รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า
โควิด-19 วัคซีน subunit วัคซีน
หมอยงระบุว่า หลายเดือนที่ผ่านมาทุกคนกล่าวถึงวัคซีนซับยูนิตกันมาก จึงอยากจะขยายความเข้าใจ
วัคซีนsubunit จะเป็นกระบวนการสร้างโปรตีนโดยวิศวกรรมพันธุศาสตร์ แบคทีเรีย ยีสต์ หรือเซลล์ สร้างโปรตีนตามพันธุกรรมที่กำหนด
ตัวอย่างวัคซีนที่ใช้กันมาก คือวัคซีนตับอักเสบบีใช้กันมากกว่า 30 ปีมีประสิทธิภาพสูง แต่พอมาถึงตับอักเสบเอ ทำไม่สำเร็จ องค์ประกอบโปรตีนที่ซับซ้อนกว่า
วัคซีนโควิด ชนิด subunit จะเป็นโปรตีนส่วน สไปรท์ที่มีขนาดใหญ่มาก ใหญ่กว่าตับอักเสบบี หลายเท่า และส่วนกระตุ้นภูมิต้านทานยังมี glycan องค์ประกอบหมู่น้ำตาล ทำให้เกิดความซับซ้อน โปรตีนส่วนกระตุ้นภูมิต้านทาน เป็นแบบผุดๆโผล่ๆ
โปรตีนมีขนาดใหญ่ จึงจำเป็นที่จะต้องอาศัย ตัวเร่งกระตุ้นภูมิต้านทานที่แรง (strong adjuvant) เพื่อได้ภูมิต้านทานที่สูง การมีหมู่น้ำตาลเป็นองค์ประกอบในโปรตีน การใช้สิ่งมีชีวิตจำพวก จุลชีพสร้างโปรตีนให้เหมือน ได้ลำบากขึ้น
เรารู้จักวัคซีน Novavax ได้ผ่านการทดลองระยะที่ 3 มาตั้งแต่ต้นปี วัคซีนนี้ใช้ตัวเร่งกระตุ้นภูมิต้านทานคือ Matrix M adjuvant ที่สกัดจากเปลือกไม้ ต้น molina เป็นไม้พื้นเมืองของชิลี ยังไม่เคยใช้ในวัคซีนใดมาก่อน วัคซีนนี้ยังไม่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา และองค์การอนามัยโลก โอกาสที่ไทยจะใช้คงต้องรออีกนาน
วัคซีนsubunit ที่มีการใช้ในมนุษย์แล้ว เป็นของจีน (Anhui Zhifei Longcome) ใช้ alum เป็นตัวเสริมกระตุ้นภูมิต้านทาน กระตุ้นได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงต้องให้ 3 เข็ม แบบไวรัสตับอักเสบบี คือ 0 1 และ 6 เดือน
วัคซีนของคิวบาที่ชื่อว่า Abdala ใช้ในประเทศคิวบา เวียดนามและเวเนซุเอลา นอกจากนี้ยังมีวัคซีนที่ผลิตที่ไต้หวัน อย่างที่ได้เห็นข่าวกัน ส่วนวัคซีนของทางตะวันตก Sanofi-GSK บริษัทยักษ์ใหญ่อยู่ในระหว่างการศึกษา
ใครที่กำลังรอ subunit วัคซีน คงไม่ต้องรอ ต้องให้ทางอเมริกา FDA และองค์การอนามัยโลกรับรอง ก่อน
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.- ต.ค. 64 มีการฉีดสะสมแล้ว 74,694,431 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 41,924,824 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 30,409,329 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 2,360,278 ราย