้านคน คิดเป็น 70% ของประชากร ภายในสิ้นปีนี้ได้หรือไม่ (แม้จะมีวัคซีนเพียงพอ และศักยภาพในการฉีดวัคซีนที่รวดเร็วพอก็ตาม) 
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 (covid-19)ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.- ต.ค.64 มีการฉีดวัคซีนสะสมจำนวน 55,150,481 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 32,987,918 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 20,696,791 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 1,465,772 ราย