บริติช เคานซิล ผนึก อว. ดัน 7 มหาวิทยาลัย สู่1ใน100มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

07 ต.ค. 2564 | 08:47 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2564 | 16:10 น.

บริติช เคานซิล ประเทศไทย ผนึกกำลัง กระทรวงอุดมศึกษาจับคู่ความร่วมมือมหาวิทยาลัยไทย-สหราชอาณาจักร ผลักดัน 15 โครงการใน 7 มหาวิทยาลัยไทย สู่ท็อป 100 มหาวิทยาลัยโลก

รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า จากกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์สำคัญด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566 – 2570 ได้มุ่งเน้น 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ (1) การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและพึ่งพาตนเองได้ยั่งยืน (2) การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน (3) การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้า และ (4) การพัฒนากำลังคน สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้นทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัย อาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรในมหาวิทยาลัย จึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการร่วมกับ กระทรวง อว. ในการขับเคลื่อนโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าว 

นโยบายและยุทธศาสตร์การพลิกโฉมมหาวิทยาลัย เป็นกุญแจสำคัญเพื่อให้มหาวิทยาลัยพัฒนาความเป็นเลิศและผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของประเทศ พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและยกระดับมหาวิทยาลัยของไทยให้มีมาตรฐานทัดเทียมในระดับนานาชาติ ล่าสุด อว. จึงได้ร่วมมือกับบริติช เคานซิล ในโครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหราช-อาณาจักร (TH-UK World-class University Consortium) เพื่อเปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาในไทยสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติทั้งในด้านวิชาการและการวิจัย สนับสนุนมหาวิทยาลัยในไทยให้เกิดการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในสหราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างระบบอุดมศึกษาที่มีความเชื่อมโยงในระดับสากลมากขึ้น เพื่อที่จะบรรลุความเป็นผู้นำระดับโลก

 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา อว.ยังได้เผยแพร่และนำเสนอการกำหนดตัวบ่งชี้ ภายใต้โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย เพื่อวัดผลการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย และมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากในการยกระดับมหาวิทยาลัยไทยให้ติด 100 อันดับแรกของโลกภายใน 10 ปีข้างหน้า

 

"ในการที่จะผลักดันมหาวิทยาลัยไทยขึ้นสู่ระดับโลกเราก็ต้องไปดูว่าในการจัดอันดับ เขาให้น้ำหนักกับอะไรที่สำคัญบ้างส่วนใหญ่ก็จะเน้นในเรื่องของการเรียนการสอนและการวิจัยและพัฒนา  ของไทยเราการเรียนการสอนเราดำเนินการมาได้ตามปกติ แต่ว่าจุดหนึ่งที่เราอาจจะต้องมีการพัฒนาขึ้นมาก็คือในเรื่องของการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

 

ซึ่งตรงนี้เราจะมีโครงการเช่นบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ซึ่งเราใช้กลไกความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการทำโครงการในลักษณะแบบนี้ขึ้น  หรือโครงการยุวชนอาสาโดยนำเอาห้องเรียนห้องทดลองออกไปสู่สังคม นักศึกษาเองจะฟอร์มทีมกันแล้วลงไปในชุมชนเพื่อพูดคุยกับชาวบ้านและผู้นำชุมชนถึงปัญหาอุปสรรคต่างๆที่เกี่ยวข้องแล้วนำมาวางแผนโดยใช้สายศาสตร์มาผสมผสานกันเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น มหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนรูปแบบจากการสอนในห้องเรียนอย่างเดียวมาเป็น social lab นี่เป็นแนวทางที่เราพยายามดำเนินการอยู่

ในเรื่องของการวิจัยและนวัตกรรมแล้วก็มีกองทุนวิจัยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเพื่อที่จะมหาวิทยาลัยนั้นสามารถเขียนข้อเสนอขึ้นมาแล้วรับการ funding ได้ มหาวิทยาลัยก็จะมีที่ที่จะขอรับการสนับสนุนเพื่อที่จะการวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ หลังจากมีการคัดเลือกจาก 15 โครงการเสร็จสิ้น ทางอว. ได้เตรียมงบประมาณสนับสนุนเฉลี่ยโครงการละ 1 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปประชุมหารือกับ UK และเป็นค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมของนักวิจัยและหัวหน้าโครงการรวมถึงผู้เข้าร่วมโครงการต่างๆ"

 

ทางด้าน นางเฮลก้า สเตลมาเกอร์ ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า บริติช เคานซิล ในฐานะองค์กรเพื่อความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและโอกาสทางการศึกษาจากสหราชอาณาจักร มียุทธศาสตร์ “Going Global Partnership” ในการสร้างความสัมพันธ์ระดับนานาชาติที่เข้มแข็งและเท่าเทียมของภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษาของสหราชอาณาจักร โดยได้นำร่องร่วมมือกับกระทรวง อว. เปิดตัวโครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักรเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา คัดเลือกมหาวิทยาลัยไทย 7 มหาวิทยาลัยใน 15 สาขาวิชานำร่องร่วมโครงการ จับคู่สร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติกับมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร อันเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญ และเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยในประเทศยังสามารถเร่งพัฒนาเพื่อยกระดับในการอันดับและขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

 สำหรับ 7 มหาวิทยาลัยของไทย 15 สาขาวิชาที่เข้าร่วม ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  จำนวน 1 สาขาได้แก่ วิชาแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 7 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม สาขาวิศวกรรมเคมี สาขาวิทยาศาตร์ชีวภาพ สาขาแพทย์ศาสตร์ 2 โครงการ  สาขาภูมิศาสตร์ สาขาพัฒนศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 1 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาเกษตรศาสตร์และป่าไม้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จำนวน 1 สาขาได้แก่ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพจาก มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาวิทยาศาตร์ชีวภาพ สาขาแพทย์ศาสตร์ และสาขาพัฒนศาสตร์   มหาวิทยาลัยนเรศวร จำนวน 1 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 1 สาขาได้แก่ สาขาวิชาพัฒนาศาสตร์ 

จากผลการวิเคราะห์ภาพรวมของทั้ง 15 สาขาวิชา 7 มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม จะพบว่าต่างมีจุดแข็งในเรื่องชื่อเสียงที่เป็นที่ยอมรับภายในประเทศ มีทรัพยากรที่เพียบพร้อม และมีสมรรถนะในการสร้างสรรค์งานวิจัย ในขณะเดียวกันยังสามารถพัฒนาเพิ่มขึ้นในด้านทักษะภาษาอังกฤษ และยังขาดการสร้างกลยุทธ์ในภาพรวมที่เอื้อต่อการทำงานในระดับนานาชาติ ซึ่งในภาพรวมต่างมองว่า สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งทางการศึกษา และความร่วมมือกันนี้จะสามารถพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและการทำวิจัยที่มีศักยภาพสูงขึ้นและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ผ่านการทำงานร่วมกันในรูปแบบต่าง ๆ เช่น โอกาสในการทำงานวิจัยร่วม โครงการแลกเปลี่ยนนิสิต นักศึกษา และโปรเจกต์ความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ มากมาย ซึ่งสำหรับนิสิต นักศึกษาในประเทศไทยเอง ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้รับประสบการณ์การเรียนการสอนในระดับนานาชาติ ได้พัฒนาทักษะในด้านการทำวิจัย การนำเสนอ รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายแบบนานาชาติ

ในลำดับถัดไปจะเป็นการจับคู่กับมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร ซึ่งได้รับการตอบที่ดีจากหลากหลายมหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน มหาวิทยาลัยเอดินบะระ เมื่อได้คู่มหาวิทยาลัยแล้ว บริติช เคานซิล จะให้ทุนสนับสนุนมูลค่ากว่า 65,000 ปอนด์ หรือประมาณ 3 ล้านบาท ในการดำเนินกิจกรรมร่วมกันในช่วงปีแรกของโครงการ เพื่อสร้างคอนเนคชั่นแรกเริ่มระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและสหราชอาณาจักร อันจะนำไปสู่การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และกลายเป็นคอนเนคชั่นที่มั่นคงในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งล้วนตอบโจทย์กลยุทธ์การพัฒนาศักยภาพของมหาวิทยาลัยตามทิศทางของกระทรวง อว.

 

" เกณฑ์ที่จะคัดเลือกมหาวิทยาลัยเข้าโครงการ จะพิจารณาจากเป้าหมายและความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยไทยที่จะไปสู่World-class ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการการจัดกิจกรรมหรือรูปแบบความร่วมมือของมหาวิทยาลัยที่ต้องการ เช่นความมุ่งหมายในการทำการวิจัยร่วมต่างๆ รวมทั้งศักยภาพของมหาวิทยาลัยที่จะสนับสนุนโครงการไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงบประมาณที่มหาวิทยาลัยจะใส่เข้ามาในโครงการด้วย และเวลาของบุคลากรที่จะให้กับโครงการของเรา

 

นอกจากนี้เราก็ยังจะดูในเรื่องของความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัยว่าปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศมากน้อยแค่ไหนและมีความเป็นไปได้ที่จะขยายความร่วมมือนี้ไปสู่มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรหรือเปล่า

จากความร่วมมือครั้งนี้หวังว่าหลังจากที่ได้  15 โปรแกรมที่ได้ร่วมโครงการกับทางมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรแล้ว ต่อจากนี้ไปก็จะมีการทำงานร่วมกัน และเผยแพร่องค์ความรู้ต่อไปในมหาวิทยาลัยอื่นๆที่ร่วมงานกับมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย


หน้าที่หลักๆของบริติช เคานซิล ก็คือทำหน้าที่คอยเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษาไทยและสถาบันการศึกษาในสหราชอาณาจักร รวมทั้งวัดผลโครงการอย่างต่อเนื่องในโครงงานวิจัยที่จะออกมา ซึ่งเราพร้อมที่จะ support ให้การสนับสนุนหัวข้อวิจัยที่สามารถจับคู่ด้วยกันได้ "