ม.อ. โชว์ผลวิจัยฉีดวัคซีนเข็ม 3 “แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์”

10 ต.ค. 2564 | 06:30 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2564 | 13:33 น.

ม.อ. เผยผลวิจัยฉีดวัคซีนเข็ม 3 บูสเตอร์ “แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์” แบบใต้ผิวหนัง สร้างภูมิคุ้มใกล้เคียงการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ มีผลข้างเคียงน้อย

ดร.นพ.นวมินทร์ ปิ่นปฐมรัฐ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีวเวชศาสตร์และวิศวกรรมชีวการแพทย์ และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ผลการศึกษาเพื่อบริหารการจัดการวัคซีนให้กับคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

โดยทีมงาน ม.อ. ได้ทดสอบระดับภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยของวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็มกระตุ้น โดยเปรียบเทียบระหว่างการได้รับวัคซีนปริมาณ 1 ใน 5 ของโดสปกติเข้าใต้ผิวหนังกับการได้รับวัคซีนปริมาณปกติเข้ากล้ามเนื้อในกลุ่มประชากรทั่วไปอายุระหว่าง 18-60 ปี จำนวน 120 คน ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว หลังจากได้รับวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม 

 

ผลวิจัยเบื้องต้น พบว่า การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเป็นบูสเตอร์โดสเข็มที่ 3 ด้วยวิธีการฉีดเข้าใต้ผิวหนังในปริมาณ 1 ใน 5 ของโดสปกติ โดยวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 1 ขวด จะสามารถฉีดได้ถึง 50 คน แต่เมื่อฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะฉีดได้เพียง 10 คน ซึ่งการฉีดเข้าใต้ผิวหนังเป็นการใช้ปริมาณวัคซีนน้อยลงและฉีดวัคซีนได้จำนวนเพิ่มขึ้น สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งแอนติบอดี้ที่ช่วยในการป้องกันไวรัสเข้าเซลล์ร่างกายและทีเซลล์ ที่ช่วยจัดการไวรัสเมื่อเข้าสู่เซลล์ร่างกายแล้วได้ภูมิคุ้มกันสูงเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนเต็มโดสเข้ากล้ามเนื้อแบบปกติ

ม.อ. โชว์ผลวิจัยฉีดวัคซีนเข็ม 3 “แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์”

การได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเข้าใต้ผิวหนังแบบลดโดสของกลุ่มที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มมาแล้ว 4-8 สัปดาห์หรือกลุ่มที่ได้รับวัคซีนมาแล้ว 8-12 สัปดาห์ ระดับภูมิคุ้มกันทั้งการสร้างแอนติบอดี้และทีเซลล์ไม่มีความแตกต่างกัน อาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 128.7 ยูนิตต่อมิลลิลิตร

 

และเมื่อรับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็มที่ 3 ด้วยวิธีการฉีดเข้ากล้ามเนื้อภูมิคุ้มกันจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,652 ยูนิตต่อมิลลิลิตร ส่วนการฉีดเข้าผิวหนังร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันระบบแอนติบอดี้ได้ถึง 1,300 ยูนิตต่อมิลลิลิตร ซึ่งใช้วัคซีนปริมาณ 1 ใน 5 ของโดสปกติ

 

ทั้งนี้ การศึกษาภูมิคุ้มกันกับอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าทั้ง 2 กลุ่ม เมื่อถูกกระตุ้นด้วยโปรตีนหนามแหลมของโคโรน่าไวรัสสามารถหลั่งไซโตไคน์อิเตอเฟอรอนแกรมม่า เพื่อกำจัดไวรัสได้ในปริมาณที่ไม่แตกต่างกัน ส่วนอาการข้างเคียง อาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการวิจัยไม่พบอาการที่รุนแรงจากวัคซีน โดยกลุ่มที่ได้รับการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง มีผลข้างเคียงทางร่างกาย เช่น อาการไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อย น้อยกว่ากลุ่มที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่มีผลข้างเคียงทางผิวหนัง เช่น อาการบวมแดงและคันซึ่งอาการดังกล่าวจะหายเองได้

 

"การศึกษาการฉีดวัคซีนเข้าทางผิวหนังเปรียบเทียบกับการวิธีฉีดเข้ากล้ามเนื้อแบบปกติ ม.อ. วางเป้าหมายเพื่อการบริหารจัดการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส Covid-19 ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุดต่อประเทศ ซึ่งผลการศึกษาในระยะเวลา 14 วัน 28 วัน พบว่า ภูมิคุ้มกันเป็นที่น่าพอใจ และภายใน 90 วันจะดำเนินการศึกษาถึงประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกัน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนและบริหารการใช้วัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

ขณะที่การศึกษาและวิจัยการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับกลุ่มตัวอย่าง โดยเปรียบเทียบระหว่างการได้รับวัคซีนปริมาณ 1 ใน 5 ของโดสปกติเข้าใต้ผิวหนังเปรียบเทียบกับการได้รับวัคซีนปริมาณปกติเข้ากล้ามเนื้อ ในกลุ่มประชากรทั่วไปจำนวน 91 คน หลังจากได้รับวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม ผลวิจัยเบื้องต้น พบว่า 14 วันหลังการฉีดวัคซีนไฟเซอร์สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งแอนติบอดี้ (B cells) และทีเซลล์ (T cells) ได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่น้อยกว่าการฉีดวัคซีนเต็มโดสเข้ากล้ามเนื้อแบบปกติ 

ม.อ. โชว์ผลวิจัยฉีดวัคซีนเข็ม 3 “แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์”

ทั้งนี้อาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันแบบแอนติบอดี้จะอยู่ที่ 70 BAU/mL และเมื่อรับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 ด้วยวิธีการฉีดเข้ากล้ามเนื้อแบบเต็มโดส ภูมิคุ้มกันจะเพิ่มขึ้นเป็น 4559 BAU/mL แบบครึ่งโดสเพิ่มขึ้นเป็น 3034 BAU/mL

 

แต่ในกลุ่มอาสาสมัครที่รับวัคซีนเข็ม 3 แบบฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ใน 5 ของโดสปกติ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันระบบแอนติบอดี้ได้ 2175 BAU/mL  และไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรงจากวัคซีน โดยกลุ่มที่ได้รับการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง มีผลข้างเคียงทางร่างกาย เช่น ไข้ ปวดศรีษะ ปวดเมื่อย น้อยกว่ากลุ่มที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 

 

จากการศึกษาภูมิคุ้มกันชนิด “ทีเซลล์ (T cells)” ที่ใช้ในการจัดการไวรัสที่ติดเชื้อในเซลล์ พบว่า อาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เข้ากล้ามเนื้อแบบเต็มโดสและครึ่งโดส เมื่อถูกกระตุ้นด้วยโปรตีนหนามแหลมของโคโรน่าไวรัส (S1 peptide pool) สามารถหลั่งไซโตไคน์อิเตอเฟอรอนแกรมม่า (IFN-γ) เพื่อกำจัดไวรัสได้ในปริมาณที่ไม่แตกต่างกัน แต่กลุ่มที่ได้รับวัคซีนปริมาณ 1 ใน 5 ของโดสปกติเข้าใต้ผิวหนัง การเพิ่มขึ้นของทีเซลล์นั้นไม่แตกต่างกับก่อนได้รับการกระตุ้น

 

สำหรับการศึกษาเพื่อบริหารการจัดการวัคซีนให้กับคนไทยครั้งนี้ ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และคณะแพทยศาสตร์ ม.อ. โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้จัดมีการวิจัยที่ ม.สงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

 

เพื่อนำผลการศึกษาวิจัยทั้งหมดนำมาเป็นข้อมูลให้กับกระทรวงสาธารณสุข ในการบริหารจัดการวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเปิดประเทศ ตามโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ หาดใหญ่แซนด์บ็อกซ์ และเมืองอื่นๆ