ลุ้น คลายล็อกดาวน์เพิ่มเติม-ปรับเคอร์ฟิว ศบค.ชุดใหญ่เคาะศุกร์ 12 พ.ย.นี้ 

10 พ.ย. 2564 | 08:50 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2564 | 16:37 น.

จับตาการประชุมศบค.ชุดใหญ่วันศุกร์ที่ 12 พ.ย.นี้ ลุ้นออกมาตรการคลายล็อกดาวน์เพิ่มเติม หรือจะมีการปรับประกาศเคอร์ฟิว หรือไม่ เนื่องจากจะครบกำหนด 15 พ.ย. ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ฐานเศรษฐกิจ เกาะติดมาตรการคลายล็อกดาวน์ ทั่วประเทศ และประกาศเคอร์ฟิว หรือ การห้ามออกนอกเคหสถาน ใน พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ พื้นที่สีแดงเข้ม 

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า วันศุกร์ที่ 12 พ.ย. 64 จะมีการประชุมศบค.ชุดใหญ่ โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ศบค.เป็นประธานการประชุม 

รายงานข่าวระบุว่า วาระในการประชุมจะหารือในเรื่องของการประเมินสถานการณ์โควิด ที่อาจจะมีมาตรการคลายล็อกดาวน์เพิ่มเติม รวมทั้งหารือถึงการปรับมาตรการประกาศเคอร์ฟิวด้วย เพราะจากราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2564 ระบุใน “ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๓๗)” 

ที่กำหนดมาตรการ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ในการห้ามออกนอกเคหสถาน หรือ เคอร์ฟิว ระหว่างเวลา 23.00 ถึง 03.00น. ของวันรุ่งขึ้น โดยใช้บังคับต่อเนื่องไปสําหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดทุกจังหวัด เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 15 วัน จนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ซึ่ง พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ในปัจจุบันที่มีผลตั้งแต่ 1 พ.ย. 2564 มี 7 จังหวัด ได้แก่  

  1. จังหวัดจันทบุรี
  2. จังหวัดตาก
  3. จังหวัดนครศรีธรรมราช
  4. จังหวัดนราธิวาส
  5. จังหวัดปัตตานี
  6. จังหวัดยะลา
  7. จังหวัดสงขลา

ขณะที่ วันที่ 10 พ.ย. 64 พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. แถลงตอนหนึ่งถึงความชัดเจนการจัดกิจกรรมทางประเพณี เช่น งานเทศกาลลอยกระทง ว่า มติที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ล่าสุด ให้จัดเทศกาลลอยกระทงตามประเพณีได้ ทั้งในพื้นที่สีแดงเข้ม สีแดง สีส้ม สีเหลือง สีเขียว โดยแบ่งเป็น2กลุ่ม คือ 

  • การจัดงานขนาดเล็กในระดับบุคคล หรือครอบครัวสามารถทำได้ ภายใต้มาตรการครอบจักรวาลป้องกันโควิดของกระทรวงสาธารณสุข 
  • การจัดงานขนาดใหญ่ หรืออีเวนท์ เช่น งานลอยกระทงที่ จ.สุโขทัย เทศกาลโคมลอยยี่เป็ง จ.เชียงใหม่ ซึ่งต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนั้น ๆหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจะเข้ามากำกับดูแลการจัดงานในภาพรวมการจัดงาน ทั้งการอนุญาตและการดำเนินงานให้ยึดแนวทางและมาตรการที่กระทรวงวัฒนธรรมกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกัน 

พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษก ศบค.

“อย่างไรก็ตามวันที่ 12 พ.ย.นี้ นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานประชุมศบค.ชุดใหญ่ เพื่อติดตามมาตรการที่ออกไปครบ2สัปดาห์ จึงขอให้ประชาชนติดตามข้อสรุปและมติที่ประชุมจากโฆษกศบค.”พญ.สุมนี กล่าว


พญ.สุมนี กล่าวถึงสถานการณ์ประจำวันที่ 10 พ.ย. 64 ว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 10 พ.ย. ได้แก่

  1. กทม. 864 ราย
  2. สงขลา 479 ราย
  3. เชียงใหม่ 380 ราย
  4. ปัตตานี 356 ราย
  5. สมุทรปราการ 233 ราย
  6. นครศรีธรรมราช 224 ราย
  7. ชลบุรี 203 ราย ยะลา 202 ราย
  8. นราธิวาส 192 ราย
  9. สุราษฎร์ธานี 183 ราย

ลุ้น คลายล็อกดาวน์เพิ่มเติม-ปรับเคอร์ฟิว ศบค.ชุดใหญ่เคาะศุกร์ 12 พ.ย.นี้ 

ในส่วนคลัสเตอร์ใหม่ในโรงงานและสถานประกอบการพบในหลายจังหวัด ประกอบด้วย กทม. เพชรบุรี ปราจีนบุรี ราชบุรี เชียงใหม่ สระแก้ว และสุราษฎร์ธานี ขณะที่คลัสเตอร์ตลาดพบที่ กทม. เชียงใหม่ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สระแก้ว กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา สุรินทร์ นครสวรรค์ ขอนแก่น

ส่วนคลัสเตอร์พิธีกรรมทางศาสนา ทั้งงานบวชและทอดกฐิน คือ ที่ จ.ยโสธร ร้อยเอ็ด

คลัสเตอร์งานศพพบที่ จ.พะเยา สระแก้ว เชียงใหม่ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี

คลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้างพบที่ จ.เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี ลำพูน อุทัยธานี ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี

คลัสเตอร์เรือนจำพบที่ จ.นครราชสีมา กทม. ศรีสะเกษ เชียงใหม่ สุพรรณบุรี

ลุ้น คลายล็อกดาวน์เพิ่มเติม-ปรับเคอร์ฟิว ศบค.ชุดใหญ่เคาะศุกร์ 12 พ.ย.นี้ 

สำหรับสถานการณ์การระบาดของไทย ณ วันที่ 10 พ.ย. 64 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,978 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,624 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6,387 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 237 ราย มาจากเรือนจำ 346 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 8 ราย

หายป่วยเพิ่มขึ้น 7,697 ราย อยู่ระหว่างรักษา 96,463 ราย อาการหนัก 1,877 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 423 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 62 ราย เป็นชาย 29 ราย หญิง 33 ราย

เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 45 ราย มีโรคเรื้อรัง 11 ราย มีเด็กเสียชีวิต 2 ราย รายแรก อายุ 9 ปี อยู่ที่ จ.สงขลา และรายที่สอง อายุ 13 ปี อยู่ที่ จ.ตาก ซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีนทั้งคู่

พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. สงขลา นครศรีธรรมราช ราชบุรี จังหวัดละ 5 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,989,473 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,873,184 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 19,826 ราย

ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 9 พ.ย. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 792,255 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ทั้งสิ้น 81,761,062 โดส ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 251,556,304 ราย เสียชีวิตสะสม 5,079,766 ราย 

พญ.สุมณี กล่าวว่า สำหรับจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศทางอากาศผ่านสนามบินต่างๆ ในวันที่ 9 พ.ย. มีจำนวน 2,779 ราย ขณะที่ยอดรวมตั้งแต่วันที่ 1-9 พ.ย. มีทั้งสิ้น 28,021 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อ 29 ราย หรือคิดเป็น 0.10% นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจจากต่างประเทศคือ สิงคโปร์ ได้มีการยกเลิกการรักษาให้ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เว้นแต่บุคคลนั้นไม่สามารถฉีดวัคซีนได้