รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า
หัวใจอักเสบจากไฟเซอร์/โมเดอร์นา
หมอดื้อ
ในการรวบรวมจาก CDC สหรัฐ ความเสี่ยงในการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ภายในเจ็ดวันจาก ไฟเซอร์ โมเดอร์นา
(23 มิถุนายน 2564)
ช่วงอายุ 12 ถึง 17 ปี
ผู้ชาย 62.75 ต่อ 1 ล้านโดส
ผู้หญิง 8.68 ต่อ 1 ล้าน โดส
ช่วงอายุ 18 ถึง 24
ผู้ชาย 50.49 ต่อ ผู้หญิง4.39
ช่วงอายุ 25 ถึง 29 ปี
ผู้ชาย 16.27 ต่อผู้หญิง 1.69
ช่วงอายุ 30 ถึง 39 ปี
7.34 ต่อ 1.18
ช่วงอายุ 40 ถึง 49 ปี
3.96 ต่อ 1.81
ช่วงอายุ 50 ถึง 64 ปี
1.11 ต่อ 0.96
อายุ 65 ปีขึ้นไป
0.61 ต่อ 0.46
CDC สรุปในวันที่ 8 กันยายน 2564
มักเกิดในผู้ชายอายุไม่มาก
มักเกิดตามหลังเข็มที่สอง
เกิดขึ้นภายในไม่กี่วันหลังได้รับวัคซีน
ตอบสนองต่อการรักษาดีแต่ต้องปรึกษาหมอหัวใจในเรื่องการออกกำลังและการเล่นกีฬาหลังจากที่ออกจากโรงพยาบาลแล้ว
อนึ่ง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบภายใน 42 วันหลังจากที่ได้รับวัคซีนไม่ปรากฏในรายงานวัคซีนหัด คางทูม หัดเยอรมัน อีสุกอีใสโปลิโอหรือไข้เหลือง (vaccine safety data link) มีรายงานสองสามรายในวัคซีนไข้หวัดใหญ่แต่ความเชื่อมโยงไม่ชัดเจน
ทั้งนี้ " ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า ประเด็นดังกล่าวเกิดจากการที่ประเทศไทยเตรียมฉีดวัคซีนโควิดให้กับกลุ่มเด็ก โดยมีวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา เป็นวัคซีนหลักที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียบร้อยแล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส โซึ่งจะเริ่มทยอยเข้าไทยประมาณไตรมาส 4 ของปี นี้และนักเรียนตั้งแต่อายุ 12-17 ปี ขึ้นไปจะเป็นกลุ่มแรกที่จะได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่ สธ. จัดซื้อเข้ามา
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับการฉีดวัคไฟเซอร์ให้เด็กดูเหมือนจะยังสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้ปกครอง เพราะวัคซีนชนิด mRNA นั้น แม้ว่าจะประสิทธิภาพต่อสู้กับโควิดกลายพันธุ์ได้สูงกว่าวัคซีนชนิดเชื้อตาย แต่ก็ยังมีผลข้างเคียงไม่น้อยเช่นกัน การฉีดวัคซีนเด็กนั้น แน่นอนว่าหลายประเทศมีการใช้วัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนหลักสำหรับฉีดให้เด็ก แต่ประเทศไทยยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ และหลายคงยังกังวลเรื่องผลข้างเคียง
สำหรับผลงวิจัยในต่างประเทศ พบว่า ในกลุ่มเด็กที่ได้รับวัคซีนชนิด mRNA มีความเสี่ยงเล็กน้อยที่จะเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง และมีโอกาสเกิดขึ้นหลังจากที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ไปแล้ว โดยอาการในเบื้องต้นจะเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นแรง ในบางรายที่อาการไม่หนักมากมักจะหายไปเอง
ส่วนในรายที่อาการรุนแรงจะมีการวินิจฉัย และส่งต่อให้อายุรแพทย์โรคหัวใจเพื่อประเมินการทำงานของหัวใจ เพื่อทำการรักษาแบบประคับประคอง โดยการจ่ายยาต้านการอักเสบ (NsAIDs) อัตราการเกิดยาสเตียรอยด์ (Prednisolone) รวมถึงยา Colchicine ผู้ป่วยก็จะหายเป็นปกติได้เกือบทั้งหมด โดยในประเทศไทยมีเด็กชายที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์และเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่ขณะนี้รักษาหายเป็นปกติแล้ว
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาในโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฮ่องกง เสนอให้รัฐบาลฮ่องกง ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กอายุ 12-17 ปี เพียงเข็มเดียวเท่านั้น เพื่อลดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เนื่องจากผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังจากฉีดไฟเซอร์นั้นมีค่อนข้างสูง ดังนั้นเพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากการเกิดภาวะหัวใจอักเสบ ประกอบกับอัตราการแพร่ระบาดในฮ่องกงยังไม่สูงนัก การฉีดวัคซีนเพียงเข็มเดียวให้คนกลุ่มนี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
ก่อนหน้านี้ หมอธีระวัฒน์ ก็เคยออกมาแสดงความเห็นโดยระบุว่า การวัคซีนชนิด mRNA ในเด็กนั้นค่อนข้างมีความเสี่ยงสูงมากกว่าการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย ม้ว่าจะมีรายงานออกมาอัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมีน้อยมาก แต่การฉีดวัคซีนในเด็ก ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก
และแม้ว่าอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจะสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็มักจะส่งผลระยะยาวต่อการใช้ชีวิตเช่นกัน ดังนั้นวัคซีนที่เหมาะกับกับเด็กมากกว่าจึงควรเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย แต่หากยังกังวลว่าการฉีดวัคซีนเชื้อตายทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นช้า และลงเร็ว เราสามารถกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนชนิดอื่น ๆ ผ่านการฉีดเข้าใต้ชั้นผิวหนัง ก็จะได้ผลดีและปลอดภัยกับเด็กมากกว่า